น.ศ. ปริญญาโทมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ทึ่งงานวิจัยท้องถิ่นไทย บินมาดู “ประตูน้ำแพรกหนามแดง” ของจริงที่สมุทรสงคราม

ข่าวทั่วไป Wednesday May 13, 2009 16:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--สกว. ระหว่างวันที่ 12-13 พฤษภาคม 2552 คณะอาจารย์และนักศึกษาปริญญาโทจำนวนทั้งสิ้น 58 คนจากคณะ Lee Kuan Yew School of Public Policy ซึ่งสอนทางด้านนโยบายสาธารณะและการบริหารงานภาครัฐ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ นำโดยนางสาวอรอร ภู่เจริญ อาจารย์ประจำคณะ ได้เดินทางมาเยี่ยมชมและดูงานโครงการรูปแบบการจัดการน้ำในคลองตำบลแพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ซึ่งเป็นงานที่ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้การสนับสนุน นักศึกษาปริญญาโทในหลักสูตรนี้ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการระดับกลาง หรือทำงานภาครัฐหรือ เอ็นจีโอที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ การเดินทางมาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรที่กำหนดให้นักศึกษาได้เรียนรู้การบริหารงานภาครัฐนอกห้องเรียน และเป็นครั้งแรกที่ทางคณะพานักศึกษามาประเทศไทย โดยเลือกมาดูการบริหารจัดการน้ำ เพราะรัฐบาลสิงคโปร์กำลังให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก “เมื่อเร็วๆ นี้คณะของเราเพิ่งจัดตั้ง Institute of Water Policy เพื่อเป็นแหล่งความรู้เรื่องน้ำซึ่งทั่วโลกต้องการมาก พอดีเราได้ทราบปัญหาที่เกิดขึ้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 12 พ.ค. จึงพานักศึกษามาพบกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และได้เห็นรูปแบบการแก้ปัญหาการจัดการน้ำในคลองที่ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยมีความขัดแย้งกันระหว่างชาวบ้านฝั่งน้ำจืดกับฝั่งน้ำเค็ม แล้วใช้กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นเข้าไปจัดการจนเกิดรูปแบบประตูระบายน้ำที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนทั้งสองฝั่ง” นางสาวอรอร กล่าว นางสาวอรอรกล่าวว่า นักศึกษาในหลักสูตรนี้มาจากหลากหลายประเทศ อาทิ จีน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม ยูกันดา พิจิ เกาะซีเชลส์ ภูฏาน บรูไน มาเลเซีย มัลดีฟส์ เนปาล ปาปัวนิวกินี ศรีลังกา แซมเบีย พม่า มองโกเลีย ดังนั้นคิดว่า สิ่งที่เรียนรู้ร่วมกัน การเห็นว่า งานวิจัยท้องถิ่นเป็นเครื่องมือสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน พร้อมทั้งได้แนวคิดและแรงบันดาลใจจากการนำเสนอของผู้นำชุมชนที่มีความชัดเจนและมุ่งมั่นในแนวทางการทำงานมาก ต่อมาวันที่ 13 พ.ค. นักศึกษาได้รับฟังการบรรยายเรื่องงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นของ สกว. จากศาสตราจารย์ ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง อดีตผู้อำนวยการ สกว. โดยนักศึกษาให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ได้ซักถามปัญหาต่างๆ เช่น เกณฑ์การอนุมัติโครงการ วิธีการทำงานและติดตามโครงการ งบประมาณที่ใช้ ความคาดหวัง และการวัดประสิทธิภาพโครงการ ซึ่งศาสตราจารย์ ดร. ปิยะวัติได้กล่าวตอบพอสรุปได้ว่า งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นงานระดับท้องถิ่น ที่มุ่งแก้ปัญหาของท้องถิ่นนั้นๆ โดยชาวบ้านต้องเป็นผู้วางแผนและลงมือแก้ปัญหาเองโดยใช้ข้อมูล ความรู้ และข้อเท็จจริง และ สกว. มีเจ้าหน้าที่ซึ่งเรียกว่า “พี่เลี้ยงนักวิจัย” คอยหนุนเสริม โครงการเหล่านี้ใช้เงินโครงการไม่กี่หมื่นบาท แต่ผลที่ได้คือ ทำให้ชาวบ้านเกิดความรู้และประสบการณ์ สามารถแก้ปัญหาของตนเองได้เองโดยไม่หวังพึ่งแต่หน่วยงานรัฐ สกว. เชื่อว่า เมื่อโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นขยายผลไปได้ประมาณ 5% ของ 80,000 หมู่บ้านทั่วประเทศหรือราว 4,000 หมู่บ้าน จะทำให้เสียงของชุมชนเข้มแข็งและมีพลังมากในการจะสะท้อนไปสู่ผู้กำหนดนโยบายตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มมีการบูรณาการงานท้องถิ่นเข้ากับการพัฒนาเชิงพื้นที่ระดับจังหวัดบ้างแล้ว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ ฉัตร์ทิพย์ ภูสกูล เจ้าหน้าที่สื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โทร. (02) 278 - 8298 แฟ็กซ์ (02) 298 - 0454 อีเมล์ : chatthip@trf.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ