“ทียูเอฟ” โชว์กำไรและยอดขายดอลลาร์ 6 เดือนแรกสูง 6% และ 3%

ข่าวทั่วไป Monday August 2, 2010 11:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ ทียูเอฟ แจงผลการดำเนินงานภาพรวมช่วง 6 เดือนแรกปี 2553 สามารถเดินหน้าทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง โชว์กำไรเพิ่มขึ้น 6% ขณะที่ยอดขายรูปดอลลาร์ก็เติบโตขึ้น 3% จากการขยายฐานผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะสินค้ามูลค่าเพิ่ม ประกอบกับบริษัทย่อยที่ต่างประเทศมีการเติบโตที่ดีทุกบริษัท ทั้งนี้บริษัทยังมั่นใจแนวทางการบริหารจัดการที่ดำเนินการ สามารถสร้างการเติบโตให้กับบริษัทได้อย่างยั่งยืน นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือทียูเอฟ ผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งและบรรจุกระป๋องรายใหญ่ของไทยเผยว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 บริษัทสามารถทำกำไรสุทธิได้เท่ากับ 1,704 ล้านบาท สูงถึง 6% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 6 เดือนแรกของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,608 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 1.93 บาท เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่เท่ากับ 1.82 บาท ขณะที่รายได้จากการขายในช่วง 6 เดือนแรกนั้น บริษัทมีรายได้ในรูปเงินเหรียญสหรัฐเท่ากับ 1,026 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มียอดขายเท่ากับ 996 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนรายได้จากการขายในรูปเงินบาทช่วง 6 เดือนแรกเท่ากับ 33,421 ล้านบาท ลดลง 4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 34,861 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากตัวเลขผลประกอบการรวมในครึ่งปีแรก จะเห็นว่า บริษัทยังสร้างอัตราการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนของกำไรและยอดขายรูปเงินเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับช่วง 6 เดือนแรกของปีก่อน ทั้งนี้เป็นเพราะกลยุทธ์การขยายฐานสินค้ามูลค่าเพิ่มที่มากขึ้น ประกอบกับบริษัทย่อยในต่างประเทศมีผลการดำเนินงานที่ดี สามารถทำกำไรได้ดีในช่วงที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะต้องเผชิญราคาวัตถุดิบที่ผันผวนทั้งราคาปลาทูน่า และราคากุ้ง รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นถึง 7% เมื่อเทียบกับช่วง 6 เดือนแรกของปีก่อน และสำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2553 นั้น นายธีรพงศ์ กล่าวต่อว่า ยอดขายในรูปเงินเหรียญสหรัฐยังมีอัตราการเติบโตที่ต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้น 6% จาก 497 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2552 เป็นเท่ากับ 529 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2553 ส่วนยอดขายในรูปของเงินบาท บริษัทมียอดขายเท่ากับ 17,092 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับยอดขายของปีก่อนที่ทำได้ 17,195 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิในไตรมาส 2 นี้ มีกำไรเท่ากับ 873 ล้านบาท ลดลง 9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปี 2552 ที่มีกำไรสุทธิเท่ากับ 955 ล้านบาท จากตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 2 ที่ออกมา จะเห็นว่า ยอดขายรูปเงินเหรียญสหรัฐยังมีการเติบโตที่ดี แต่เนื่องจากปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จึงส่งผลให้ยอดขายรูปเงินบาทในไตรมาส 2 นี้ลดลง แต่ก็ลดลงเพียงแค่เล็กน้อย ส่วนกำไรสุทธิที่ลดลงในไตรมาสนี้ เหตุผลมาจากราคาวัตถุที่ปรับตัวสูงขึ้น จึงส่งผลต่อมาร์จิ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายตัดบัญชีต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการขายโรงงานที่อเมริกันซามัวให้กับรัฐบาลซามัว ซึ่งถ้าไม่มีภาระในส่วนนี้เกิดขึ้น กำไรในไตรมาส 2 นี้จะถึงระดับ 900 ล้านบาท นอกจากนี้เมื่อพิจารณากำไรสุทธิในไตรมาส 1/2553 เปรียบเทียบจะเห็นว่า ในไตรมาส 1 ทำได้ 831 ล้านบาท แต่ในไตรมาส 2 นี้ บริษัททำได้เท่ากับ 873 ล้านบาท ซึ่งมากกว่า 5% ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ดี อย่างไรก็ดี สำหรับการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในช่วงครึ่งปีแรกนี้ บริษัทยังมีนโยบายเดิมคือ การจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิ สำหรับสัดส่วนยอดขายผลิตภัณฑ์ในไตรมาส 2 นี้ ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ายังคงครองสัดส่วนยอดขายมากที่สุดจากผลิตภัณฑ์ทั้งหมดคือ 39% รองลงมาได้แก่ กุ้งแช่แข็ง 24% อาหารแมวบรรจุกระป๋อง 9% อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง 8% ขายในประเทศ 7% อาหารกุ้ง 7% ปลาซาร์ดีนและแมคเคอเรลบรรจุกระป๋อง 3% และปลาหมึก/ปลาแซลมอนแช่แข็ง 3% โดยตลาดส่งออกหลักอันดับแรกอยู่ที่ สหรัฐอเมริกา 49% รองลงมาคือ สหภาพยุโรป 12% ญี่ปุ่น 12% ขายในประเทศ 12% อัฟริกา 5% ออสเตรเลีย 3% เอเชีย 3% ตะวันออกกลาง 2% อเมริกาใต้ 1% และแคนาดา 1% ปัจจัยที่ท้าทายสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 6 เดือนแรกนี้คือ เรื่องของค่าเงิน และราคาวัตถุดิบ สถานการณ์ราคาวัตถุดิบในปีนี้ ค่อนข้างผันผวนกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา ทั้งปลาทูน่าและกุ้ง ซึ่งที่ผ่านมาในช่วงเวลานี้ราคาวัตถุดิบจะต้องปรับลดลงโดยเฉพาะกุ้ง แต่ช่วงนี้ราคากุ้งผันผวนเร็วมาก ทั้งนี้เป็นเพราะกุ้ง ออกช้าและโตช้า เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนมาก ทำให้มีผลต่อการเลี้ยงกุ้ง ขณะที่ราคาปลาทูน่าก็ปรับขึ้นไปถึงระดับราคา 1,700 เหรียญสหรัฐต่อตัน แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าสถานการณ์จะกลับมาเหมือนเดิมในช่วงไตรมาส 3 และ 4 โดยแนวโน้มช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทยังเชื่อว่าจะสามารถเติบโตในระดับที่ดีได้อีกช่วงหนึ่ง เพราะเป็นช่วง High Season ของเรา นายธีรพงศ์กล่าว นอกจากนี้นายธีรพงศ์ ยังกล่าวถึง “การเข้าไปซื้อกิจการของ MW Brands ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มีมติอนุมัติให้เข้าซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัท MW Brands Holdings SAS เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งจะต้องดำเนินการขออนุมัติต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเป็นลำดับต่อไป โดยบริษัทจะจัดประชุมผู้ถือหุ้นขึ้นในวันที่ 2 กันยายน 2553 สำหรับ MW Brands นี้ เป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายปลาทูน่า บรรจุกระป๋องและอาหารทะเลบรรจุกระป๋องแบบครบวงจรชั้นนำในยุโรป และมีเครื่องหมายการค้าเป็นของตนเองได้แก่ John West, Petit Navire, Hyacinthe Parmentier และ Mareblu ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้ จะทำให้บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ผลิตปลาทูน่าบรรจุกระป๋องรายใหญ่ของโลก และเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทผลิตอาหารทะเลที่มีเครือข่ายการผลิตและการจัดจำหน่ายแบบครบวงจร” ทั้งนี้ บริษัทเชื่อมั่นว่า “การลงทุนใน MW Brands จะเพิ่มศักยภาพด้านการผลิต ด้านวัตถุดิบ และด้านการตลาดให้กับบริษัท เนื่องจาก MW Brands มีฐานการผลิตถึง 4 แห่งได้แก่ ฝรั่งเศส โปรตุเกส เซเชลส์ และกานา ประกอบกับมีฐานการตลาดที่แข็งแกร่งในตลาดยุโรป รวมถึงการมีเรือจับปลาถึง 5 ลำ ซึ่งจับอยู่ในแหล่งมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแอตแลนติค ด้วยจุดแข็งต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยให้สามารถเข้าถึงแหล่งซัพพลายต่างๆ และตลาดผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว และเป็นประโยชน์สำหรับการปรับหรือกำหนดกลยุทธ์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับบริษัท เพื่อสร้างความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนให้กับบริษัท สำหรับเป้ายอดขายที่ตั้งไว้ 3,000 ล้านเหรียญในปี 2555 จากการที่เราได้เข้าซื้อ MW Brands ก็จะทำให้ยอดขายของ MW Brands เข้ามารวมด้วย ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้สูงที่บริษัทจะสามารถทำยอดขายทะลุเป้าก่อนปี 2555” นายธีรพงศ์สรุป แผนกสื่อสารองค์กร บมจ. ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ โทร. 0-2980-0024 ต่อ 675-678 โทรสาร 0-2980-0024 ต่อ 679

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ