ปภ. จัดสัปดาห์รณรงค์ สำรวจ ซ่อมและสร้างภาชนะเก็บน้ำประจำปี ๒๕๕๒

ข่าวทั่วไป Thursday January 8, 2009 16:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ม.ค.--ปภ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับ ๗๕ จังหวัดจัดกิจกรรมสัปดาห์รณรงค์ สำรวจ ซ่อมและสร้างภาชนะเก็บน้ำประจำปี ๒๕๕๒ ในระหว่างวันที่ ๗-๑๔ มกราคม ๒๕๕๒ เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกและความตระหนักในการใช้น้ำอย่างประหยัด โดยเน้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เป็นแกนนำในการดำเนินกิจกรรมสำรวจ ซ่อมแซม และจัดหาภาชนะเก็บน้ำให้เพียงพอ สำหรับอุปโภคบริโภคในช่วงภาวะขาดแคลนน้ำ นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ประเทศไทยมักประสบกับปัญหาภัยแล้งเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นฤดูร้อน ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้วันที่ ๗-๑๔ มกราคมของทุกปีเป็นสัปดาห์รณรงค์ สำรวจ ซ่อมและสร้างภาชนะเก็บน้ำประจำปี เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการจัดเตรียมภาชนะเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งอย่างเพียงพอ รวมทั้งสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนมีความตระหนักและเห็นคุณค่าของการใช้น้ำอย่างประหยัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสานให้จังหวัดดำเนินการจัดกิจกรรมสัปดาห์รณรงค์ สำรวจ ซ่อมและสร้างภาชนะเก็บน้ำประจำปี ๒๕๕๒ ระหว่างวันที่ ๗-๑๔ มกราคม ๒๕๕๒ โดยมุ่งเน้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเป็นแกนนำในการดำเนินกิจกรรมให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยแบ่งการจัดกิจกรรมเป็น ๓ ส่วน ดังนี้ การเตรียมการป้องกันภัยแล้ง ด้วยการสำรวจ ซ่อมแซมและทำความสะอาดภาชนะเก็บน้ำ แหล่งน้ำ ที่ใช้ในการอุปโภค บริโภคให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดี สำรวจ จัดทำบัญชีภาชนะเก็บน้ำและแหล่งน้ำในพื้นที่ ก่อสร้างและพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ จัดตั้งศูนย์แจกจ่ายน้ำ จัดหาภาชนะรองรับน้ำ จัดวางระบบการจัดสรรน้ำ สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์เก็บกักน้ำ รถบรรทุกน้ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอสำหรับใช้อุปโภค บริโภคในภาวะขาดแคลนน้ำ การสร้างจิตสำนึกและให้ความรู้ ด้วยการประชาสัมพันธ์การใช้น้ำอย่างประหยัดและตระหนักถึงคุณค่าของน้ำผ่านทางสื่อต่างๆในพื้นที่ การจัดนิทรรศการและการฝึกอบรม และการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชน ด้วยการจัดเจ้าหน้าที่สนับสนุนการซ่อมแซม ปรับปรุงและทำความสะอาดภาชนะเก็บน้ำ การประสานหน่วยงานต่างๆในการจัดเตรียมอุปกรณ์ไว้บริการในพื้นที่ประสบภัยแล้ง และประสานดำเนินการจัดทำฝนเทียมในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมสัปดาห์รณรงค์ สำรวจ ซ่อมและสร้างภาชนะเก็บน้ำดังกล่าว จะทำให้ประชาชนเกิดความตระหนักและเห็นคุณค่าของการใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า อันจะนำไปสู่ความร่วมมือกับภาครัฐในการสร้าง ซ่อมแซม ปรับปรุงและ ทำความสะอาดภาชนะเก็บน้ำรวมถึงแหล่งน้ำให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้อย่างเพียงพอในภาวะขาดแคลนน้ำปภ.แนะข้อปฏิบัติเพื่อป้องกันอุบัติภัยช่วงวันเด็ก วันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมเป็นวันเด็กแห่งชาติ หน่วยงานหลายแห่งทั้งภาครัฐและเอกชนได้จัดกิจกรรมเพื่อให้เด็กได้รับความรู้และความสนุกสนาน ซึ่งผู้ปกครองจำนวนมากต่างพาบุตรหลานไปร่วมกิจกรรมยังสถานที่ที่จัดงาน ท่ามกลางบรรยากาศที่สนุกสนานจากกิจกรรมนั้น หากผู้ปกครองขาดความระมัดระวังหรือประมาทเด็กก็อาจได้รับอันตรายจากการร่วมกิจกรรมเช่นกัน ดังนั้น เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยจึงมีข้อแนะนำเพื่อ ความปลอดภัยสำหรับผู้ปกครองที่จะพาเด็กไปร่วมงานวันเด็ก ดังนี้ สวนสนุก เป็นสถานที่ที่ผู้ปกครองนิยมพาเด็กไปเที่ยวเป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งหากขาดความระมัดระวัง เด็กก็อาจได้รับอันตรายจากเครื่องเล่นได้ ผู้ปกครองจึงควรอ่านป้ายข้อบังคับในการเล่นเครื่องเล่นแต่ละชนิดให้ละเอียดเพราะเครื่องเล่นแต่ละประเภทมีข้อจำกัดของผู้เล่น เช่น อายุ และความสูงที่แตกต่างกันไม่ควรให้เด็กเล่นเครื่องเล่นที่มีความเสี่ยงต่อการพลัดตก เช่น รถไฟตีลังกา เฮอริเคน เรือไวกิ้ง ผู้ปกครองควรดูแลการเล่นของเด็กอย่างใกล้ชิด หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ช่วยเหลือเด็กได้ทันท่วงที ควรสังเกตว่ามีเจ้าหน้าที่คอยดูแลความปลอดภัยในบริเวณเครื่องเล่นหรือไม่ ถ้ามี ควรพิจารณาความเอาใจใส่ของผู้ควบคุมเครื่องเล่นหากพิจารณาแล้วเห็นว่าปลอดภัย จึงให้เด็กเล่นได้ สวนน้ำ ไม่ควรปล่อยให้เด็กเล่นน้ำตามลำพัง ควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดและให้เด็กสวมเสื้อชูชีพทุกครั้งที่ลงเล่นน้ำและให้เด็กลงเล่นน้ำในบริเวณที่มีผู้ดูแล ห้ามปล่อยให้เด็ก ลงเล่นน้ำในบริเวณน้ำลึกหรือปล่อยให้เด็กเล่นน้ำโดยลำพังอย่างเด็ดขาด รวมทั้งห้ามไม่ให้เด็กไปเล่นน้ำใกล้เครื่องเล่นประเภทสไลเดอร์เพราะอาจถูกแขนหรือขาของผู้เล่นที่ไถลตัวลงมาจากเครื่องเล่นกระแทกถูกได้ นอกจากนี้ ในบริเวณสวนน้ำยังมีอุบัติเหตุอื่นๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น วิ่งเล่นบนสระแล้วหกล้ม กระโดดน้ำแล้วหัวชนสระหรือคนที่อยู่ในน้ำหัวกระแทกขอบสระ เป็นตระคริว เป็นต้น ซึ่งผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิดเช่นกัน สวนสัตว์ ผู้ปกครองควรปฏิบัติตามคำแนะนำที่ติดไว้บริเวณกรงสัตว์ โดยไม่ให้เด็กยื่นหน้าหรืออวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดเข้าไปใกล้กรงสัตว์ เพราะอาจถูกสัตว์ทำร้ายได้ รวมถึงห้ามไม่ให้เด็กปีนขึ้นไปบนราวเหล็กหรือบริเวณขอบบ่อที่เป็น ที่อยู่ของสัตว์บางประเภทเพื่อชมสัตว์เพราะเด็กอาจพลัดตกได้ รวมทั้งไม่ให้เด็กเกาะหรือปีนบนกรงสัตว์โดยผู้ปกครองควรอุ้มเด็กเพื่อให้เด็กเห็นสัตว์ได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ตามสถานที่ต่างๆมักคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่พาเด็กไปเที่ยวหรือไปร่วมกิจกรรม ซึ่งมีโอกาส ที่จะพลัดหลงได้ ผู้ปกครองควรกำหนดจุดสำคัญที่สังเกตเห็นได้ง่าย เช่น ลานน้ำพุ หอนาฬิกา ชิงช้าสวรรค์ เป็นต้น เป็นจุดนัดพบกรณีที่เกิดการพลัดหลง และควรเขียนชื่อที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ใส่กระเป๋าเสื้อหรือกางเกงของเด็กไว้เพื่อที่ว่าเจ้าหน้าที่จะได้พาส่งผู้ปกครองได้อย่างถูกต้อง รวมถึงการระมัดระวังเรื่องอุบัติเหตุทางถนนที่อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ