การลงทุนครึ่งปี 2553 ขยายตัวทุกกลุ่ม เงินลงทุนเฉียด 2 แสนล้าน บีโอไอเผย ยังมีโครงการลงทุนจ่อคิวยื่นขอลงทุนอีก 9 หมื่นล้านบาท

ข่าวทั่วไป Friday July 9, 2010 17:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--บีโอไอ บีโอไอเผยยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนช่วงครึ่งปี 2553 ขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มอุตสาหกรรม จำนวนโครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.3 และมีมูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 192,400 ล้านบาท ส่วนการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศนักลงทุนจากญี่ปุ่น สเปน สิงคโปร์ และจีน เดินหน้าขยายการลงทุนในไทย เลขาธิการบีโอไอเผย ยังมีโครงการลงทุนจำนวนมากที่เตรียมยื่นขอรับส่งเสริมอีกประมาณ 90,000 ล้านบาท นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยถึงภาวะ การลงทุนในช่วงครึ่งปี 2553 (ม.ค. — มิ.ย.53) ว่า มีโครงการลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 632 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.3 เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปี 2552 ซึ่งมีจำนวน 432 โครงการ ส่วนมูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 192,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 ซึ่งมีมูลค่า 179,000 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อศักยภาพการเป็นแหล่งลงทุนของประเทศไทย “ จำนวนโครงการที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 มีอัตราเฉลี่ยเดือนละ 105 โครงการ ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยรายเดือนของปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ 72 โครงการต่อเดือน แสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมเป็นต้นมา ยังไม่ส่งผลกระทบที่ชัดเจนต่อการลงทุนในระยะนี้ ” เลขาธิการบีโอไอกล่าว ทั้งนี้ สถิติการขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งหมด โดยกลุ่มอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภคยื่นขอรับส่งเสริมมากที่สุด มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 85,100 ล้านบาท มีโครงการที่สำคัญ ได้แก่โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ เชื้อเพลิงชีวมวล พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ อันดับที่สองคือ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน มีมูลค่าลงทุนรวม 26,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วกว่า 6 เท่า เพราะมีโครงการลงทุนผลิตเหล็กรีดร้อน มูลค่าเงินลงทุนกว่า 22,000 ล้านบาท อันดับสามคือ อุตสาหกรรมโลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 23,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 85 โครงการสำคัญ ได้แก่ กิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และยางรถยนต์ รวม 20 โครงการ อันดับสี่อุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่าการลงทุนรวม 22,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 55 มีโครงการลงทุนที่สำคัญได้แก่ กิจการผลิตน้ำมันพืช กิจการผลิตอาหารสัตว์ และกิจการอบพืชไซโล ส่วนอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กระดาษและพลาสติก อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมเบา ก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีมูลค่าเงินลงทุน 16,600 ล้านบาท 13,700 ล้านบาท และ 4,700 ล้านบาท ตามลำดับ “จากกิจกรรมชักจูงการลงทุนและติดตามนักลงทุนอย่างใกล้ชิด นักลงทุนรายเดิมยังมีแผนที่จะขยายการลงทุนในไทย รวมทั้งรายใหม่ที่ยังไม่เคยมีการลงทุนคาดว่าจะมีโครงการยื่นขอส่งเสริมในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมีมูลค่าเงินลงทุนอีกประมาณ 90,000 ล้านบาท ” นางอรรชกากล่าว สำหรับการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI (Foreign Direct Investment) ที่ยื่นขอส่งเสริม การลงทุนในช่วงครึ่งปีนี้ พบว่ามีจำนวน 375 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 98,332 ล้านบาท สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 96 ซึ่งมีมูลค่า 49,980 ล้านบาท โดยปัจจัยหลักมาจากการที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว และนักลงทุนต่างชาติยังเชื่อมั่นในประเทศไทย ทั้งนี้ นักลงทุนจากญี่ปุ่นยังคงเป็นนักลงทุนที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด 150 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 38,638 ล้านบาท ขยายตัวเกือบ 2 เท่า เมื่อเทียบกับมูลค่าเงินลงทุนของญี่ปุ่นในช่วงเดียวกันปี 2552 โดยโครงการขนาดใหญ่จากญี่ปุ่นที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนได้แก่ กิจการผลิตชิ้นส่วนฮาร์ด ดิสก์ ไดรฟ์ และกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ รองลงมาคือการลงทุนจากสเปน มีมูลค่า 22,000 ล้านบาท อันดับสามคือสิงคโปร์ มีมูลค่าเงินลงทุน 8,299 ล้านบาท ตามด้วยการลงทุนจากจีน มีมูลค่าเงินลงทุน 6,980 ล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ