ประชากรไทยกว่า 4.4 ล้านคนมีความเสี่ยงสูงต่อมลพิษทางน้ำ

ข่าวทั่วไป Friday March 20, 2009 17:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--กรีนพีซ กรีนพีซเปิดเผยรายงานพื้นที่และแหล่งน้ำที่เสี่ยงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำในประเทศไทย ระบุประเทศไทยมีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำมากกว่าร้อยละ 92.68 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยเป็นพื้นที่เสี่ยงในระดับสูงร้อยละ 6.87 ของพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด และโดยเฉลี่ยอาจสามารถส่งผลกระทบต่อประชากรได้มากถึง 4,440,049 คน รายงาน “พื้นที่และแหล่งน้ำที่เสี่ยงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำในประเทศไทย” เป็นการศึกษาโดยกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้วิธีการบูรณาการเทคนิคทางด้าน GIS และความรู้ทางด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อวิเคราะห์หาพื้นที่และแหล่งน้ำที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำ (1) ผลการศึกษาพบว่าจังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงในระดับสูงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร ชลบุรี และระยอง “ปัญหาการเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษทางน้ำ การใช้สารเคมีทั้งในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม และปริมาณความหนาแน่นของประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดวิกฤตมลพิษทางน้ำ (2) บริเวณที่มีความเสี่ยงในระดับสูงส่วนใหญ่พบบริเวณที่มีความเป็นเมืองและอุตสาหกรรมสูง แม้จะเป็นอัตราส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับพื้นที่ทั้งประเทศ แต่กลับส่งผลกระทบสูง เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น” นายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว การศึกษาได้แบ่งระดับความเสี่ยงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำเป็น 4 ระดับคือ ความเสี่ยงสูง ปานกลาง ต่ำ และไม่มีความเสี่ยง ข้อมูลศึกษาตามรายภาคพบว่า ภาคตะวันออกมีสัดส่วนพื้นที่เสี่ยงในระดับสูงมากที่สุดคือ ร้อยละ 35.64 ของพื้นที่ทั้งหมด รองลงมาคือภาคกลาง ร้อยละ 15.89 ของพื้นที่ทั้งหมด ทั้งนี้กว่าร้อยละ 99 ของหมู่บ้านในประเทศไทยที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้แหล่งน้ำ มีความเสี่ยงจากมลพิษทางน้ำ ในจำนวนดังกล่าว พบความเสี่ยงในระดับสูงมีมากถึงร้อยละ 41.64 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประชากรเฉลี่ยมากถึง 4,440,049 คน ในรายงานการศึกษายังระบุว่าจังหวัดระยองมีพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำในระดับสูงมากถึงร้อยละ 97.78 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด มีหมู่บ้านที่ได้รับความเสี่ยงในระดับสูง 302 แห่งหรือคิดเป็นร้อยละ 78.44 ของหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหามลพิษทางน้ำ ส่งผลกระทบต่อประชากรได้ถึง 454,551 คน ดังนั้นการประกาศบริเวณอุตสาหกรรมในจังหวัดระยองเป็นเขตควบคุมมลพิษ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและควรเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน สำหรับแหล่งน้ำที่มีความเสี่ยงในระดับสูงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำ พบในภาคกลาง 7 สาย ภาคตะวันออก 8 สาย ภาคเหนือ 14 สายและแหล่งน้ำนิ่ง 2 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14 สายและแหล่งน้ำนิ่ง 5 แห่ง ในจำนวนดังกล่าวนี้ มีแหล่งน้ำหลายแห่งที่ปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่าพบปัญหาด้านคุณภาพแหล่งน้ำ แต่มีความเสี่ยงในระดับสูงที่อาจเกิดปัญหามลพิษทางน้ำได้ในอนาคต “แหล่งน้ำที่มีความเสี่ยงในระดับสูงล้วนเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญมากของประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประเทศ นอกจากนี้ปริมาณน้ำจืดต่อคนของคนไทยมีน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน กรีนพีซจึงเรียกร้องให้รัฐบาลลงมือแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำอย่างจริงจัง เพื่อปกป้องแหล่งน้ำของประเทศให้ปราศจากมลพิษ” นายพลายกล่าวเพิ่มเติม หมายเหตุ (1) ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่ http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/water-pollution-risk-areas-thailand ดาวน์โหลดรายงานฉบับย่อได้ที่ http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/water-pollution-risk-areas-thailand-briefing (2) ผลศึกษาพบปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดมลพิษทางน้ำทั้งสิ้น 12 ปัจจัย และเมื่อผ่านกระบวนการวิเคราะห์แบบหลายตัวแปร (Multi-Criteria Analysis: MCA) ทำให้ทราบความสำคัญของแต่ละปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดมลพิษทางน้ำ โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดมลพิษทางน้ำมากที่สุด 6 อันดับแรก คือ 1) ความลาดชันของพื้นที่ 2) โรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษทางน้ำ 3) พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก 4) ปริมาณการใช้สารเคมีเกษตร และ 5) ปริมาณสารเคมีที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และ 6) ความหนาแน่นประชากร ตามลำดับ (3) ภาคกลาง ได้แก่ แม่น้ำนครชัยศรี แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำลัดเกร็ด แม่น้ำสุพรรณบุรี ภาคตะวันออก ได้แก่ แม่น้ำพระปรง แม่น้ำหนุมาน ภาคเหนือ ได้แก่ น้ำแม่แจ่ม น้ำแม่ฝาง แม่น้ำสะแกกรัง แม่น้ำแม่ลาว แม่น้ำแม่แตง เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิตติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ แม่น้ำชี แม่น้ำโขง แม่น้ำสงคราม ลำชี ลำเชิงไกร ลำโดมใหญ่ ลำปลายมาศ ลำพระเพลิง ลำมูลน้อย ลำตะคองเก่า ห้วยหลวง เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำปาว เขื่อนอุบลรัตน์ ภาคใต้ ได้แก่ แม่น้ำปากพนัง ทะเลน้อย คือ เขื่อนปัตตานี ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ พลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โทร. 081-658-9432 วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน โทร 089-487-0678

แท็ก กรีนพีซ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ