ปภ. เตือนทุกภาคส่วนเตรียมพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำล้นตลิ่ง

ข่าวทั่วไป Friday August 15, 2008 10:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--ปภ.
สภาพฝนตกหนักในพื้นที่ตอนล่างของประเทศจีน และตอนบนของประเทศไทยในระยะนี้ ส่งผลให้ค่าเฉลี่ย ของระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดในรอบ ๓๐ ปี ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือน เรือกสวน ไร่นาของประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน อย่างมหาศาล ดังนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณภัยเตรียมความพร้อมรับมืออันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำล้นตลิ่งในระยะนี้ ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำ ควรหมั่นติดตามรับฟังพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ระดับน้ำขึ้น — ลง จากกรมอุทกศาสตร์อย่างใกล้ชิด นำกระสอบทรายจัดทำคันกั้นน้ำหรือเสริมแนวคันกั้นน้ำให้สูงขึ้น และหมั่นตรวจสอบความแข็งแรงของคันกั้นอย่างสม่ำเสมอ ติดตามรับฟังรายงานสถานการณ์อุทกภัยตลอดเวลา เพื่อเตรียมรับมือกับสภาวะน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือน หากได้รับประกาศเตือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้รีบ ขนย้ายสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น เช่น ปลั๊กไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้า แล้วนำไปเก็บไว้ในที่สูงหรือบริเวณที่น้ำท่วมไม่ถึง แต่หากพบว่าปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกินจุดวิกฤติ ให้รีบอพยพออกจากบริเวณที่กระแสน้ำหลากหรือริมตลิ่งทันที อย่ามัวแต่ห่วงทรัพย์สินหรือของมีค่าอื่นใด ควรอพยพหนีเอาตัวรอดเพื่อป้องกันอันตรายจากการพลัดตกหรือจมน้ำเสียชีวิตได้ ระมัดระวังอันตรายจากสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ที่มักจะหนีน้ำขึ้นมาอยู่ตามอาคารบ้านเรือน หรือสถานที่ที่ไม่เปียกชื้น พร้อมขอความร่วมมือผู้ขับเรือให้ลดความเร็วลง หากขับผ่านย่านที่พักอาศัยของประชาชน เพื่อป้องกันมิให้เกิดคลื่นน้ำซัดเข้าฝั่ง ซึ่งจะสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินสาธารณะ และบ้านเรือนของผู้ประสบภัย สำหรับชาวประมงที่เลี้ยงปลาในกระชังตามริมฝั่งแม่น้ำ ให้เฝ้าระวังการขึ้น — ลงของระดับน้ำ ผูกเชือกยึดตลิ่งป้องกันกระชังไหลตามน้ำ และเชือกที่โยงกับกระชังเลี้ยงปลา ไม่ควรผูกให้หย่อนหรือตึงเกินไป หมั่นตรวจดูวัสดุที่ไหลมาตาม กระแสน้ำ ไม่ให้ไหลมาปะทะกับกระชังปลา ซึ่งอาจทำให้กระชังปลาเสียหายได้ สำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านสาธารณภัย ควรประสานไปยังหน่วยงานย่อยตามจังหวัดต่างๆ ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมรับมือสถานการณ์ระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น โดยจัดเตรียมกำลังคน วัสดุอุปกรณ์ เครื่องสูบน้ำ และจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ตรวจสอบข้อมูลพยากรณ์อากาศ เรดาร์ กลุ่มฝน ปริมาณน้ำในแม่น้ำทุกๆสายจาก กรมอุตุนิยมวิทยา กรมอุทกศาสตร์ และกรมชลประทานอย่างใกล้ชิด พร้อมระดมเจ้าหน้าที่เร่งจัดทำคันกันน้ำให้มีความแข็งแรง โดยขอความร่วมมือจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำให้พร้อม เพื่อระบายน้ำออกนอกพื้นที่ได้ทันท่วงทีเมื่อเกิดสถานการณ์ น้ำท่วมฉับพลัน ตลอดจนขุดลอกคูคลอง ทำความสะอาดท่อระบายน้ำ มิให้มีสิ่งกีดขวางการไหลหรือการระบายของน้ำลงสู่แม่น้ำลำคลอง ซึ่งจะทำให้สามารถระบายน้ำออกได้โดยสะดวก และช่วยลดปัญหาน้ำท่วมให้คลี่คลายได้ง่ายขึ้น สุดท้ายนี้ เพื่อป้องกันอันตรายจากภาวะน้ำล้นตลิ่ง ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำ ควรหมั่นติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด นำกระสอบทรายมาจัดทำคันกั้นน้ำ และตรวจสอบความแข็งแรงของ คันกั้นน้ำอย่างสม่ำเสมอ หากมีประกาศเตือนให้รีบขนย้ายสิ่งของไว้เหนือระดับที่น้ำท่วมถึงและอพยพ ไปอยู่ในที่สูงทันที รวมทั้งระมัดระวังอันตรายจากสัตว์มีพิษ นอกจากนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ควรติดตั้ง เครื่องสูบน้ำ ขุดลอกคูคลอง ท่อระบายน้ำ เพื่อระบายน้ำออกนอกพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ