เทเลนอร์เจาะลึกเทรนด์การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของคนรุ่นใหม่ในประเทศไทย

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday January 20, 2009 15:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน - หน่วยงานค้นคว้าวิจัยของเทเลนอร์เผยผลการสำรวจที่จัดทำขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเป็นการศึกษาเบื้องลึกเกี่ยวกับการที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของคนหนุ่มสาวในประเทศไทย - การคุยทางโทรศัพท์เป็นที่นิยมมากกว่าการส่งข้อความ ทั้งนี้ จำนวนประชากรในประเทศไทยที่นิยมการคุยทางโทรศัพท์มากกว่าการส่งข้อความทางเอสเอ็มเอส มีสูงกว่าประเทศอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด - 49% ของคนหนุ่มสาวในประเทศไทยนิยมเปลี่ยนโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องใหม่เพื่อให้ไม่ตกกระแสนิยม - กระแสติดโทรศัพท์เคลื่อนที่ — คนรุ่นใหม่ในไทยใช้จ่ายเงินประมาณ 15% จากรายรับประจำเดือนทั้งหมดไปกับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนค่าใช้จ่ายที่มากที่สุดรองลงมาจากค่าอาหาร ศูนย์การวิจัยและคิดค้นนวัตกรรมของเทเลนอร์แห่งเอเชียแปซิฟิค (TRICAP) เผยผลการสำรวจที่ทางศูนย์ฯ จัดทำขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในด้านพฤติกรรมการสื่อสารเคลื่อนที่และการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย การสำรวจครั้งนี้ ซึ่งมุ่งไปที่การศึกษากลุ่มคนวัยหนุ่มสาว ได้เผยให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีต่อคนรุ่นใหม่ในประเทศไทย และยังให้ข้อมูลเบื้องลึกที่น่าสนใจทางวัฒนธรรมว่าคนไทยมีพฤติกรรมการใช้และตอบสนองต่อโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างไร การวิจัยสำรวจของ TRICAP ในประเทศไทยเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท Synovate ผลการสำรวจปัจจุบันรวบรวมมาจากการสัมภาษณ์คนไทยอายุระหว่าง 15 ถึง 29 ปี จำนวน 1,148 คนที่อาศัยอยู่ในเมือง วิธีการสำรวจครั้งนี้ได้ครอบคลุมถึงการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งช่วยให้เข้าใจทัศนคติของคนไทยวัยหนุ่มสาวได้ลึกซึ้งและกว้างขวางในทุกๆ มิติที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารแบบเคลื่อนที่และแบบดิจิตอล เทรนด์ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งซึ่งปรากฎเด่นชัดในผลสำรวจครั้งนี้คือ คนไทยรุ่นใหม่นิยมที่จะสื่อสารกับเพื่อนทางเสียงมากกว่าการส่งข้อความทางเอสเอ็มเอส ในประเทศไทย มีการส่งข้อความทางเอสเอ็มเอสโดยเฉลี่ยแค่ 3 ข้อความต่อวัน ในขณะที่ประเทศมาเลเซียมีการส่งข้อความโดยเฉลี่ย 18 ข้อความต่อวัน ในประเทศปากีสถาน 6 ข้อความต่อวัน และในประเทศบังคลาเทศ 5 ข้อความต่อวัน นอกจากนี้ 93% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดกล่าวว่า พวกเขาชอบที่จะคุยทางโทรศัพท์มากกว่าการส่งเอสเอ็มเอส เยนส์ โอลาฟ บยอร์นสัน อธิบายว่า “การที่คนไทยนิยมบทสนทนาทางโทรศัพท์มากกว่าการส่งข้อความชี้ให้เห็นว่าคนหนุ่มสาวในประเทศไทยมีความรู้สึกใกล้ชิดและเป็นหนึ่งเดียวกัน นี่เป็นข้อพิสูจน์ว่าหนุ่มสาวชาวไทยเห็นคุณค่าของการปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดทางเสียง มากกว่าวิธีที่ค่อนข้างห่างเหินอย่างการสื่อสารกันทางการส่งข้อความ ซึ่งวิธีนี้เป็นที่นิยมมากในหมู่คนรุ่นใหม่ของประเทศอื่นๆ” การสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นชัดว่า แฟชั่นเป็นปัจจัยที่คนไทยรุ่นใหม่ให้ความสำคัญอย่างมากในการเลือกซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากกล่าวว่าพวกเขามองหาโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบที่ช่วยให้พวกเขาดูโดดเด่นแตกต่างจากเพื่อน โดย 50% ยังกล่าวอีกว่า มีความคิดจะเปลี่ยนโทรศัพท์เป็นรุ่นที่ดีขึ้นภายใน 6 เดือนจากนี้ ระยะเวลาโดยเฉลี่ยที่ผู้ตอบแบบสอบถามใช้งานและเก็บโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นที่ใช้อยู่ปัจจุบันไว้ คือ 1.52 ปี และเหตุผลหลักในการเปลี่ยนโทรศัพท์เครื่องใหม่คือ “โทรศัพท์เครื่องเก่าล้าสมัยแล้ว” (49%) การสำรวจครั้งนี้เผยให้เห็นชัดเจนว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่มีอิทธิพลกับคนไทยวัยหนุ่มสาว โดยค่าใช้จ่ายที่มากที่สุดเป็นอันดับสองคือค่าโทรศัพท์มือถือ (คิดเป็น 15.07% ของรายได้ต่อเดือน) ซึ่งรองลงมาจากค่าอาหาร (32.67%) เพียงอย่างเดียวเท่านั้น และยังมากกว่าค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ การศึกษาเพิ่มเติมแสดงให้เห็นว่าคนไทยวัยหนุ่มสาวตอบรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างกระตือรือร้น โดย 78% เชื่อว่าเทคโนโลยีช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น และ 67% เชื่อว่าเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญของชีวิต ในการศึกษาระดับภูมิภาค คนไทยวัยหนุ่มสาวจัดอยู่ในกลุ่มที่ก้าวหน้ามากที่สุดในการรับเทคโนโลยีใหม่ โดยคนไทยรุ่นใหม่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในด้านอื่นๆ ที่มากกว่าแค่เพื่อการสื่อสาร 52% ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อเล่นเกมส์ 29% เพื่อฟังเพลง และ 55% เพื่อการแบ่งปันข้อมูลผ่านเทคโนโลยีบลูทูธ นอกจากนี้ 16% ยังบอกว่าใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อสื่อสารกับรายการโทรทัศน์ ทั้งการโทรศัพท์ไปและการส่งข้อความเพื่อโหวตให้แก่รายการเรียลลิตี้โชว์ “คนหนุ่มสาวในเอเชียเป็นกลุ่มที่ตอบรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เร็ว และมีรูปแบบการพัฒนาที่คล้ายกับคนหนุ่มสาวในยุโรปตะวันตก” นายเยนส์ โอลาฟ บยอร์นสัน กรรมการผู้จัดการของ TRICAP กล่าว “โดยทั่วไปคนรุ่นใหม่ชอบความท้าทายและชอบที่จะทดลองอุปกรณ์รุ่นใหม่ล่าสุด นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ยังอาจจะช่วยสอนหรือชักชวนผู้ปกครอง ลุง ป้า น้า อา หรือแม้แต่คุณปู่คุณย่า ให้มาทดลองเทคโนโลยีใหม่ๆ นี่จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราควรจะเข้าใจว่าคนหนุ่มสาวในภูมิภาคนี้มีพฤติกรรมการสื่อสารเคลื่อนที่อย่างไร การค้นคว้าวิจัยของ TRICAP ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่เทเลนอร์ ซึ่งช่วยให้บริษัทต่างๆ ในกลุ่มบริษัทเทเเลนอร์ อย่างดีแทคในประเทศไทย สามารถนำเสนอสินค้าและบริการใหม่ๆ เพื่อผู้บริโภค” นายเยนส์กล่าวเสริม การสำรวจครั้งนี้ยังเป็นการศึกษาว่าคนหนุ่มสาวของไทยมีพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีออนไลน์อย่างไร เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ที่ได้รับการสัมภาษณ์กล่าวว่า พวกเขาเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นประจำ (ประมาณ 20 วันต่อเดือน) โดยห้าอันดับแรก เป็นไปเพื่อการอ่านข่าวความเป็นไปในปัจจุบัน รับส่งอีเมล์ ท่องเว็บไซต์ เล่มเกมส์ออนไลน์ และดาวน์โหลดเพลง ท้ายที่สุด การสำรวจยังครอบคลุมถึงพฤติกรรมการเข้าสังคมออนไลน์ (social networking) ของคนหนุ่มสาวในประเทศไทย เหตุผลหลักของการเข้าเว็บไซต์สังคมออนไลน์ก็คือเพื่อแบ่งปันข้อมูลกับผู้ติดต่อคนอื่นๆ โดยผู้ตอบแบบสอบถามคิดว่าเครื่องมือออนไลน์เป็นหนทางที่ดีในการหาเพื่อนซึ่งมีความสนใจตรงกัน คนจำนวนมากเห็นว่าสังคมออนไลน์เป็นกิจกรรมสำหรับยามว่างและเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมทักษะทางคอมพิวเตอร์ โดยผู้ตอบแบบสอบถามท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า “ผมเห็นว่าน่าสนุกดี เลยขอให้เพื่อนช่วยสอนวิธีเล่นให้หลังเลิกเรียน” เหตุผลต่างๆ ในการเข้าร่วมสังคมออนไลน์ได้แก่ “เป็นวิธีที่ช่วยให้ใกล้ชิดกับเพื่อนที่ไม่ค่อยได้เจอหน้ากันบ่อยมากขึ้น” และ “ฉันอัพโหลดรูปเวลาที่ไปเที่ยวต่างจังหวัดขึ้น MySpace เพื่อนๆ จะได้เห็นว่าฉันเป็นอย่างไรและไปทำอะไรมาบ้าง” เหตุผลที่ได้จากกลุ่มคนส่วนน้อยที่เข้าร่วมการสำรวจ ซึ่งไม่เข้าใช้เว็บไซต์สังคมออนไลน์ ได้แก่ “ยุ่งยากซับซ้อนเกินไป” ชายหนุ่มคนหนึ่งยังบอกว่า “นี่ (สังคมออนไลน์) เป็นเรื่องที่ผู้หญิงเขาทำกัน ผู้ชายอย่างเราๆ ไม่ชอบเขียนอะไรเล็กๆ น้อยๆ” ผลการสำรวจอื่นๆ ผู้ร่วมทำการสำรวจครั้งนี้กล่าวถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ว่าเป็น: - ส่วนหนึ่งในชีวิต: “มือถือเป็นมากกว่าโทรศัพท์ — มือถือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตฉัน” - สิ่งที่เชื่อมมิตรภาพ: “เวลาที่ฉันเหงา ฉันจะหยิบมือถือออกมาและไล่ดูรายชื่อในโทรศัพท์ว่ามีใครจะว่างคุยด้วยไหม” - ความปลอดภัย: “ในปัจจุบันมีอันตรายมากมาย พอมีมือถืออยู่กับตัวฉันจะรู้สึกอุ่นใจมากขึ้น” - ความบันเทิง: “ถ้าฉันเกิดเบื่อ ฉันก็เล่นเกมส์หรือฟังเพลงในมือถือ” - เลขาส่วนตัว: “มือถือเป็นเหมือนเลขาของฉัน (ในกลุ่มคนทำงาน) — ฉันจดหมายนัดในโทรศัพท์และเก็บข้อมูลติดต่อของเพื่อนร่วมงานด้วย บางครั้งก็ใช้มือถือดาวน์โหลดอีเมล์ที่เกี่ยวกับงาน” ฟังก์ชั่นเสริมของโทรศัพท์เคลื่อนที่ - ฟังก์ชั่นที่สำคัญที่สุดและจำเป็นต้องมี คือเล่นเกมส์ (85%) รองลงมาคือสามารถเล่น MP3 ได้ (75%) - ฟังก์ชั่นข้อมูลของโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งกลุ่มสำรวจเพศชาย อายุระหว่าง 18-24 ปี ใช้งานเป็นประจำ ได้แก่ การใช้เช็คข้อมูล “เร่งด่วน” อย่างผลฟุตบอล เหตุผลส่วนใหญ่ในการส่งข้อความเอสเอ็มเอส - “เพื่อทักทาย” (87%) - “เมื่อโทรไปแล้วติดต่อไม่ได้” (45%) - “วางแผนจะแช็ตออนไลน์กับเพื่อน” (21%) - “เพื่อเช็คว่าแฟนทำอะไรอยู่” (17%) เทเลนอร์ เทเลนอร์ คือ หนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการด้านโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดในโลกและหนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการการสื่อสารเคลื่อนที่ทั่วโลกซึ่งเติบโตเร็วที่สุด และเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการทีวี บรอดแบนด์ และโทรศัพท์รายใหญ่ที่สุดในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย เทเลนอร์ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดและก้าวหน้าที่สุดในโลก บริษัทให้บริการในกว่า 12 ประเทศโดยมีลูกค้ารวมกว่า 159 ล้านราย ในเอเชีย เทเลนอร์ให้บริการในนาม ดิจิ (มาเลเซีย) ดีแทค (ไทย) แกรมีนโฟน (บังคลาเทศ) และเทเลนอร์ปากีสถาน ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาเข้าชม www.telenor.com ดีแทค บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น มหาชน จำกัด หรือดีแทค เป็นหนึ่งในผู้นำการให้บริการด้านโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศไทย ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2532 ดีแทคมีบทบาทสำคัญในตลาดการสื่อสารทางไกลแบบเคลื่อนที่ในประเทศ ซึ่งได้รับการยอบรับในฐานะแบรนด์ชั้นนำและมีส่วนแบ่งการตลาดที่ดี ดีแทคนำเสนอบริการต่างๆ ที่มีคุณภาพ คุ้มค่า และสร้างสรรค์แก่ลูกค้าอยู่ตลอด ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ: Esben Tuman, Communications Director, Telenor Asia Phone: +66 85 918 4111, e-mail: esben@telenor.com ศุภาดา ชัยวงษ์ บริษัท ฮิลล์แอนด์นอลตัน ประเทศไทย โทร. 0 2627 3501 ต่อ 209 อีเมล์ sjaidee@th.hillandknowlton.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ