ถอดบทเรียนการปรับวัฒนธรรมองค์กรเพื่อเสริมสร้างนวัตกรรม

ข่าวเทคโนโลยี Thursday May 17, 2018 12:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--เอบีเอ็ม ในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนสู่ยุคดิจิทัล โลกธุรกิจก็ต้องเปลี่ยนไปด้วยและต้องปรับตัวให้ทันกับความเร็วของการเปลี่ยนแปลงที่จะยิ่งมากขึ้นทุกวัน ทรู ดิจิทัล พาร์ค มุ่งสร้างระบบนิเวศครบวงจรเพื่อสตาร์ทอัพไทย ได้จัดงานเสวนา "CORPORATE CLUB#1 ตอบโจทย์องค์กรรุ่นใหม่ถึงประเด็นสุดฮอตขององค์กรยุคนี้ ในหัวข้อ "Cultivating a Corporate Culture for Innovation" เปิดมุมมองเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรเพื่อสร้างนวัตกรรมและรับมือกับการเปลี่ยนแปลง งานนี้ได้รับการตอบรับอย่างคึกคักจากคนในองค์กรต่างๆ ที่สนใจการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและฟังประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์จาก โรแลนด์ เบอร์เกอร์ บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำจากประเทศเยอรมนี โดย ดร.สเตฟเฟน แกคสแตตเตอร์ (Dr.Steffen Gackstatter) พร้อมด้วยตัวแทนจาก 2 องค์กรชั้นนำของไทย ได้แก่ คุณอังศุมาลิน ฟอร์ดแฮม หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท วีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) และคุณอภิรัฐ คงชนะกุล ผู้จัดการทั่วไป ธุรกิจไอโอที บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นตัวแทนจากองค์กรที่ต้องใช้นวัตกรรมนำ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจในยุคดิจิทัลและรับมือกับสภาพแวดล้อมและความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรในด้านต่างๆ โดยเฉพาะลูกค้า เรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างองค์กรใหญ่กับสตาร์ทอัพ ในฐานะที่ปรึกษาผู้คร่ำหวอดในแวดวงองค์กรธุรกิจชั้นนำ ดร.สเตฟเฟน หยิบยกประเด็นสำคัญคือ การมีวัฒนธรรมอย่างสตาร์ทอัพที่มีความตื่นตัว ต้องการความอยู่รอด ต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และนำเสนอสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน สิ่งเหล่านี้เป็นแนวคิดและสไตล์การทำงานแบบสตาร์ทอัพที่องค์กรใหญ่ๆ ควรต้องผลักดันเพื่อเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ไม่เช่นนั้นแล้ว ก็จะถูกคนอื่นดิสรัปต์ได้ "ถ้าถามว่าอะไรจะไม่ถูกดิสรัปต์ คิดว่าทุกธุรกิจถูกดิสรัปต์หมด...การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลก่อให้เกิดการทำงานแบบพันธมิตร แม้ว่าองค์กรจะมีความมั่นคงแล้วก็ตาม เช่น ทำธุรกิจขายสินค้าอย่างหนึ่ง แต่ในอนาคต ก็อาจเปลี่ยนเป็นการขายโซลูชั่นแทน การทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ดังเช่นกรณีของ BMW Startup Garage ที่เปิดรับนวัตกรรมและการทดสอบจากสตาร์ทอัพ ขณะเดียวกัน กิจการสตาร์ทอัพก็มีโอกาสได้ทดสอบเทคโนโลยีกับยานยนต์จริง รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นกับทีมงานบีเอ็มดับเบิลยู จะเห็นว่าแม้แต่องค์กรขนาดใหญ่ก็ยังต้องมีพันธมิตรเชิงนวัตกรรมเข้ามาเติมเต็ม" วัฒนธรรมสตาร์ทอัพ ในร่างองค์กรใหญ่ สำหรับองค์กรใหญ่อย่าง ทรู คอร์ปอเรชั่น คุณอภิรัฐ เผยว่า ทรูได้พยายามผนึกศักยภาพการสร้างสรรค์จากภายในก่อน ในปีที่ผ่านมา มีโครงการพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ โดยให้มาระดมสมองร่วมกันทำโปรเจ็คต่างๆ โดยมีผู้บริหารที่มีประสบการณ์คอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด ถือเป็นการพัฒนาภาวะผู้นำเด็กรุ่นใหม่ ทำให้องค์กรได้ความคิดในมุมมองใหม่มาช่วยแก้ปัญหา และถือเป็นการพัฒนาบุคลากรใหม่ๆ มาร่วมขับเคลื่อนนวัตกรรมในองค์กร "ในปีนี้ทรู จะดึงศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์จากภายนอก มีระบบที่เปิดมากขึ้น เช่น เมกเกอร์จะสามารถซื้อชิปเซ็ตได้จากทางหน้าเว็บไซต์ และเข้ามามีส่วนร่วมในชุมชนนักพัฒนา พร้อมเปิดโอกาสรับผู้ที่มีไอเดียดีๆ เข้ามาทำงานร่วมกัน" คุณอังศุมาลิน เล่าว่าวีซ่า เป็นองค์กรที่มีอายุ 60 ปีแล้ว ถ้าเป็นคนก็กำลังอยู่ในวัยเกษียณ แต่ก็ต้องปรับมุมมองให้ก้าวทันยุค ต้องตอบสนองลูกค้าให้ดีที่สุด สภาพแวดล้อมทุกวันนี้เป็นทั้งความท้าทายและเป็นทั้งโอกาส "ลูกค้ามีความต้องการมากขึ้น เราก็ต้องเปลี่ยนตัวเอง ต้องพูดคุยกับลูกค้าว่าจะออกแบบบริการให้เข้ากับความต้องการอย่างไร เราทำงานผ่านพาร์ตเนอร์ และผ่านคนด้วย เราช่วยให้พาร์ตเนอร์สร้างนวัตกรรมได้เร็วขึ้น และทำให้ได้โซลูชั่นจากทุกที่ ทุกส่วน ที่ได้ร่วมกันทำงาน ที่สำคัญคือ โซลูชั่นต้องออกแบบโดยยึดถือคนเป็นหลักและมีประโยชน์ ตอบสนองความต้องการ" ทีมนวัตกรรม แยกทีมหรือรวม? โครงสร้างการจัดการทีม เป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญต่อการผลักดันวัฒนธรรมในส่วนอื่นด้วย แต่ดูเหมือนจะไม่มีคำตอบที่ตายตัว ดร.สเตฟเฟน มองว่าบางบริษัทก็เหมาะกับการตั้งทีมนวัตกรรมแยกออกมา บางแห่งก็ไม่เหมาะ เพราะการตั้งทีมใหม่ มีความเสี่ยงที่เมื่อแยกตัวแล้ว อาจไม่สามารถปรับเข้าเป็นส่วนหนึ่งในองค์กร (re-integration) เมื่อเสร็จสิ้นโครงการ ไม่ว่าจะมีการจัดโครงสร้างอย่างไรก็ตาม "องค์กรควรจะต้องกล้าเสี่ยงด้วย ซึ่งบางวัฒนธรรมองค์กรก็ไม่ชอบ บางแห่งก็เกลียดความเสี่ยงไปเลย" ด้านคุณอภิรัฐ เน้นมองในแง่ของความคล่องตัวและรวดเร็ว สถานการณ์บางอย่างอาจเหมาะกับทีมที่ตั้งขึ้นมาใหม่ เพราะคล่องตัวและเป็นอิสระมากกว่า "สตาร์ทอัพจะมี Sense of urgency ต้องคิดหาทางเติบโต ต้องสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ เพื่อความอยู่รอด องค์กรใหญ่ควรมีเซนส์แบบนี้ด้วย ต้องตื่นตัว" ส่วนคุณอังศุมาลิน ได้แบ่งปันประสบการณ์ขององค์กรว่า ได้พยายามทำให้ทีมงานทั้งดีไซน์เนอร์ โปรแกรมเมอร์ วิศวกร ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องในการคิดค้นนวัตกรรม ให้เข้ามาอยู่ใกล้ชิดตลาดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความต้องการของแต่ละตลาดต่างกัน ศูนย์นวัตกรรมของวีซ่า 9 แห่งทั่วโลก มีโฟกัสต่างกัน "นวัตกรรมบางอย่างก็ผลักดันจากตลาดนั้นๆ เช่น QR Payment ที่มีตัวอย่างจากอินเดีย ก็คิดว่าเหมาะกับประเทศไทย ก็เลือกว่าสิ่งใดที่เหมาะกับตลาดไทย" การเปลี่ยนแปลงคือทุกสิ่ง ส่วนประเด็นที่มีผู้ซักถามหยิบยกมาเรื่องหนึ่งคือ การรักษาค่านิยมและจุดแข็งขององค์กร ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ดร.สเตฟเฟน กล่าวปิดท้ายงานว่า สำหรับองค์กรใหญ่หรือองค์กรที่ตั้งมานานแล้ว อาจจะยากในการเปลี่ยน แต่เมื่อโลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะเคยใหญ่อย่างไร หรือเคยทำอะไรมาบ้าง ก็ต้องปรับ โดยสิ่งแรกที่ต้องมีคือ ความเต็มใจเปลี่ยน ต้องการที่จะเปลี่ยนองค์กรอย่างแท้จริง งานเสวนา CORPORATE CLUB#1 จัดขึ้นเพื่อสร้างเครือข่ายชุมชนสตาร์ทอัพ เติมเต็มระบบนิเวศครบวงจรของทรู ดิจิทัล พาร์ค ศูนย์กลางด้านดิจิทัลของไทย ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เดียวที่ตอบโจทย์ทั้งการทำงานและการใช้ชีวิตได้อย่างลงตัว พร้อมเปิดให้บริการในปลายปีนี้ ติดตามกิจกรรมดีๆ และงานเสวนาพัฒนาเครือข่ายในแวดวงสตาร์ทอัพและองค์กรธุรกิจดิจิทัลได้ที่ www.facebook.com/TrueDigitalPark/

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ