สถานการณ์น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป สัปดาห์ที่ 26-30 มี.ค. 61 และคาดการณ์สัปดาห์ที่ 2-6 เม.ย. 61

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 2, 2018 17:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--ปตท. ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 69.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 65.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 1.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 65.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 2.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 80.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 2.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 82.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก - สถานการณ์การเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลางตึงเครียด โดยเฉพาะระหว่างซาอุดิอาระเบียกับอิหร่าน เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 61 กลุ่ม Houthi ในเยเมน ซึ่งอิหร่านสนับสนุน ยิงขีปนาวุธโจมตีสนามบินนานาชาติ King Khalid ในกรุง Riyadh และสนามบินอื่นๆ ในเมือง Jizan, Najran และ Abha นับเป็นการโจมตีเมืองหลวงของซาอุดิอาระเบีย เป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 5 เดือน และมีผู้เสียชีวิตในซาอุดิอาระเบียครั้งแรกตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการโจมตีเยเมน เป็นเวลา 3 ปี - กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติรัสเซียรายงานโครงการ Sakhalin-1 บริเวณชายฝั่งแปซิฟิก จำกัดการผลิตน้ำมันดิบอยู่ที่ 200,000 บาร์เรลต่อวัน ภายใต้ความร่วมมือลดปริมาณการผลิตระหว่างกลุ่ม OPEC และ Non-OPCE อย่างไรก็ตามในช่วงปลายเดือน เม.ย. 61 จะมีการตัดสินใจเกี่ยวกับการเพิ่มปริมาณการผลิต (ของโครงการ Sakhalin-1) มาอยู่ที่ 250,000-260,000 บาร์เรลต่อวัน - North Caspian Oil Consortium (NCOC) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการแหล่ง Kashagan ในคาซัคสถานรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ วันที่ 20-26 มี.ค. 61 ลดลง 120,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 180,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากปิดซ่อมบำรุง - Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะ (Rig) น้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 29 มี.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 7 แท่น มาอยู่ที่ 797 แท่น ลดลงครั้งแรกในรอบ 3 สัปดาห์ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ - สหรัฐฯ วางมาตรการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากผู้ส่งออกจีน วงเงินรวมประมาณ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยผู้แทนทางการค้าของสหรัฐฯ นายRobert Lighthizer ระบุว่าจะใช้เวลา 60 วัน เพื่อรวบรวมความคิดเห็นจากประชาชน (Public Comment) สำหรับจัดทำรายการสินค้า (ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเทคโนโลยีระดับสูง) โดยมีแนวทางให้กระทบต่อผู้บริโภคของสหรัฐฯ น้อยที่สุด และให้ผู้ส่งออกจีนแบกรับภาระมากที่สุด โดยจะได้ข้อสรุปราวเดือน มิ.ย.นี้ - EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 23 มี.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 1.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 429.9 ล้านบาร์เรล และสหรัฐฯ ผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 26,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 10.43 ล้านบาร์เรลต่อวัน - Platts รายงานท่ารับ/ส่งน้ำมันดิบ Louisiana Offshore Oil Port (LOOP) ในสหรัฐฯ สูบถ่ายน้ำมันดิบ Mars ลงเรือ "Nave Photon" ซึ่งเป็นการส่งออกด้วย Very Large Crude Oil Carrier หรือ VLCC (ปริมาณบรรทุกประมาณ 2 ล้านบาร์เรล) เที่ยวเรือที่ 2 หลังปรับปรุงท่าดังกล่าวให้สามารถส่งออกน้ำมันด้วยเรือขนาดใหญ่ อนึ่งในปีนี้แผนการส่งออกน้ำมันดิบที่ LOOP จะมีประมาณเดือนละ 1 เที่ยว แนวโน้มราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น เนื่องจากนักลงทุนมองว่าอุปทานในตลาดอาจตึงตัว โดยแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์ล่าสุด ปรับลดลงเป็นสัปดาห์แรก หลังจากเพิ่มขึ้นต่อเนื่องใน 2 สัปดาห์ก่อนหน้า ประกอบกับความร่วมมือลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC โดยมกุฎราชกุมารซาอุดิอาระเบีย Mohammed bin Salman กล่าวว่าซาอุดิอาระเบียและรัสเซียกำลังร่วมพิจารณาขยายระยะเวลาควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมันต่อไปอีก 10-20 ปี ทั้งนี้ข้อตกลงความร่วมมือลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบรวม 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะสิ้นสุดในเดือน ธ.ค. 61 และรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานซาอุดิอาระเบีย นายKhalid Al-Falih กล่าวว่ามีโอกาสที่กลุ่มผู้ผลิตจะร่วมกันลดอุปทานน้ำมันต่อไป อย่างไรก็ตาม ให้จับตาสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ทวีความร้อนแรง หลังกระทรวงการคลังของจีนปรับเพิ่มอัตราภาษีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ 128 ชนิด โดยที่สินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม 120 ชนิด ได้แก่ ไวน์ ถั่ว และผลไม้บางชนิด อาทิ แอปเปิล และองุ่น ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 15% และเนื้อหมู ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 25% ซึ่งมีผลในวันที่ 2 เม.ย. 61 เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ ที่ตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 67.50-71.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบNYMEX WTI อยู่ในกรอบ 63.00-67.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 63.50-67.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ Gasoline ของสหรัฐฯ แข็งแกร่ง โดย Arbitrage Gasoline เปิดจากเอเชียไปยังสหรัฐฯ เพื่อรองรับช่วงฤดูขับขี่ (Summer Driving Season) และหน่วยงานศุลกากรจีน (General Administration of Customs) รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซินเดือน ก.พ. 61 ลดลงจากปีก่อน 18% อยู่ที่ 7.39 ล้านบาร์เรล อีกทั้งโรงกลั่นน้ำมัน Taoyuan ในไต้หวัน (กำลังการกลั่น 200,000 บาร์เรลต่อวัน) ของ CPC Corp. มีแผนหยุดซ่อมบำรุงหน่วย Residual Fluid Catalytic Cracking (RFCC: กำลังการกลั่น 50,000 บาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. 61 เป็นเวลา 2 เดือน ด้าน EIA ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุด 23 มี.ค.61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 239.6 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 11 สัปดาห์ และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 24 มี.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 830,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.94 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 27 มี.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.05 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 15.64 ล้านบาร์เรล สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 78.00-82.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น จากหน่วยงานศุลกากรจีนรายงานปริมาณส่งออก Diesel เดือน ก.พ. 61 ลดลงจากปีก่อน 21.1% อยู่ที่ 7.8 ล้านบาร์เรล และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 27 มี.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 800,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.81 ล้านบาร์เรล และอุปสงค์ Gasoil ของสเปน เดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ 440,000 บาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6%) สูงสุดในรอบ 10 ปี ทั้งนี้นักวิเคราะห์ Reutersคาดอุปสงค์ Diesel ของอินเดียในปี 2561 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8% อยู่ที่ 3.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากรัฐบาลเพิ่มงบประมาณเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชนบท อย่างไรก็ตาม CPC Corp. ของไต้หวันออกประมูลขายน้ำมันดีเซล กำมะถัน 0.005 % ปริมาณ 300,000 บาร์เรล ส่งมอบ 1-15 เม.ย. 61 และบริษัท Korea National Oil ของเกาหลีใต้รายงานความต้องการใช้น้ำมันดีเซล เดือน ก.พ. 61 ลดลงจากปีก่อน 3.6 % อยู่ที่ 425,000 บาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดตั้งแต่ ก.พ. 60 ด้านPAJ รายงานปริมาณสำรอง Gasoil เชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 24 มี.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 190,000 บาร์เรล อยู่ที่ 8.27 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 79.00-83.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ