พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 24 มิถุนายน 2558 - 30 มิถุนายน 2558

ข่าวทั่วไป Wednesday June 24, 2015 16:24 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 24 มิถุนายน 2558 - 30 มิถุนายน 2558

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 24-25 มิ.ย. ฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 26-30 มิ.ย. ฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

  • ช่วงนี้แม้จะมีฝนตก แต่บางพื้นที่ยังมีฝนตกน้อย เกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชอย่างเพียงพอ และควรให้น้ำแบบประหยัด โดยให้เฉพาะบริเวณทรงพุ่ม หรือใช้วิธีน้ำหยด รวมทั้งหาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาคลุมผิวดินบริเวณโคนต้นไม้ผล หรือแปลงปลูก เพื่อลดการระเหยน้ำ และสงวนความชื้นในดิน
  • สำหรับพื้นที่ซึ่งมีฝนตก เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตร รวมทั้งวางแผนการจัดการน้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพเพื่อจะได้มีน้ำใช้ในระยะที่มีฝนตกน้อย หรือฝนทิ้งช่วง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 24-25 มิ.ย. ฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 26-30 มิ.ย. ฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

  • ช่วงนี้จะมีฝนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะทางตอนล่างของภาค ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่ายโดยเฉพาะสัตว์เท้ากีบอาจป่วยเป็นโรคปากและเท้าเปื่อยได้ นอกจากนี้เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตร เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงที่มีฝนตกน้อย
  • ส่วนทางตอนบนของภาคยังคงมีฝนน้อย เกษตรกรที่ปลูกพืชไร่ และพืชผัก ควรระวังป้องกันการระบาดศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ ที่จะดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ
  • สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ เนื่องจากน้ำมีน้อยควรลดความหนาแน่นของสัตว์น้ำที่เลี้ยง เพื่อป้องกันการขาดออกซิเจนและลดอาหารให้น้อยลง เพื่อป้องกันอาหารเหลือทำให้น้ำเน่าเสีย

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 24-25 มิ.ย. ฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 26-30 มิ.ย. ฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาคอุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม..

  • ช่วงนี้จะมีฝนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะทางตอนล่างของภาค เกษตรกรที่ปลูกข้าวไปแล้วควรระวังการระบาดของโรคไหม้ รวมทั้งการระบาดของหนอนชนิดต่าง เช่น หนอนกอ และหนอนห่อใบข้าว เป็นต้น
  • ส่วนทางตอนบนของภาคอากาศร้อน และบางวันมีฝนตก ทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ป้องกันสัตว์อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ
  • สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ควรเลือกปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนการทำนาปรัง โดยเฉพาะพืชตระกูลถั่ว ซึ่งสามารถช่วยบำรุงดิน ทำให้โครงสร้างของดินดีขึ้น

ภาคตะวันออก

มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส

  • ช่วงนี้จะมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ชาวสวนผลไม้ที่อยู่ในที่ลุ่ม ควรระวังอย่าให้น้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืชนาน เพราะจะทำให้รากพืชเน่าต้นพืชตายได้
  • สำหรับไม้ผลที่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรควรเก็บกวาดผลที่เน่าเสียและร่วงหล่น ตลอดจนเปลือกผลไม้ไปกำจัด ไม่ควรปล่อยให้อยู่ภายในบริเวณสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืชโดยเฉพาะโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา นอกจากนี้ควรกำจัดวัชพืชเพื่อมิให้เป็นที่อาศัยหลบซ่อนของศัตรูพืช
  • อนึ่ง ในช่วงวันที่ 26-30 มิ.ย. บริเวณอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็ก ควรงดออกจากฝั่ง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส

  • ช่วงนี้จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันตก เกษตรกรควรจัดระบบการระบายน้ำในพื้นที่เพาะปลูก อย่าให้มีน้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืช รวมทั้งขุดลอกคูคลองอย่าให้ตื้นเขิน น้ำไหลได้สะดวก เพื่อป้องกันน้ำขังเมื่อมีฝนตกหนัก ส่วนชาวสวนควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน เพื่อป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา และศัตรูพืชจำพวกหนอน หากพบการระบาดของโรคและศัตรูพืชดังกล่าวควรรีบกำจัด
  • ส่วนทางฝั่งตะวันออกบริเวณที่มีฝนตก เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตร และวางแผนการจัดการน้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงที่มีฝนตกน้อย
  • อนึ่ง ในช่วงวันที่ 26-30 มิ.ย. บริเวณอ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามันจะมีคลื่นลมแรง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรระวังและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบนของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณทะเลอันดามันตอนบนคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส

  • ช่วงนี้จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันตก เกษตรกรควรจัดระบบการระบายน้ำในพื้นที่เพาะปลูก อย่าให้มีน้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืช รวมทั้งขุดลอกคูคลองอย่าให้ตื้นเขิน น้ำไหลได้สะดวก เพื่อป้องกันน้ำขังเมื่อมีฝนตกหนัก ส่วนชาวสวนควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน เพื่อป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา และศัตรูพืชจำพวกหนอน หากพบการระบาดของโรคและศัตรูพืชดังกล่าวควรรีบกำจัด
  • ส่วนทางฝั่งตะวันออกบริเวณที่มีฝนตก เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตร และวางแผนการจัดการน้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงที่มีฝนตกน้อย
  • อนึ่ง ในช่วงวันที่ 26-30 มิ.ย. บริเวณอ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามันจะมีคลื่นลมแรง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรระวังและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ