"TOP 10 ผลงาน“สนพ.”ด้านนโยบายพลังงานปี 2560"

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 3, 2018 12:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ม.ค.--สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน "TOP 10 ผลงาน"สนพ."ด้านนโยบายพลังงานปี 2560" โดย ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และโฆษกกระทรวงพลังงาน ในช่วงปี 2560 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน มีผลงานด้านพลังงานสำคัญซึ่งประมวลเป็น 10 เรื่องเด่นที่น่าสนใจ ดังนี้ 1) เปิดเสรีกิจการ LPG จนสำเร็จ การเปิดเสรีธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เต็มรูปแบบ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกของไทยที่ดำเนินนโยบายเปิดเสรีนำไปสู่การลอยตัวราคา สะท้อนต้นทุนตลาดโลกแท้จริงครบทั้งหมด คือ น้ำมันเชื้อเพลิง NGV และ LPG โดยการเปิดเสรี LPG เต็มรูปแบบนี้ได้ยกเลิกการกำหนดราคาโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมันและโรงอะโรเมติกส์ ยกเลิกการประกาศราคาขายส่ง ณ คลังก๊าซ เพื่อให้ตลาดก๊าซ LPG มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ โดย สนพ. ยังคงมีกลไกติดตามและประกาศราคาอ้างอิงเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำกับดูแลราคาขายปลีก LPG ในประเทศ ปัจจุบัน ราคาขายปลีก LPG ในประเทศเป็นไปตามกลไกตลาดเหมือนราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่ง สนพ. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ทำหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหวราคาและแนะนำราคาอ้างอิงเป็นรายเดือน 2) ริเริ่มการเปิดเสรีกิจการก๊าซธรรมชาติ สนพ.ได้ริเริ่มวางแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติทั้งระบบ ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหาและการให้บริการ ทำให้ผู้บริโภคได้รับบริการที่ดีมีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม โดยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อ 31 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบผ่านหลักการและแนวทางการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ โดยให้ดำเนินโครงการนำร่องเพื่อทดสอบระบบต่างๆ ในระยะที่ 1 มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมเป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รายใหม่ จากเดิมที่มี ปตท. แต่เพียงรายเดียว ปัจจุบัน กฟผ. ได้รับอนุมัติสิทธิ์ใช้คลัง LNG ที่ 1 ส่วนขยาย 1.5 ล้านตันต่อปี ที่มาบตาพุด ของ ปตท. ระยะเวลา 38 ปี (ตั้งแต่ปี 2562 - 2600) 3) ผลักดัน LTM วางรากฐานสู่วิสัยทัศน์สู่ ASEAN Power Grid การผลักดันร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปประเทศมาเลเซีย ผ่านระบบส่งไฟฟ้าของไทย (LTM-PIP) จนประสบความสำเร็จผ่านความเห็นชอบ กพช. เมื่อ 31 กรกฎาคม 2560 ถือเป็นการผลักดันโครงการจากวิสัยทัศน์สู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายให้เกิดการขายไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปยังมาเลเซีย ผ่านระบบส่งของไทย ในปริมาณไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ อายุสัญญา 2 ปี นับจาก 1 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นการดำเนินภายใต้โครงการเชื่อมโยงพลังงานไฟฟ้าระหว่าง 4 ประเทศ ได้แก่ สปป. ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ (LTMS-PIP) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงระบบโครงข่ายไฟฟ้าในประเทศสมาชิกอาเซียนตามแผน ASEAN Power Grid (APG) ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ซึ่งแนวคิดของ APG เป็นการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าในอาเซียน ร่วมกันจัดสรร และใช้ทรัพยากรพลังงานให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าที่สุด ส่งเสริมแนวคิดการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพเพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงานและเศรษฐกิจ ผลักดันให้อาเซียนพัฒนาทัดเทียมภูมิภาคอื่นของโลก 4) พัฒนานโยบาย SPP Hybrid Firm จนถึงขั้นเปิดประมูล การริเริ่มนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก แบบ SPP Hybrid Firm โดยเปิดให้ผลิตไฟฟ้าโดยผสมผสานเชื้อเพลิงได้มากกว่า 1 ประเภท จากพลังงานจากธรรมชาติ เช่น แสงอาทิตย์ ลม กับพลังงานชีวภาพ เช่น ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ หรือใช้ระบบ ESS ร่วมได้ เพื่อเป็นการช่วยลดความผันผวนของพลังงานทดแทน สร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้า โดยสามารถดำเนินการตามนโยบายจนถึงปัจจุบันทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้คัดเลือกได้ผู้เสนอขายไฟฟ้าให้กับโครงการลงนามรวม 17 ราย ปริมาณรับซื้อเป็นไปตามเป้าหมาย 300 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 434.60 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายใน 31 ธันวาคม 2564 5) เดินหน้าต้นแบบ "โรงไฟฟ้าประชารัฐ" โครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นนโยบายด้านพลังงานเพื่อสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ชายแดนใต้อย่างยั่งยืน รองรับการจัดตั้ง "โครงการพาคนกลับบ้าน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า" และ "โครงการรองรับมวลชน หมู่บ้านสันติสุข" แก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ด้วยการสร้างงาน เพิ่มรายได้ ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบกระจายศูนย์ ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงในชุมชนอย่างยั่งยืน โดยที่ประชุม กพช. เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2560 กำหนดให้มี 2 แผนงาน คือแผนงานโครงการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลขนาดเล็ก 3 แห่ง ในพื้นที่ อ.เมือง จ.นราธิวาส อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และ อ.บันนังสตา จ.ยะลา กำลังการผลิตติดตั้งรวม 18 เมกะวัตต์ จะจ่ายไฟเข้าระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวม 12 เมกะวัตต์ ใช้เชื้อเพลิงเศษไม้ยางพาราเป็นเชื้อเพลิงหลัก และแผนงานโครงการโรงไฟฟ้าชีวภาพ 30 แห่ง ใน จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี และ จ.ยะลา กำลังการผลิตติดตั้งรวม 35 เมกะวัตต์ จ่ายไฟเข้าระบบ กฟภ. รวม 30 เมกะวัตต์ ใช้หญ้าเนเปียร์เป็นเชื้อเพลิงหลัก โดยทั้ง 2 แผนงานนี้ ทุกปีจะมีจัดสรร 10% ของกำไรสุทธิ กลับคืนให้แก่ชุมชนในพื้นที่ ปัจจุบัน กฟภ. จัดตั้งบริษัทในเครือ 3 บริษัท เพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในส่วนของแผนงานผลิตไฟฟ้าชุมชนจากชีวมวล 6) สร้างกระแส Smart City ผ่านการประกวดแบบ พร้อมเดินหน้า 11 เมืองต้นแบบ ตามนโยบายปฏิรูปประเทศในรูปแบบ Sandbox โครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities-Clean Energy) เป็นหนึ่งในโครงการด้าน Energy 4.0 ที่จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัย องค์กรเอกชน ร่วมโครงการออกแบบและพัฒนาเมืองที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนารูปแบบและโครงสร้างของเมือง การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานให้งบประมาณสนับสนุนสำหรับการออกแบบ ผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ ได้แนวทางการพัฒนาเมืองของชุมชนที่มีผลต่อการลดความต้องการพลังงานและการใช้พลังงานสูงสุด ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อรองรับการเติบโตของเมือง และเกิดการเรียนรู้ด้านพลังงานสู่ชุมชนผ่านกระบวนการทางความคิดสร้างสรรค์ ปัจจุบันมีโครงการผ่านการคัดเลือกรวม 11 โครงการ ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ ใช้ในการดำเนินการขั้นต่อไป รายละไม่เกิน 10 ล้านบาท เพื่อจัดทำโมเดลธุรกิจ (Business Model) และนำไปสู่การจัดหาผู้ร่วมทุนและการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เป็นรูปธรรมต่อไป ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนตามกรอบการดำเนินงานด้านการพัฒนาและการรังสรรค์นวัตกรรมในรูปแบบใหม่ (Sandbox) ที่กำหนดโดยคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบาย THAILAND 4.0 7) อัดฉีดงบวิจัย 1,000 ล้านบาท ทดลองทดสอบ Energy Storage Systems เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Systems : ESS) เป็นหนึ่งในโครงการขับเคลื่อนตามนโยบาย Energy 4.0 ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานในระบบผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาพลังงานทดแทนให้มีเสถียรภาพ ถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าตามแผน PDP 2015 ปัจจุบันกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้สนับสนุนงบวิจัยไปแล้ว 2 รอบ รวมกว่า 1,000 ล้านบาทในการดำเนินโครงการสนับสนุนการศึกษา วิจัย พัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน โดยมอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นผู้ดำเนินโครงการ ปัจจุบันโครงการทั้งหมดอยู่ระหว่างการดำเนินงาน 8) จุดประกาย รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า - สร้างฐานการผลิตให้ SMEs ไทย โครงการสนับสนุนการเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กเป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า เป็นหนึ่งในนโยบาย Energy 4.0 ที่สนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) เทรนด์ทางเลือกใหม่ของการใช้พลังงานที่ลดการพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิง และส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายในการเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กเก่าที่ใช้น้ำมันและก๊าซ LPG ให้เป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ภายใน 5 ปี เพื่อลดการใช้น้ำมันและลดการปล่อยมลพิษ นำร่อง 100 คันแรกภายในปี 2561 และทยอยเปลี่ยนให้ครบ 22,000 คันทั่วประเทศภายใน 5 ปี ตั้งเป้าหมายว่าการเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กเก่าเป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าครบ 100 คัน จะเกิดผลประหยัดพลังงานรวม 0.1 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) และเมื่อรวมถึงสิ้นแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP 2015) ในปี 2579 จะประหยัดพลังงานได้ถึง 1.75 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) หากเปลี่ยนเป็นรถตุ๊กตุ๊กเก่า 22,000 คัน เป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าทั้งหมด จะช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 20 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe)/ปี ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญช่วยผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าโดย SMEs ไทยอีกด้วย 9) จัดตั้ง ส.กทอ ปฏิรูปกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ปี 2560 เป็นปีแจ้งเกิดสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์กองทุนฯ ในการเป็นกองทุนชั้นนำของรัฐที่มุ่งเน้นให้เกิดการผลิตและการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยังประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศอย่างยั่งยืน โดย ส.กทอ. จะปฏิบัติตามภารกิจของกองทุนฯ คือการบริหารจัดการเงินกองทุนให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เกิดการศึกษา วิจัย พัฒนา สาธิต และทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพสอดคล้องยุทธศาสตร์พลังงานประเทศ และมุ่งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการผลิตและการใช้พลังงาน ปัจจุบัน ส.กทอ. อยู่ระหว่างการเตรียมจัดตั้งและถ่ายโอนภารกิจจาก สนพ. และ พพ.โดยในขั้นต้นได้ให้ ส.กทอ.ปฏิบัติภารกิจงานเลขานุการของคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนฯ และงานด้านการเงินตามที่ได้รับมอบหมายก่อน โดยดำเนินการปฏิบัติตามคู่มือการปฏิบัติงานกองทุนฯ สอดคล้องกับระเบียบคณะกรรมการกองทุนฯ ปี 2560 ต่อไป 10) ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีพลังงานเอเชีย ครั้งที่ 7 (AMER 7th) การประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีพลังงานเอเชีย (ASIAN Ministerial Energy Roundtable : AMER) ครั้งที่ 7 เมื่อ 1-3 พ.ย. 2560 ที่กระทรวงงานไทยเป็นเจ้าภาพ เพื่อเป็นเวทีชาติสมาชิก 36 ประเทศผู้ซื้อและผู้ขายพลังงาน และ 20 องค์กรชั้นนำด้านพลังงานระหว่างประเทศในการระดมวิสัยทัศน์รัฐมนตรีพลังงานเอเชียในยุคเปลี่ยนผ่านตลาดพลังงานโลกสู่ทางปฏิบัติ โดยประเด็นหารือสำคัญ 3 หัวข้อใหญ่คือ ทิศทางตลาดน้ำมัน ทิศทางตลาดก๊าซธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้านพลังงาน (Disruptive Technology) ซึ่งการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ด้านกิจการพลังงานของไทยให้ปรากฏต่อสายตาชาวต่างประเทศ เห็นถึงศักยภาพของไทยในฐานะผู้นำในอาเซียน ด้านพลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงาน รวมทั้งที่ผ่านมาประเทศไทยมียุทธศาสตร์ และเป้าหมายด้านการวางแผนพลังงานที่ชัดเจน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ