สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 5-9 ก.พ. 61 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 12-16 ก.พ. 61 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 12, 2018 17:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--ปตท. ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงทุกชนิดโดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 3.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 65.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 3.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 63.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 3.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 61.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 3.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 78.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 3.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 79.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ - นักลงทุนเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงตลาดหุ้น Dow Jones เพราะนักลงทุนเกรงว่าตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและอัตราเงินเฟ้อที่สูง จะสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ 3 ครั้ง ส่งผลให้การไหลเวียนของเงินทุน (Fund Flows) จึงวิ่งออกจากตลาดทุนและสินทรัพย์เสี่ยง อาทิ น้ำมัน มายังเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และสินทรัพย์มั่นคงอื่นๆ อาทิ เงินเยนญี่ปุ่น และเงินสวิสฟรังส์ - Baker Hughes Inc. บริษัทลูกของ GE company รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 ก.พ. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 26 แท่น มาอยู่ที่ 791 แท่น เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3 และเพิ่มขึ้นรายสัปดาห์สูงสุดตั้งแต่เดือน ม.ค. 60 - Energy Information Administration (EIA) ฉบับเดือน ก.พ. 61 ปรับเพิ่มคาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปี พ.ศ. 2561 และในปี พ.ศ. 2562เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 10.59 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 11.18 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ (เพิ่มขึ้นจากประเมินครั้งก่อนเท่ากันปีละ 3.1%) และไตรมาส 4/61 ปริมาณการผลิตจะแตะระดับ 11.04 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเร็วกว่าที่เคยประเมินไว้ถึง 1 ปี สะท้อนผู้ผลิต Shale oil ปรับตัวต่อภาวะราคาน้ำมันได้รวดเร็ว - EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 ก.พ. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 420.3 ล้านบาร์เรลและปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 330,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 10.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 - CFTC รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ก.พ. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 22,127 สัญญา มาอยู่ที่ 509,109 สัญญา ลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 2 - ICE รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ก.พ.61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับ Net Long Position ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3,209 สัญญา มาอยู่ที่ 578,198 สัญญา ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก - บริษัทน้ำมันแห่งชาติ PDVSA ของเวเนซุเอลารายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดิบไปยังสหรัฐฯ เดือน ม.ค. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 29% มาอยู่ที่ 476,000 บาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดตั้งแต่เดือน ม.ค. 60 อนึ่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่าสหรัฐฯ กำลังพิจารณามาตรการคว่ำบาตรเวเนซุเอลาเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มแรงกดดันต่อประธานาธิบดี Maduro ซึ่งกล่าวตอบโต้สหรัฐฯ ว่าการคว่ำบาตรกลุ่ม OPEC ของสหรัฐฯ จะไม่สามารถกดดันอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันของเวเนซุเอลาได้ - EIA Short-Term Energy Outlook ฉบับเดือน ก.พ. 61 ปรับเพิ่มคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันดิบของโลก ปี พ.ศ. 2561 และ พ.ศ. 2562 อยู่ที่ 100.23 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มจากประมาณการณ์ครั้งก่อน 1.73 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และ 101.95 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มจากประมาณการณ์ครั้งก่อน 0.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ตามลำดับ - บริษัท Ineos ผู้ดำเนินการท่อขนส่งน้ำมันดิบ Forties (ปริมาณสูบถ่าย 450,000 บาร์เรลต่อวัน) ซึ่งเป็นท่อขนส่งน้ำมันดิบและก๊าซขนาดใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร รายงานท่อดังกล่าวปิดดำเนินการในวันที่ 7-8 ก.พ. 61 เพราะตรวจพบความเสียหายบริเวณวาล์วควบคุมการขนส่ง - กรมศุลกากรจีนรายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน ม.ค. 61เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 20% แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 9.57 ล้านบาร์เรลต่อวัน แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบ Brent ปิดตลาดวันศุกร์ลดต่ำสุดตั้งแต่ 13 ธ.ค. 60 และราคาน้ำมันดิบ WTI ต่ำสุดตั้งแต่ 22 ธ.ค. 60 เนื่องจากปัจจัยกดดัน อาทิ นักลงทุนกังวลต่อสัญญาณอุปทานจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น โดยจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Oil Rig) เพิ่มขึ้นรายสัปดาห์สูงสุดตั้งแต่ ม.ค. 60 โดยเฉพาะที่แหล่ง Permian ในรัฐ Texas ทางตะวันตก และรัฐ New Mexico ทางตะวันออก อีกทั้ง Reuters คาดการณ์ว่าระบบท่อขนส่ง Forties ในยุโรปที่ทะเลเหนือจะกลับมาดำเนินการได้ตามปกติช่วงสุดสัปดาห์นี้ หลังจากหยุดปฏิบัติการชั่วคราว ตั้งแต่ 30 ม.ค. 61 นอกจากนั้นราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มเทขายทำกำไร ในด้านเศรษฐกิจควรจับตามองอัตราเงินเฟ้อของจีนในเดือน ก.พ. 61 อาจจะเป็นสัญญาณบวกช่วงตรุษจีน และรัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมเสนอชื่อผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan: BOJ) นาย Haruhiko Kuroda ต่อรัฐสภา เพื่อดำรงตำแหน่งต่อไปเป็นสมัยที่ 2 เพื่อเตรียมพร้อมก่อนวาระสิ้นสุดในเดือน เม.ย. 61 ทำให้นักลงทุนคาดหมายว่าญี่ปุ่นจะดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยผ่อนคลายทางการเงิน (Quantitative and Qualitative Easing: QQE) ต่อไป เพื่อให้บรรลุอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่2 % กดดันให้ค่าเงินเยนอ่อนตัว เทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 61.5-65.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 58.0-62.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 59.5-63.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินลดลงจากโรงกลั่นน้ำมัน Sendai (กำลังการกลั่น 145,000 บาร์เรลต่อวัน) ของ บริษัท JXTG Nippon Oil & Energy ในญี่ปุ่นมีแผนกลับมาเดินเครื่องหน่วย Crude Distillation (กำลังการกลั่น 145,000 บาร์เรลต่อวัน) ในสัปดาห์นี้หลังปิดดำเนินการฉุกเฉินจากปัญหาทางเทคนิค ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. 61 ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 ก.พ. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.18 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 13.98 ล้านบาร์เรล และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ก.พ. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 30,000 บาร์เรล อยู่ที่ 10.88 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม สำนักงานสถิติอินโดนีเซีย รายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันเบนซินชนิด 90-97 RON ปี พ.ศ. 2560 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 80.4% อยู่ที่ 52.3 ล้านบาร์เรล และ Reuters รายงานโรงกลั่น Humber (กำลังการกลั่น 245,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Phillips 66 ในสหรัฐฯ ปิดดำเนินการหน่วย Catalytic Reformer (กำลังการผลิต 30,000 บาร์เรลต่อวัน) จากปัญหาทางเทคนิค ตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. 61ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 74.0-78.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลรายสัปดาห์ลดลงจากบริษัท CPC ของไต้หวันไม่มีแผนนำเข้าน้ำมันดีเซลเพิ่มเติมแม้หน่วย Diesel Hydrodesulfurizer หน่วยที่ 2 ที่ผลิตน้ำมันดีเซลได้วันละ 30,000 บาร์เรลต่อวัน ที่โรงกลั่นน้ำมัน Taoyuan (กำลังการกลั่น 200,000 บาร์เรลต่อวัน) ปิดซ่อมแซม 3 เดือน เพราะกำลังการผลิตน้ำมันดีเซลจากโรงกลั่น Talin (กำลังการกลั่น 350,000 บาร์เรลต่อวัน) สามารถผลิตชดเชยได้ ประกอบกับ Platts รายงาน Arbitrage น้ำมันดีเซล จากเอเชียและตะวันออกกลางไปตะวันตกปิดทำให้การส่งออกมาสิงคโปร์เพิ่มขึ้นกดดันราคาน้ำมันดีเซลในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม Reuters รายงานความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำความอบอุ่น (Kerosene) ของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้แข็งแกร่งส่งผลให้ปริมาณสำรอง Kerosene ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ก.พ. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.64 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 9.01 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้สำนักพยากรณ์อากาศคาดว่าอุณหภูมิในทั้งสองประเทศยังคงหนาวเย็น ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 ก.พ. 61 ลดลง จากสัปดาห์ก่อน 150,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.14 ล้านบาร์เรล และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ก.พ. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.44 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 9.20 ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 75.0-79.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ