ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 57-62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 60-65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 12, 2018 15:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--ไทยออยล์ ราคาน้ำมันคาดจะถูกกดดันจากการปรับเพิ่มของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (12 – 16 ก.พ. 61) ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ คาดว่าจะถูกกดดันจากการปรับเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ตามจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ จากความต้องการใช้น้ำมันดิบที่ปรับลดลง ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น จากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะประกาศคว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลา ซึ่งอาจกระทบกับการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลา ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้: - ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเร็วกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับจุดคุ้มทุนเฉลี่ยของการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ของสหรัฐฯ ทำให้ผู้ผลิตปรับเพิ่มแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ รายงานโดย Baker Hughes สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 9 ก.พ. 61 ที่ระดับ 791 แท่น ปรับเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ระดับ 591 แท่น นอกจากนี้ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ได้ปรับคาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 61 ขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นราว 0.97 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สู่ระดับ 10.27 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นปรับเพิ่มขึ้นราว 1.26 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 10.59 ล้านบาร์เรลต่อวัน - ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันดิบเพื่อไปกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปมีแนวโน้มปรับลดลงในช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่น ประกอบกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นราว 1.9 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 420.3 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่สองติดต่อกัน - ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แข็งแกร่งขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า Fed อาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งหมด 3 ครั้ง ซึ่งค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจะส่งผลราคาน้ำมันดิบในสกุลเงินสหรัฐฯ มีราคาแพงขึ้นสำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่น และกระทบต่อความต้องการซื้อสัญญาน้ำมันดิบของนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่น - จับตาความสัมพันธ์ระหว่างเวเนซุเอลาและสหรัฐฯ หลังสหรัฐฯ กำลังพิจารณาคว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลา โดยอาจมีการจำกัดการนำเข้าน้ำมันดิบเวเนซุเอลาสู่สหรัฐฯ และการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปของสหรัฐฯ สู่เวเนซุเอลา เพื่อกดดันประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร ที่ถูกกล่าวขานว่าบริหารประเทศด้วยความไม่ชอบธรรม โดยก่อนหน้านี้ สหรัฐฯได้มีประกาศการคว่ำบาตรทางการเงินต่อเวเนซุเอลา รวมถึงประกาศคว่ำบาตรประธานาธิบดีและเจ้าหน้าที่รัฐบาลบางรายของเวเนซุเอลา เพื่อตอบโต้ชัยชนะในการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 60 ซึ่งมุ่งเน้นแก้ไขกฎหมายหลักที่รัฐบาลจะสามารถยุบสภาที่ฝ่ายค้านครองเสียงข้างมาก นอกจากนี้ การคว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลาคาดว่าจะกระทบต่อปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลา ซึ่งในเดือนม.ค. 61 ยืนอยู่ที่ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปี - ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ และจีดีพีไตรมาส 4/60 ของยูโรโซน สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (5 – 9 ก.พ. 61) ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 6.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 59.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลง 5.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 62.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังถูกกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น ตอบสนองตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้น รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ที่อาจปรับขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบหลังจากที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี ไปเมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ