สหกรณ์จังหวัดน่านจับมือสถาบันฯปิดทองหลังพระลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ชูทฤษฎี 7 ขั้นแก้ปัญหารายได้น้อย – ไร้ที่ทำกิน ส่งเสริมเกษตรกรให้เข้มแข็งยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Wednesday April 25, 2018 11:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--กรมส่งเสริมสหกรณ์ สหกรณ์จังหวัดน่านนำเจ้าหน้าที่สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯลงพื้นที่ แลกเปลี่ยน-เรียนรู้ ต่อยอดส่งเสริมการรวมกลุ่ม สร้างเกษตรกรในพื้นที่ให้เข้มแข็งยั่งยืน พร้อมนำเสนอโมเดลทฤษฎี 7 ขั้นแก้ปัญหารายได้น้อย-ไร้ที่ทำกิน ด้านนักวิชาการระบุ ใช้องค์ความรู้แปลงสู่การปฏิบัติ ยกระดับการรวมกลุ่มตามแนวพระราชดำริรัชกาลที่ 9 นางสุภาพ ไทยน้อย สหกรณ์จังหวัดน่าน พร้อมด้วยบุคลากรสำนักงานสหกรณ์จังหวัดน่าน ลงพื้นที่ไปยังวิสาหกิจชุมชนชีวิวิถี ตำบลน้ำเกี๋ยน จังหวัดน่าน เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยน เรียนรู้ แนวทางการรวมกลุ่ม อย่างยั่งยืนตามแนวทางพระราชดำริ พร้อมร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้แนวทางการรวมกลุ่มให้เกิดความเข้มแข็ง ตามที่สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้มีความร่วมมือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการดำเนินงานให้กับสหกรณ์ในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะสหกรณ์ในโครงการพระราชดำริและกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ต้นแบบของสถาบันฯ ให้สามารถต่อยอดการพัฒนากลุ่มภายในชุมชนให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน อันเป็นผลมาจากการร่วมมือกันของคนในชุมชน นางสุภาพ กล่าวว่า ในเบื้องต้นได้พูดคุยกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่นำร่องโครงการปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ ในพื้นที่ 3 อำเภอนำร่อง ณ บ้านยอด ต.ยอด อ.สองแคว, บ้านน้ำป้าก ต.ตาลชุม อ.ท่าวังผา และบ้านง้อมเปา อ.เฉลิมพระเกียรติ โดยมีทีมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำแนวคิดทฤษฎี 7 ขั้นของการพัฒนากลุ่มในชุมชนให้เข้มแข็ง ไปนำเสนอต่อกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การรวมกลุ่มอย่างยั่งยืน และเป็นเครื่องมือสำหรับสมาชิกชุมชนที่จะร่วมกันพัฒนาตน และพัฒนาชุมชนให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลและต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนเรื่องการต่อยอดการพัฒนา ความเข้มแข็งว่าจะทำอย่างไร ควรจะมีวิธีการบริหารจัดการกลุ่มยังไง และเริ่มจากตรงไหน เนื่องจากกลุ่มของเกษตรกรยังรวมกลุ่มกันแบบหลวมๆ ขาดทิศทางและเป้าหมายของการทำงานร่วมกัน เนื่องจากไม่มีความรู้เรื่อง การรวมกลุ่มเพียงพอ ซึ่งหลังจากพูดคุยทำความเข้าใจกับกลุ่มเกษตรกรแล้วก็จะเริ่มทำตามแนวคิดทฤษฎี 7 ขั้น แต่การสร้างกลุ่มนั้นไม่สามารถสร้างได้สำเร็จในทันที แต่ต้องชี้ให้เขาตระหนักและเห็นว่าที่เขามารวมกลุ่มกันเกิดจากอะไร ให้ร่วมกันแก้ปัญหาเพื่อจะต่อยอดเรื่องการพัฒนากลุ่มให้เกิดความเข้มแข็ง ทั้งนี้ ในปัจจุบันปัญหาส่วนใหญ่ของกลุ่มเกษตรกรเป็นเรื่องที่ทำกิน รายได้ไม่พอ ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์จึงพยายามที่จะนำเอาโครงการเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรแบบผสมผสานตามแนวพระราชดำริ เข้าไปส่งเสริม เพื่อสร้างความกินดีอยู่ดีให้แก่ประชาชน พร้อมกันนี้ จะนำโมเดลทฤษฎี 7 ขั้นนี้ลงไปขยายผลในสหกรณ์ 2 แห่ง คือสหกรณ์ภูฟ้า และสหกรณ์น้ำลี้น้ำช้าง ซึ่งอยู่ในพื้นที่โครงการพระราชดำริได้นำไปวางแผนการดำเนินงานและประยุกต์ใช้กับการส่งเสริมสมาชิก เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง และจะใช้กลไกลของสหกรณ์ทั้ง 2 สหกรณ์ ตั้งแต่ต้นน้ำ ปลายน้ำ เน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและเชื่อมโยงกับการตลาด ด้านผศ.ดร.อรวรรณ คงมาลัย นักวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการขยายผลองค์ความรู้การขับเคลื่อนทฤษฎีใหม่เพื่อการพัฒนาพื้นที่ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระบุว่า เป้าหมายสำคัญคือ การนำองค์ความรู้ไปสู่การปฏิบัติใช้ในการยกระดับของการรวมกลุ่ม รวมถึงการแสวงหาแนวทางความร่วมมือ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนทฤษฎีใหม่ ให้เกิดสัมฤทธิ์ผลในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ โดยในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป จะร่วมมือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่สหกรณ์ที่อยู่ในโรงการพระราชดำริทุกภูมิภาค เพื่อขยายผลต่อยอด รวมถึงทบทวนตรวจสอบองค์ความรู้เพื่อให้เกิดการพัฒนาเรื่องการรวมกลุ่มเพื่อให้เกิดความยั่งยืน สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เกิดขึ้น เป็นการนำตัวแทนพื้นที่ต้นแบบในจังหวัดน่านของมูลนิธิปิดทอง หลังพระฯ เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและศึกษาจากประสบการณ์ตรงในการรวมกลุ่มของวิสาหกิจชุมชนชีววิถี ตำบลน้ำเกี๋ยน ที่เคยประสบปัญหาในหลากมิติ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องยาเสพย์ติด การพนัน จนกระทั่งเกิดการร่วมกันคิดหาทางเพื่อแก้ไขปัญหาจนเป็นผลสำเร็จ อีกทั้งยังพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ของกลุ่มให้มีคุณภาพและสามารถต่อสู้ในตลาดได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ในทางวิชาการ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลสำเร็จในพื้นที่ ผศ.ดร.อรวรรณ กล่าวด้วยว่า องค์ความรู้ที่ได้รับจากการลงพื้นที่และได้มีการวิเคราะห์ออกมาเป็นบันได 7 ขั้น สู่การรวมกลุ่มที่เข้มแข็งและยั่งยืน และยังได้จัดทำคู่มือมอบให้ไว้ใช้เป็นเครื่องมือในการนำมาตรวจสอบสถานะของการรวมกลุ่ม โดยในขั้นที่ 1 จะตั้งคำถามถึงสาเหตุของการรวมกลุ่มไปจนกระทั่งการแสวงหาพันธมิตร ในขั้นที่ 7 ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ