ALT คว้างานโครงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เมืองพัทยา มูลค่ากว่า 700 ลบ. หนุนงานในมือพุ่งแตะ 1,200 ลบ.

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday April 4, 2018 16:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 เม.ย.-- บมจ.เอแอลที เทเลคอม หรือ ALT สุดเจ๋ง!!! คว้างานโครงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ในพื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี มูลค่ากว่า 700 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี หนุนงานในมือ (Backlog) พุ่งขึ้นกว่า 1,200 ล้านบาท จ่อทยอยรับรู้ปีนี้ 40% และปีหน้า พร้อมเดินหน้าเข้าประมูลงานใหม่อย่างต่อเนื่อง หวังสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนและแข็งแกร่ง นางปรีญาภรณ์ ตั้งเผ่าศักดิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ALT ผู้ประกอบธุรกิจโทรคมนาคมแบบครบวงจร เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้คว้างานใหม่โครงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ในพื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี มูลค่าโครงการกว่า 700 ล้านบาท ส่งผลให้มูลค่างานในมือ (Backlog) ปัจจุบัน พุ่งขึ้นเป็น 1,200 ล้านบาท ทยอยรับรู้ปีนี้ประมาณ 40% ทั้งนี้ ALT เตรียมเข้าไปรื้อถอนมิเตอร์เดิม และติดตั้ง Smart Meter จำนวนกว่า 116,000 ตัวและอุปกรณ์ประกอบ ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในพื้นที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี, ติดตั้งระบบ Head-End ระบบบริหารจัดการข้อมูลการอ่านมิเตอร์ (Meter Data Management System: MDMS) และติดตั้งระบบแก้ไขปัญหาไฟฟ้าขัดข้องอัจฉริยะแบบเคลื่อนที่ (Mobile Workforce Management System) พร้อมติดตั้งระบบ Backup ของงาน (Disaster Recovery Center) โดยระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี "ระบบส่งจ่ายกำลังไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) จะเป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่จะมาเปลี่ยนรูปแบบการส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้มีความทันสมัย รวมไปถึงการปรับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าตามผลการวิเคราะห์และประมวลผลของซอฟต์แวร์ ทำให้ผู้ใช้บริการเห็นถึงประโยชน์ที่ได้รับและสามารถตระหนักในความสำคัญของ การลดพลังงานและใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพอย่างมาก นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้พันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษโดยตรง ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะชั้นนำของโลก จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถส่งมอบงานได้ทันตามกำหนดแน่นอน" นางปรีญาภรณ์ กล่าว กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) กล่าวอีกว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้ปีนี้เติบโตมากกว่าปีก่อน เนื่องจากมีปริมาณงานในมืออยู่ที่ 1,200 ล้านบาท ทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาส 1/2561 เป็นต้นไป ประกอบกับมีรายได้ประจำ (Recurring income) ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อน และยังคงเดินหน้าเข้าประมูลงานใหม่ๆ อยู่จำนวนหลายโครงการอีกด้วย อนึ่ง ประโยชน์ของระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ คือ ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ มีการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Meter) และระบบสื่อสารสัญญาณต่างๆติดตามตำแหน่งของผู้ใช้ไฟฟ้า เพื่อทราบข้อมูลในการใช้เวลาจริง (Real Time) อีกด้วย นอกจากนี้ ระบบสายส่งไฟฟ้าสมัยใหม่ยังมีการทำงานเป็นระบบโทรคมนาคมไปพร้อมกันด้วย คือ มีการส่งสัญญาณข้อมูลดิจิตอลมาในสายส่งพร้อมกับกำลังไฟฟ้า เรียกระบบนี้ว่า ระบบสื่อสารในสายสาธารณะ (Public Line Communication System : PLC) ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถรับภาพโทรทัศน์ หรือเสียงวิทยุโดยไม่จำเป็นต้องใช้สายอากาศ และสามารถใช้อินเทอร์เน็ตโดยไร้สาย นอกจากนี้ ยังสามารถควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านได้ ทำให้ผู้ใช้บริการไฟฟ้า รู้ถึงสภาวะการใช้ไฟฟ้าตามเวลาจริง และผู้บริโภคสามารถตรวจสอบค่าไฟฟ้าได้ตามเวลาจริง จะสามารถช่วยลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลงได้ถึง10-15% สำหรับผู้ให้บริการไฟฟ้า สามารถบริหารจัดการภาระกำลังไฟฟ้าที่จ่ายให้โหลด ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำการซื้อขายไฟฟ้าได้ และสามารถตรวจสอบตำแหน่งที่มีความผิดพร่องทางไฟฟ้า (Fault) ได้ในทันทีที่เกิดเหตุ ในส่วนผู้ผลิตไฟฟ้า สามารถชะลอการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆ สามารถใช้ผสมผสานแหล่งกำเนิดไฟฟ้าแบบดั้งเดิมเข้ากับแหล่งกำเนิดไฟฟ้าที่เป็นพลังงานทดแทนเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ชีวมวล เป็นต้นได้ และควบคุมคุณภาพทางไฟฟ้าให้มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและยอมรับได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ