นักศึกษา มจพ. พัฒนากระบวนการติดฉลากด้วยเครื่องอัตโนมัติ ลดความสูญเสียจากการหยุดทำงานในเครื่องดื่มซุปไก่สกัด

ข่าวทั่วไป Wednesday April 18, 2018 16:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในภาวะปัจจุบันองค์กรที่จะอยู่รอดได้หรือแข่งขันได้นั้น ต้องแสวงหาวิธีในการปรับปรุงการผลิต และบริการ เพื่อเพิ่มคุณภาพ ลดต้นทุน เช่นเดียวกับกระบวนการผลิตมักจะพบว่ามีความสูญเสียต่าง ๆ แฝงอยู่ในกระบวนการผลิตไม่มากก็น้อย ซึ่งเป็นเหตุให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกระบวนการผลิตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น หรือใช้เวลานานในการผลิตสินค้าคุณภาพต่ำ ต้นทุนสูง ซึ่งจำเป็นจะต้องมีแนวคิดที่พยายามจะลดความสูญเสียเหล่านี้ให้เกิดขึ้นโดยการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และส่งมอบได้ทันเวลา สามารถทำให้องค์กรลดความสูญเสียทุกรูปแบบในกระบวนการทำงานทุกสายงาน การพยายามปรับปรุงแก้ไขวิธีการทำงานนั้นๆ ทำให้หน่วยงานหรือองค์กร ต้องหาวิธีลดการสูญเสีย หรือค้นหาสาเหตุของความสูญเสีย และหาแนวทางแก้ไข ป้องกันเพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ซึ่งเป็นหนทางที่ใช้ในการปรับปรุงการผลิตเพื่อความอยู่รอดขององค์กรได้ ดังเช่นผลงานวิจัย "การลดความสูญเสียจากการหยุดทำงานขั้นตอนการติดฉลากด้วยเครื่องติดฉลากอัตโนมัติ: กรณีศึกษาอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มซุปไก่สกัด" ผลงานนายพิพัฒน์ สื่อตระกูล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตรและการจัดการ (ATM) คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) มีอาจารย์ ดร.เจษฎา ทิพย์มณเฑียร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มจพ. เป็นที่ปรึกษางานวิจัย ผลงานชิ้นนี้การันตีความสำเร็จที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดผลงานสหกิจศึกษาดีเด่น ประเภทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2561 จัดโดยสถาบันสหกิจศึกษาและพัฒนาสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไทย-เยอรมัน (TGDE) นายพิพัฒน์ สื่อตระกูล กล่าวว่างานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อวิเคราะห์และปรับปรุงสายการผลิตการติดฉลากให้เป็นไปตามแผนการผลิต ของบริษัท แบรนด์ ซันโทรี่ ประเทศไทย จำกัด เป็นผู้ผลิตซุปไก่สกัด โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้ได้ซุปไก่สกัดคุณภาพเยี่ยม ซึ่งการดำเนินงานได้ใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ต่างๆ เข้ามาช่วย เช่น Value Stream Mapping: VSM และหลักการ Lean Six Sigma เพื่อให้สายการผลิตเกิดความสูญเสีย สูญเปล่า น้อยที่สุด โดยให้การทำงานของเครื่องจักรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น และออกแบบการทดลองหาสภาวะที่เหมาะสมของการติดฉลาก ด้วยวิธี One Way Anova เมื่อการออกแบบตามกระบวนการครบถ้วนแล้วจะเข้าไปปรับสเปคการทำงานของเครื่องจักรและทำการซ่อมบำรุงในส่วนที่ชำรุด ช่วยให้การผลิตเป็นไปตามแผนการผลิตมากขึ้น 80 % และช่วยลดปัญหาเรื่องการทำงานล่วงเวลาและปัญหาการผลิตสินค้าไม่ทัน ส่วนระบบการทำงานของเครื่องติดฉลากและทำการปรับปรุงแนวโน้มปัญหาลดลง 80 % ช่วยเป็นแนวทางในการปรับปรุงและแก้ไขสำหรับบุคลากรภายในกระบวนการผลิต เพื่อลดปัญหาให้ลดลงได้ 100 % ภายในอนาคต แนวคิดและความเป็นมา การพัฒนากระบวนการติดฉลากด้วยเครื่องติดฉลากอัตโนมัติลดความสูญเสียจากการหยุดทำงานของเครื่องติดฉลากอัตโนมัติ จะศึกษาสภาพโดยรวมในกระบวนการผลิตพบว่าปัญหาในการผลิตส่วนใหญ่นั้นสาเหตุเกิดจากการทำงานของเครื่องจักรที่ไม่เต็มประสิทธิภาพ ทางโรงงานมีความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น โดยการลดความสูญเสียจากการรอคอย การหยุดชะงักของเครื่องจักร การปรับตั้งเครื่องจักร ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิต โดยกำลังการผลิตนั้นไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทำให้เกิดการทำงานล่วงเวลาของพนักงานและเครื่องจักร ทั้งนี้หากต้องการให้กำลังการผลิตเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ผลิตได้เต็มกำลังและไม่ผลิตของเสีย โดยวัดจากค่าอัตราการเดินเครื่อง ประสิทธิภาพการเดินเครื่อง อัตราคุณภาพซึ่งเป็นค่าที่จะบ่งบอกถึงประสิทธิภาพโดยรวมของกระบวนการผลิต วิธีการดำเนินงาน เริ่มจากศึกษาข้อมูลพื้นฐานทั่วไปของโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตซุปไก่สกัด การวางแผนการผลิตดำเนินการศึกษากระบวนการวางแผนกระบวนการบรรจุและติดฉลากของโรงงานกรณีศึกษา โดยศึกษาขั้นตอนการวางแผนการผลิตรายเดือน รายสัปดาห์ และรายวัน โดยศึกษาจาก Flow การดำเนินงาน และการสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติส่วนการวางแผนการผลิต รวบรวมข้อมูลจากการศึกษาการวางแผนการผลิตจากการศึกษาข้อมูลพื้นฐานทั่วไปของโรงงานแบรนด์ซุปไก่สกัดกรณีศึกษา จึงดำเนินการรวบรวมข้อมูล โดยใช้ value stream mapping (VSM) หรือ แผนภูมิสายธารแห่งคุณค่าเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล และสรุปหาจุดบกพร่องในกระบวนการผลิตตั้งแต่แผนกบรรจุขวดจนถึงแผนกติดฉลาก รวมถึงการเก็บข้อมูลสรุปปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดของเครื่องจักร จากนั้นใช้ 5W1H เป็นเครื่องมือในการหาจุดที่มีแนวโน้มทำให้เกิดปัญหา และสรุปออกมาเป็น Phenomena เพื่อเข้าวิเคราะห์หาสาเหตุปัญหาในแต่ละส่วน งานวิจัยนี้มุ่งเน้นการศึกษากระบวนการผลิตเพื่อหาจุดที่เป็นคอชวด (คอขวด คือ จุดที่มีอัตราการผลิตต่ำกว่าจุดอื่น) ซึ่งจากการเก็บข้อมูล พบว่า กระบวนการติดฉลากหรือเครื่องติดฉลากเป็นจุดคอขวด จึงได้เข้าไปปรับปรุงและแก้ไขปัญหาโดยศึกษาลักษณะการทำงานของเครื่องติดฉลาก จากนั้นวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา และทำการปรับปรุงแก้ไขโดยการปรับปรุงแก้ไขมี 2 รูปแบบ คือ 1) ปรับสเปคการทำงานของเครื่องจักรใหม่ และ2) การซ่อมบำรุงชิ้นส่วนเครื่องจักรที่ชำรุดเสียหาย ทำให้สามารถช่วยลดปัญหาการหยุดทำงานของเครื่องติดฉลากได้ ช่วยให้การผลิตเป็นไปตามแผนการผลิต เพราะภาคอุตสาหกรรมให้ความสำคัญประเด็นนี้มาก หากพบกระบวนการทำงานและปัญหาเครื่องจักรหยุดทำงานหรือสายการผลิตหยุด จะส่งผลกระทบกับเวลาที่มีการวางแผนการผลิตไว้ ทำให้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ส่งผลให้ผลิตสินค้าไม่ทันส่งหรืออาจจะต้องมีการทำงานล่วงเวลา (OT) ประโยชน์การใช้งานวิจัยการลดความสูญเสียจากการหยุดทำงานขั้นตอนการติดฉลากด้วยเครื่องติดฉลากอัตโนมัติ นำไปใช้โดยการปรับใช้งานจริงกับเครื่องจักรทำให้ลดเวลาการหยุดทำงานลงได้ มีการจัดทำเอกสารสนับสนุนการปฏิบัติงาน ส่วนภาคอุตสาหกรรมนั้นจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานมีระเบียบแบบแผนในการปรับตั้งสเปคเครื่องจักรอย่างเหมาะสมมากขึ้น เช่น ก่อนเข้าไปทำการปรับแก้ไข ผู้ปฏิบัติงานมีการเข้าปรับตั้งโดยใช้การประมาณการไม่มีตัวเลขที่แน่นอน แต่หลังปรับปรุงผู้ปฏิบัติงานมีการปรับตั้งสเปคโดยมีค่าเลขที่แน่นอนและเป็นค่าที่ดีเหมาะสมที่สุด โดยสอดคล้องกับนโยบายการทำระบบ TPM ของโรงงาน คือ ทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยในการปรับปรุง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆที่จะตามมาของเครื่องจักร ซึ่งสายการผลิตจะเป็นเครื่องจักรทั้งหมด ตลอดจนเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะนำไปใช้ประยุกต์กับสายการผลิตอื่นๆ ภายในโรงงาน ซึ่งเป็นประโยชน์ค่อนข้างมากกับพนักงานในสายการผลิต มีการกำหนดสภาวะที่เหมาะสมลงใน work instruction ของทางบริษัท เพื่อให้พนักงานปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันและคงมาตรฐานไว้ ซึ่งบริษัทสามารถนำไปต่อยอดในอนาคต
แท็ก ฉลาก  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ