การทำประกันภัยสำหรับร้านทอง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 15, 2001 13:33 —คปภ.

          ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ปล้นร้านทองที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในระยะนี้ อันนำมาซึ่งความสูญเสียต่อทรัพย์สินและชีวิตของผู้ที่ประสบเหตุ นั้น กระทรวงพาณิชย์ได้เล็งเห็นความเดือนร้อนของกลุ่มผู้ประกอบกิจการร้านทอง จึงใคร่ขอแนะนำว่าขณะนี้กรมการประกันภัยซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองและดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคในด้านการประกันภัยได้มีการพัฒนากรมธรรม์ในหลายรูปแบบเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของความเสี่ยงภัยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งการประกันภัยรูปแบบหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความสูญเสีย หรือความเสียหายจากเรื่องดังกล่าวได้ดี จึงได้มีการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยเฉพาะสำหรับร้านทอง เรียกว่า กรมธรรม์ประกันภัยพิทักษ์ร้านทอง โดยมุ่งที่จะให้ความคุ้มครองต่อภัยอันอาจจะเกิดมีขึ้นต่อร้านทอง ดังนี้
1. ความเสียหายต่อทองคำที่มีไว้เพื่อจำหน่ายอันเกิดจากการชิงทรัพย์หรือปล้นทรัพย์ภายในสถานที่เอาประกันภัย
2. ความเสียหายต่อตัวอาคาร กระจก เฟอร์นิเจอร์ ตู้ทอง เครื่องชั่งทองคำ และโทรทัศน์วงจรปิดอันเกิดจากการชิงทรัพย์ภายในสถานที่เอาประกันภัย
3. ค่ารักษาพยาบาลและเงินชดเชยกรณีการเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัยบุคคลในครอบครัว ลูกจ้าง และ/หรือพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเกิดจากการชิงทรัพย์หรือปล้นทรัพย์ภายในสถานที่เอาประกันภัย
ซึ่งตามความคุ้มครองทั้ง 3 ข้อนี้ ผู้เอาประกันภัยจะเสียเบี้ยประกันภัยเท่ากับ 1% - 3% ต่อปี ยกตัวอย่างเช่น ความคุ้มครอง 1,000,000 บาท ผู้เอาประกันภัยจะเสียเบี้ยประกันภัย 10,000 บาท - 30,000 บาท ซึ่งนับว่าไม่มากเลยเมื่อเปรียบเทียบกับความเสียหายอันอาจจะเกิดขึ้น
นอกจากนี้หากผู้เอาประกันภัยต้องการความคุ้มครองเพิ่มเติมถึงความเสียหายตามข้อ 1 และข้อ 2 อันมีสาเหตุจากไฟไหม้ ฟ้าผ่า หรือการระเบิด แล้วนั้น ก็สามารถขอซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมได้ โดยผู้เอาประกันภัยจะเสียเบี้ยประกันภัยในอัตรา 0.265% - 1.115% ต่อปี หรือเท่ากับ 2,650 บาท - 11,150 บาท ต่อความคุ้มครอง 1,000,000 บาท
ดร. สุวรรณ วลัยเสถียรกล่าวเพิ่มเติมว่า กรมธรรม์ประกันภัยพิทักษ์ร้านทองดังกล่าวน่าจะให้ประโยชน์ต่อผู้เป็นเจ้าของร้านทองเป็นอย่างยิ่ง จึงขอเชิญชวนให้มีการทำประกันภัยดังกล่าว หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมประการใดโปรดติดต่อกรมการประกันภัย ทางโทรศัพท์หมายเลข 0-2547-4548 หรือทางโทรสารหมายเลข 0-2547-4549
ที่มา: http://www.doi.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ