เกษตรฯ เฝ้าระวังด้วงแรดระบาดมะพร้าว-ปาล์มน้ำมัน

ข่าวทั่วไป Tuesday January 16, 2018 12:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรเตือนเกษตรกรสวนมะพร้าวและปาล์มน้ำมันทั่วประเทศ เฝ้าระวังด้วงแรดระบาด แนะใช้ชีววิธีกำจัดแหล่งขยายพันธุ์และสำรวจสวนสม่ำเสมอ นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเตือนเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวและสวนปาล์มน้ำมันทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวและปาล์มน้ำมันที่สำคัญของประเทศ ให้ระวังการระบาดของด้วงแรด เนื่องจากข้อมูลแปลงติดตามสถานการณ์ศัตรูพืชเริ่มพบการเข้าทำลายในหลายพื้นที่ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ดังนั้นหากพบการเข้าทำลายให้เกษตรกรรีบขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ/จังหวัด เพื่อดำเนินการป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง รองอธิบดีฯ กล่าวว่า ด้วงแรดมะพร้าว มี ๒ ชนิด ทั้งเล็กและใหญ่ ซึ่งมีลักษณะและวงจรชีวิตคล้ายคลึงกัน มักวางไข่ในซากพืชเน่าเปื่อย กองปุ๋ยคอก หรือกองมูลสัตว์เก่า เมื่อหนอนเจริญเติบโตเต็มที่จะสร้างรังเป็นโพรงอยู่อาศัย ๕ - ๘ วัน กระทั่งโตเต็มวัยเป็นด้วงแรด จึงเข้าทำลายต้นมะพร้าว โดยบินขึ้นไปกัดเจาะโคนทางใบมะพร้าว หรือปาล์มน้ำมัน ทำให้ทางใบหัก และเจาะทำลายยอดอ่อน ส่งผลให้ทางใบที่เกิดใหม่ไม่สมบูรณ์มีรอยขาดแหว่งเป็นริ้ว ถ้าโดนทำลายมาก ๆ ใบที่เกิดใหม่จะแคระแกรน ทั้งนี้ รอยแผลที่ถูกด้วงแรดกัดเป็นเนื้อเยื่ออ่อน ทำให้ด้วงงวงมะพร้าวเข้ามาวางไข่หรือทางใบเกิดโรคยอดเน่า จนต้นมะพร้าวตายในที่สุด สำหรับวิธีการป้องกันกำจัดด้วงแรดคือ ใช้ชีววิธี โดยนำเชื้อราเขียวเมตตาไรเซียม (Metarhizium anisopliae) อัตรา ๐.๕๐ – ๑ กิโลกรัมต่อปุ๋ย ๑ กอง คลุกในกองปุ๋ยคอกขนาด ๔ ตารางเมตร ลึกประมาณ ๐.๕๐ เมตร ครอบคลุมพื้นที่ขนาด ๕ ไร่ หรือกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด ลงทุนน้อยและสะดวกเพราะอยู่บนพื้นดิน สามารถกำจัดไข่หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย ไม่ให้เพิ่มปริมาณได้ โดยเผา ฝัง หรือเกลี่ยกองซากพืช กองมูลสัตว์ให้กระจายออกด้วยความสูงไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร ถ้าจำเป็นต้องทำกองมูลสัตว์นานกว่า ๒ – ๓ เดือน ควรหมั่นพลิกกลับกองปุ๋ยหมักหรือนำใส่ถุงปุ๋ยมัดปากให้แน่นนำไปเรียงซ้อนกัน นอกจากนี้ การทำความสะอาดบริเวณคอต้น โคนทางใบมะพร้าวหรือปาล์มน้ำมันก็ช่วยป้องกันกำจัดด้วงแรดได้ ซึ่งหากพบรอยแผลเป็นรูให้ใช้เหล็กแหลมแทงหาด้วงแรดเพี่อกำจัดทิ้ง หรือใช้กับดักฟีโรโมนเพื่อล่อจับตัวเต็มวัยมาทำลาย อย่างไรก็ตาม ให้หมั่นสำรวจสวนอยู่สม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ