พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 19 กันยายน 2557 - 25 กันยายน 2557

ข่าวทั่วไป Monday September 22, 2014 08:43 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 19 กันยายน 2557 - 25 กันยายน 2557

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 19-22 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 23-25 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • แม้ปริมาณฝนจะลดลง แต่ความชื้นในดินยังคงมีอยู่ประกอบกับในช่วงวันที่ 23-25 ก.ย.จะมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล เช่น ส้ม ลำไย และลิ้นจี่ เป็นต้น
  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมาหากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม
  • เนื่องจากในระยะครึ่งหลังของเดือนตุลาคมจะเป็นฤดูหนาวอุณหภูมิจะลดลงโดยจะเริ่มจากทางตอนบนของภาคก่อน เกษตรกรควรจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์สำหรับกันลมและให้ความอบอุ่นแก่ตนเองและสัตว์เลี้ยงเอาไว้ให้พร้อม

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 19-21 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 22-25 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบนและด้านตะวันออกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • สำหรับเกษตรกรที่ปลูกพืชในช่วงปลายฤดูฝนนี้ควรเลือกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย และควรชุบท่อนพันธุ์หรือคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันเชื้อรา เนื่องจากระยะนี้ในดินยังคงมีความชื้นสูงและในช่วงวันที่ 23-25 ก.ย.จะมีฝนตกหนัก
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรระวังและป้องกันศัตรูสัตว์มารบกวนสัตว์เลี้ยง ทำให้สัตว์เลี้ยงชะงักการเจริญเติบโต และศัตรูสัตว์บางชนิดอาจนำโรคมาสู่สัตว์เลี้ยงได้
  • เนื่องจากในระยะต่อไปในโดยเฉพาะในครึ่งหลังของเดือนหน้าจะเป็นช่วงต้นฤดูหนาวอุณหภูมิจะเริ่มลดลงจากทางตอนบนของภาคก่อน เกษตรกรควรจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์สำหรับกันลมและให้ความอบอุ่นแก่ตนเองและสัตว์เลี้ยงเอาไว้ให้พร้อม

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 19-22 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 23-25 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • ในช่วงที่มีฝนตกทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในไม้ดอกและพืชสวน เช่น โรคใบจุดในไม้ดอก โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล เป็นต้น
  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ อย่าให้น้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืชนาน เพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศและต้นพืชตายได้
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบริเวณลุ่มน้ำหากโตได้ขนาดควรทยอยจับขายไปก่อนเสียบ้างบางส่วนเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากน้ำหลาก

ภาคตะวันออก

มีในช่วงวันที่ 19-22 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 23-25 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นกับทรัพย์สิน และพืชผลทางการเกษตร
  • ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูงชาวสวนผลไม้ควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรคใบติด และโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน เป็นต้น
  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้น้ำขังบริเวณโคนต้นพืชนาน เพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศต้นพืชตายได้

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนักติดต่อกัน ซึ่งอาจทำให้บางพื้นที่เกิดสภาวะน้ำท่วมในพื้นที่การเกษตรได้ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าวที่จะเกิดกับพืชผลทางการเกษตร
  • สำหรับไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เช่น ทุเรียน ลองกอง และมังคุด เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งและขั้วผล รวมทั้งใส่ปุ๋ย เพื่อให้ต้นฟื้นตัวได้เร็ว มีเวลาฟักตัวได้นาน รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้ผลที่เน่าเสียร่วงหล่นกองอยู่ในบริเวณสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืชต่างๆได้
  • ส่วนผู้ที่ปลูกพืชสวน เช่น ยางพารา กาแฟ และปาล์มน้ำมัน ควรดูแลสภาพสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวนป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราซึ่งมักระบาดในช่วงที่มีความชื้นสูง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูง มากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนักติดต่อกัน ซึ่งอาจทำให้บางพื้นที่เกิดสภาวะน้ำท่วมในพื้นที่การเกษตรได้ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าวที่จะเกิดกับพืชผลทางการเกษตร
  • ส่วนผู้ที่ปลูกพืชสวน เช่น ยางพารา กาแฟ และปาล์มน้ำมัน ควรดูแลสภาพสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวนป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราซึ่งมักระบาดในช่วงที่มีความชื้นสูง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ