PwC ชี้ผู้นำรุ่นใหม่พร้อมเปลี่ยนธุรกิจครอบครัวสู่ดิจิทัล แต่ช่องว่างระหว่างวัยยังเป็นปัญหาใหญ่

ข่าวเทคโนโลยี Thursday December 14, 2017 11:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--PwC ประเทศไทย PwC เผยผู้บริหารธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ทั่วโลกเชื่อกลยุทธ์ที่สอดรับกับยุคดิจิทัลจะนำพากิจการสู่ความสำเร็จ แต่ช่องว่างระหว่างวัยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคิดเห็นที่แตกต่างกันในการลงทุนด้านเทคโนโลยี ยังเป็นปัญหาใหญ่ของผู้บริหารทั้งสองรุ่น ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการประยุกต์ใช้ดิจิทัลและนวัตกรรมที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการเจริญเติบโตขององค์กร ด้านทายาทผู้นำรุ่นใหม่ของไทยก็ประสบปัญหาในการเปลี่ยนถ่ายธุรกิจสู่ดิจิทัลเช่นกันหลังเห็นต่างกับผู้นำรุ่นพ่อ-แม่ เผยแนวโน้มส่วนใหญ่ผันตัวไปเป็นผู้ประกอบการธุรกิจของตนเองมากขึ้น นาย นิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย หุ้นส่วนสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน Same passion, different paths: How the next generation of family business leaders are making their mark ที่ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกทายาทกิจการรุ่นใหม่จำนวน 35 ราย จาก 21 ประเทศ อีกทั้งทำการสำรวจความคิดเห็นทายาทรุ่นใหม่ในรูปแบบอื่นๆ อีกกว่า 100 รายว่า ช่องว่างระหว่างวัย และการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรยังคงเป็นปัญหาที่ผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่การเปลี่ยนถ่ายธุรกิจเข้าสู่ดิจิทัลได้กลายเป็นความท้าทายที่พวกเขาต้องเร่งทำความเข้าใจกับผู้นำรุ่นพ่อ-แม่ เนื่องจากมุมมองในเรื่องของความคุ้มค่าของเงินลงทุน รวมทั้งประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจของผู้นำแต่ละรุ่นนั้นยังคงมีความแตกต่างกัน รายงานของ PwC ระบุว่า ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของการทำธุรกิจในโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ดิจิทัลกลายเป็นความท้าทายที่องค์กรต่างๆ รวมทั้ง ธุรกิจครอบครัวต้องตระหนักถึง ซึ่งสะท้อนได้จาก 75% ของทายาทผู้นำรุ่นใหม่ที่ถูกสำรวจเชื่อว่า การมีกลยุทธ์ที่เหมาะสมต่อการทำธุรกิจในยุคดิจิทัลถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และในฐานะที่ผู้บริหารรุ่นนี้เป็นกลุ่มคนที่เติบโตในโลกของเทคโนโลยีและมีความคุ้นเคยกับการใช้ดิจิทัล (Digital natives) จึงรู้สึกได้ถึงความสะดวกสบายของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ และเห็นถึงศักยภาพที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงขององค์กร แต่แม้กระนั้น ก็มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 7% เท่านั้นที่เชื่อว่า ในปัจจุบันกิจการครอบครัวของตนเองกำลังดำเนินธุรกิจบนแนวทางที่สอดรับกับโลกดิจิทัลดังกล่าว ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญอาจเป็นเพราะระดับของการเปลี่ยนถ่ายธุรกิจ และขนาดของเงินลงทุนที่ทำให้ผู้บริหารรุ่นเก่าหลายรายไม่กล้าที่จะผูกมัดตัวเองในประเด็นนี้ โดย 36% ของทายาทธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่แสดงความอึดอัดที่ผู้บริหารพ่อ-แม่ไม่พยายามเข้าใจถึงศักยภาพของดิจิทัลและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นความล้าหลังของเทคโนโลยี ในขณะเดียวกัน ทายาทของผู้นำธุรกิจครอบครัวเหล่านี้ยังมองว่า นวัตกรรมกลายเป็นองค์ประกอบหลักของการดำเนินธุรกิจในโลกปัจจุบัน โดย 82% มองว่า นวัตกรรมมีความสำคัญมากต่อความสำเร็จของธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ก็มีทายาทกิจการรุ่นใหม่เพียง 15% ที่บอกว่า เห็นการประยุกต์ใช้นวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องภายในองค์กรของตน ด้าน นาย เดวิด วิลส์ หัวหน้าสายงานผู้ประกอบการและธุรกิจเอกชน บริษัท PwC โกลบอล กล่าวว่า "รายงานของเราแสดงให้เห็นว่า "ดิจิทัล" ถือเป็นหนึ่งประเด็นสำคัญ ซึ่งหากมีการบริหารจัดการปัญหาช่องว่างระหว่างวัยดังที่กล่าวมา จะสามารถเป็นจุดเปลี่ยนที่นำธุรกิจครอบครัวไปสู่ความสำเร็จได้ ต้องยอมรับว่าในขณะที่ทายาทรุ่นใหม่กำลังตื่นเต้นกับความคิดและการนำดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับกิจการของครอบครัว ผู้บริหารรุ่นปัจจุบันกลับไม่กล้าที่จะยอมรับ และปรับตัวกับกระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว" 4 เส้นทางของทายาทธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ นอกจากนี้ รายงานของ PwC ยังได้กำหนดลักษณะของทายาทธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ออกเป็น 4 แบบ ประกอบด้วย ผู้ดูแล ผู้เปลี่ยนถ่าย ผู้ประกอบการภายใน และ ผู้ประกอบการ ทั้งนี้ ทายาทกิจการรุ่นใหม่บางรายอาจเลือกเส้นทางในการดำเนินกิจการของครอบครัวมากกว่า 1 ลักษณะที่กล่าวมา โดยพิจารณาจากการบริหารจัดการความท้าทาย ความเสี่ยงที่เผชิญ พร้อมทั้งโอกาสในการเติบโตขององค์กร ดังนี้ ผู้ดูแล (Stewards) – ทายาทกิจการรุ่นใหม่ที่มุ่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับตัวธุรกิจและปกป้องผลกำไรโดยยึดธุรกิจดั้งเดิมเป็นหลัก ผู้เปลี่ยนถ่าย (Transformers) – ทายาทกิจการรุ่นใหม่ที่กล้าเสี่ยงในการเป็นผู้ผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญให้กับกิจการของครอบครัวภายใต้ขอบเขตและการสนับสนุนที่มี ผู้ประกอบการภายใน (Intrapreneurs) – การประกอบกิจการใหม่ของทายาทผู้นำธุรกิจครอบครัว โดยจัดตั้งเป็นหน่วยธุรกิจเพื่อดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจภายใต้องค์กรเดิมของครอบครัว และเพื่อเป็นโอกาสให้ทายาทรุ่นใหม่ได้เป็นผู้ประกอบการภายใต้กิจการครอบครัวของตัวเอง ผู้ประกอบการ (Entrepreneurs) – ทายาทกิจการรุ่นใหม่ที่เลือกจะตามหาฝันของตัวเอง โดยแยกตัวออกไปตั้งธุรกิจของตัวเองไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจครอบครัว และมีหลายรายที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมที่แตกต่างจากกิจการของครอบครัวไปโดยสิ้นเชิง "ทายาทกิจการรุ่นใหม่ในปัจจุบันได้พยายามสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจของครอบครัว หรือแม้กระทั่งธุรกิจของตนเอง และเดินไปบนหนทางของความสำเร็จที่มีหลากหลายรูปแบบ และมีเส้นทางแตกต่างกันไป" นาย วิลส์ กล่าว "5Cs" กลยุทธ์สู่ความสำเร็จของธุรกิจครอบครัว ทั้งนี้ ทายาทรุ่นใหม่ที่จะสามารถเป็นผู้นำพากิจการของครอบครัวให้ดำเนินไปบนเส้นทางที่แตกต่างได้ต้องอาศัยปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจครอบครัวประสบความสำเร็จด้วยกัน 5 ประการ ได้แก่ วัฒนธรรม (Culture) – ธุรกิจครอบครัวควรส่งเสริมวัฒนธรรมของการทำให้องค์กรเป็นสถานที่ที่ทายาทรุ่นใหม่สามารถเรียนรู้และเติบโตได้อย่างปลอดภัย การสื่อสาร (Communication) – การสื่อสารสองทางจะนำไปสู่การสร้างความผูกพันที่แท้จริงบนพื้นฐานของความเคารพและเชื่อใจระหว่างเจ้าของกิจการครอบครัวรุ่นใหม่และรุ่นปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้เกิดการยอมรับในความคิดเห็นซึ่งกันและกัน รวมทั้งสร้างประสบการณ์ที่มีคุณค่าและเปิดรับมุมมองใหม่ๆ ความชัดเจน (Clarity) – การมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนและการแบ่งขอบเขตของหน้าที่และความรับผิดชอบที่ได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้าเป็นสิ่งที่สำคัญ ทั้งนี้เพราะการบริหารความสัมพันธ์และจัดการอารมณ์ของสมาชิกธุรกิจครอบครัวถือเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนและเป็นหัวใจของการบริหารกิจการครอบครัว ความน่าเชื่อถือ (Credibility) – ในฐานะ "ลูกของนายจ้าง" ทายาทกิจการรุ่นใหม่ยิ่งต้องพิสูจน์ความสามารถของตัวเองผ่านการทำงานให้เป็นที่ยอมรับนับถือจากเพื่อนร่วมงาน และควรหาประสบการณ์ทำงานจากภายนอกก่อนเข้ามารับหน้าที่ทำงานกิจการของครอบครัว ความมุ่งมั่น (Commitment) – ธุรกิจครอบครัวต้องมีความมุ่งมั่นในระยะยาวในการพัฒนาทายาทรุ่นใหม่ ขณะเดียวกันทายาทรุ่นใหม่ก็ต้องพร้อมที่จะทุ่มเทเวลาในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองให้เกิดผลสำเร็จด้วยเช่นกัน "ความสำเร็จที่ยั่งยืนในโลกของธุรกิจครอบครัวต้องอาศัยทั้งการให้และการรับ ทายาทรุ่นใหม่และผู้บริหารรุ่นปัจจุบันต้องหาจุดสมดุลระหว่างเป้าหมายของกิจการกับความต้องการของครอบครัวให้ได้ ซึ่งหากขาดปัจจัยใด ปัจจัยหนึ่งไป หรือ เกิดการบริหารที่ผิดพลาดจะทำให้กระบวนการของการสืบต่อกิจการกลับกลายเป็นความเสี่ยงมากกว่าโอกาสทางธุรกิจ" นาย ซิว ควน อึ้ง หัวหน้าสายงานผู้ประกอบการและธุรกิจเอกชนประจำเอเชียแปซิฟิก กล่าว นาย นิพันธ์ กล่าวต่อว่า "ปัจจุบันธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยกำลังประสบปัญหาช่องว่างระหว่างวัยและการเปลี่ยนถ่ายธุรกิจเข้าสู่ดิจิทัล เช่นเดียวกับธุรกิจครอบครัวทั่วโลก โดยการนำดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจถือเป็นสิ่งที่ทายาทผู้นำรุ่นใหม่ของไทยตระหนักถึงความสำคัญเป็นอย่างดี แต่ปัญหาคือผู้นำรุ่นปัจจุบันกลับมองไม่เห็นศักยภาพของดิจิทัล และไม่เชื่อว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจครอบครัวได้ ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นกระแสของทายาทผู้นำรุ่นใหม่ที่ผันตัวเองไปเป็นผู้ประกอบการ โดยแยกออกมาตั้งธุรกิจใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจครอบครัวมากขึ้น และมีการนำดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจใหม่ของพวกเค้าในมิติต่างๆ เพื่อเป็นการพิสูจน์ให้ครอบครัวเห็นว่า ดิจทัลนั้นสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจได้จริง โดยมองว่า สุดท้ายแนวโน้มทายาทผู้นำรุ่นใหม่ที่แยกตัวออกไปเป็นผู้ประกอบการนั้น หากธุรกิจใหม่ที่สร้างขึ้น ไม่สามารถเติบโตได้อย่างโดดเด่นหรือมีขนาดใหญ่เท่ากับกิจการของครอบครัวของตัวเองได้ ท้ายที่สุดก็อาจรวมธุรกิจของตนเองเข้ากับธุรกิจครอบครัวเดิม "ทางออกหนึ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจครอบครัวของไทยสามารถเปลี่ยนถ่ายองค์กรไปสู่ดิจิทัลได้คือ การมีโครงสร้างธุรกิจ กลยุทธ์และการแบ่งขอบเขตหน้าที่ ความรับผิดชอบของคนในครอบครัวอย่างชัดเจน รวมทั้ง มีการวางระบบบริหารธุรกิจครอบครัวที่เหมาะสม ผ่านการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งและความคิดเห็นที่แตกต่างกันภายในครอบครัว" นายนิพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย
แท็ก ครอบครัว   PwC  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ