In Focusส่งกำลังใจให้เนปาล รอวันพลิกฟื้นคืนสู่ดินแดนแห่งอารยธรรมของโลก

ข่าวต่างประเทศ Wednesday April 29, 2015 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โศกนาฎกรรมทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับเนปาลเมื่อช่วงบ่ายวันเสาร์ที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนทั่วโลก เมื่อแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.9 ริกเตอร์ได้เขย่าดินแดนแห่งรากอารยธรรมและแหล่งท่องเที่ยวอันงดงามที่ขึ้นชื่อของโลก ธรณีวิปโยคที่เกิดขึ้นกับเนปาลคราวนี้ถือเป็นครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 80 ปี ซึ่งนอกจากจะคร่าชีวิตผู้คนและสร้างความเสียหายให้กับที่อยู่อาศัยจำนวนมากแล้ว ความรุนแรงของแผ่นดินไหวยังทำให้สถานที่สำคัญที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การ UNESCO ได้รับความเสียหายไปด้วย โดยเฉพาะจัตุรัสกาฐมาณฑุดูบาร์ จนผู้เชี่ยวชาญหลายคนอดเป็นห่วงไม่ได้ว่า อีกนานเพียงใดที่แผ่นดินเนปาลจะหวนคืนสู่ความงดงามเหมือนเมื่อก่อน

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น รัฐบาลเนปาลพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะผลักดันนโยบายต่างๆ เพื่อส่งเสริมเนปาลให้ก้าวขึ้นเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ลืมตาอ้าปากได้ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่เมื่อประเมินสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้แล้ว หลายฝ่ายกังวลว่า เนปาลคงต้องถอยหลังกลับไปอีกอย่างน้อย 50 ปี ซึ่งหมายความว่า ความฝันที่เนปาลจะผงาดขึ้นเป็นประเทศกำลังพัฒนานั้น ริบหรี่ลงอย่างน่าเห็นใจ

  • วิเคราะห์แผ่นดินไหวเนปาล เมื่อแรงสั่นสะเทือน 7.9 ริกเตอร์ถล่มปฐพีราบเป็นหน้ากลอง

กรมทรัพยากรธรณีของไทยวิเคราะห์การเกิดแผ่นดินไหวของเนปาลดังนี้ว่า แผ่นดินไหวที่วัดความรุนแรงได้ราว 7.9 ตามมาตราริกเตอร์ซึ่งเกิดขึ้นทางตะวันตกของเมืองกาฐมาณฑุนั้น ถือเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 81 ปีมาแล้ว ซึ่งในครั้งนั้นความรุนแรงอยู่ที่ 8.0 ตามมาตราริกเตอร์และมีผู้เสียชีวิตนับหมื่นคน แต่ครั้งนี้เกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก อินเดีย ออสเตรเลีย ที่มุดลงแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียตามแนวเขาหิมาลัย ซึ่งเกิดการขยับขึ้นทุก 5 มิลลิเมตรต่อปี นับเป็นการเคลื่อนตัวตามธรรมชาติของเปลือกโลก หากไม่มีแรงต้านก็จะไม่เกิดแผ่นดินไหว

เจมส์ แจ็คสัน ผู้เชี่ยวชาญาด้านแผ่นดินไหวแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งทำงานร่วมกับกลุ่ม "Earthquakes Without Frontiers" กล่าวว่า เขาคิดไม่ถึงว่าแผ่นดินไหวจะย้อนกลับมาที่เนปาลรวดเร็วเช่นนี้ เขาเคยเดินผ่านพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหว ซึ่งในตอนนั้นเขารู้ได้ว่า นี่เป็นพื้นที่อันตราย แจ็คสันยังพูดไว้อย่างน่าสนใจว่า สิ่งที่คร่าชีวิตผู้คนในเนปาลไม่ใช่แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว แต่เป็นสิ่งก่อสร้างที่พังทับผู้คนต่างหาก เพราะปัญหาหลักคือประชาชนอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่นในพื้นที่และสถานที่ที่เสี่ยงอันตราย

ความห่วงใยที่มีต่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะในกาฐมาณฑุ ถือเป็นวาระที่ผู้เชี่ยวชาญในกลุ่ม Earthquakes Without Frontiers จับตากันมายาวนาน ... และที่น่าสนใจคือข้อมูลที่ว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาจากหน่วยงานวิจัย CEA ของฝรั่งเศสได้ค้นพบรูปแบบของการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ระหว่างที่ทำการวิจัยในพื้นที่เนปาลเมื่อเดือนมี.ค. และได้ทำนายไว้จะเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงตรงจุดที่เกิดจริงเมื่อวันเสาร์ที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา

  • ถิ่นที่อยู่อาศัยหนาแน่น-ผังเมืองผิดแบบ-ปัญหาคอรัปชั่น หอกข้างแคร่ที่ซ้ำเติมเนปาลให้ย่ำอยู่กับที่
บรรดาผู้เชี่ยวชาญมองว่า ปัญหาที่เนปาลเผชิญมาเป็นเวลานาน คือ การที่ประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในเมืองที่เป็นจุดเสี่ยงแผ่นดินไหว โดยเฉพาะกาฐมาณฑุ ซึ่งปัญหาเช่นนี้ต่อให้เนปาลพยายามพัฒนาเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งในการรับมือแผ่นดินไหว แต่ก็ไม่อาจจะทำได้อย่างรวดเร็วหรือดีพอที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาได้

"Geohazards International" เปิดเผยผลการศึกษาหลังจากลงพื้นที่ในเนปาลพบว่า การที่กาฐมาณฑุวัลเลย์มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นในอัตรา 6.5% และมีจำนวนประชากรอาศัยอยู่หนานแน่นถึง 1.5 ล้านคนอาศัยนั้น เป็นดัชนีชี้วัดว่า หากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงใกล้บริเวณนี้อีกครั้ง ความเสียหายที่ตามมาจะใหญ่หลวงทั้งในด้านชีวิตและทรัพย์สิน และลุกลามเป็นปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรังที่เนปาลจะควบคุมไม่อยู่

อีกปัญหาหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือปัญหาสิ่งก่อสร้าง ผู้เชี่ยวชาญมองว่า สิ่งก่อสร้างในเมืองหลวงของเนปาลถูกสร้างอย่างผิดแบบ โดยการต่อเติม การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นไปอย่างไร้ทิศทาง บ้านเรือนและอาคารถูกสร้างโดยไม่คำนึงถึงการรองรับแผ่นดินไหวมาเป็นเวลานาน แม้ในระยะหลัง อาคารสร้างใหม่จะตามมาตรฐานรองรับแผ่นดินไหว แต่ก็ไม่อยู่ในระดับที่จะรองรับสถานการณ์รุนแรงได้จริง ที่แย่กว่านั้นก็คือ ความยากจนที่ทำให้ประชาชนไม่สนใจที่จะหาทางป้องกันภัยในอนาคต เพราะมัวแต่สนใจปากท้องและการดำรงชีชีวิตที่ปัจจุบันก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว นอกจากนี้ เนปาลยังเผชิญกับปัญหาที่สังคมที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก นั่นคือการคอรัปชั่นและฉ้อราษฎร์บังหลวงที่แผ่อิทธิพลเป็นวงกว้างและกัดกร่อนสังคมเนปาลมาช้านาน แม้ความสวยงามทางธรรมชาติบนเทือกเขาหิมาลัยและสถานที่หลายแห่งอันเป็นร่องรอยของพุทธประวัติจะเป็นเสน่ห์ของเนปาล แต่การคอร์รัปชันกลับกลายเป็นมะเร็งร้ายที่คอยบั่นทอนคุณภาพชีวิตของผู้คน และเมื่อเกิดภัยแผ่นดินไหวครั้งประวัติศาสตร์ในรอบนี้ เนปาลจึงตกอยู่สภาพไม่ต่างกับนรกกลางป่าหิมพานต์

  • อาลัยดินแดนอารยธรรม และนครแห่งมรดกโลก

เนปาล หรือ สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล เป็นประเทศที่มีสถาปัตยกรรมโดดเด่น โดยเฉพาะเมืองกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของประเทศเนปาลและเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดนั้น มีโบราณสถานสำคัญทางศาสนาพุทธและฮินดู บริเวณเขตรอบเมืองกาฐมาณฑุมีจตุรัสพระราชวังของเมืองปาตัน และเมืองปักตะปูร์ ที่มีความวิจิตรอลังการของศิลปะและสถาปัตยกรรมของวัฒนธรรมเนวารี รวมไปถึง เมืองดูลิคเล เมืองนาคากอต และซาลังกอต ซึ่งอันเป็นสถานที่บนยอดเขาที่ใช้ชมเทือกเขาหิมาลัยอย่างใกล้ชิดและมีเส้นทางขึ้นยอดเขาสูงแห่งนี้ และเมืองโพคารา เมืองท่องเที่ยวที่มีทะเลสาบ และยอดเขาสวยงามที่ชื่อ มัจชาปูชเร

สถานที่เหล่านี้ ล้วนเป็นเสน่ห์ที่ทำให้เนปาลเป็นประเทศที่มีความมหัศจรรย์ นอกจากนี้ เนปาลยังมีแหล่งธรรมชาติอันงดงาม คืออุทยานแห่งชาติชิตวันที่มีสัตว์มากกว่า 40 พันธุ์ โดยเฉพาะ เสือดาว ช้าง และควายป่า จึงเป็นสถานที่ที่ดึงดูดใจและเป็นที่โปรดปรานของบรรดานักเดินป่า นักไต่เขา และนักล่องแก่ง

ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวครั้งนี้ ได้ความเสียหายต่อเมืองโบราณสำคัญ เช่น จัตุรัสดูร์บาร์ อันประกอบไปด้วยวัดและปราสาทเก่าแก่ที่แสดงถึงความรุ่งเรืองทางศาสนาและวัฒนธรรมของชาวเนปาล องค์การ UNESCO ได้จดทะเบียนให้เป็นมรดกโลกเมื่อปี 2522 และ สถูปโพธินาถ เป็นสถูปเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในเนปาล มีดวงตาเห็นธรรมของพระพุทธเจ้าประดับอยู่ทั้ง 4 ทิศ ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกจากองค์การ UNESCO ในปี 2522 เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีโบราณสถานสำคัญอื่นๆที่ได้รับความเสียหาย ได้แก่ หอธราหาร หรือหอพิมเสน ที่มีความสูง 9 ชั้น สร้างไว้เมื่อช่วงศตวรรษที่ 19 ตั้งอยู่ในบริเณจตุรัสดูร์บาร์ อันเป็นเขตเมืองเก่าแก่ของกาฐมาณฑุ และ สถูปสวะยัมภูนาถ หรือวัดลิง เป็นเจดีย์โบราณที่เชื่อว่ามีอายุกว่า 2,000 ปี ตั้งอยู่บนยอดเขาห่างจากกรุงกาฐมาณฑุออกไป 3 กิโลเมตร

แม้แผ่นดินไหวครั้งใหญ่รอบนี้ได้ทำลายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจเนปาลมายาวนาน อีกทั้งยังบั่นทอนกำลังใจและสร้างความหดหู่ให้กับประชาชนและผู้ประกอบการของเนปาลอย่างแสนสาหัส แต่เราเชื่อว่า เสน่ห์และมนต์ขลังของดินแดนอารยธรรมเก่าแก่อย่างเนปาลยังมีพลังมากพอที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้หวนกลับไปเยี่ยมเยียนอีกครั้ง สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดในเวลานี้ คือร่วมกันส่งกำลังใจและปัจจัยที่จำเป็นไปเนปาล เพื่อหนุนใจให้พวกเขามีแรงและลุกขึ้นกอบกู้ประเทศขึ้นมาอีกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ