พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 05 สิงหาคม 2558 - 11 สิงหาคม 2558

ข่าวทั่วไป Wednesday August 5, 2015 16:30 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 05 สิงหาคม 2558 - 11 สิงหาคม 2558

ภาคเหนือ

มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 5-7 และ 9-11 ส.ค. มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบน และด้านตะวันตกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 15-35 กม./ชม.

  • ระยะนี้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักโดยเฉพาะทางตอนบนและด้านตะวันตกของภาค เกษตรกรในพื้นทีเสี่ยงภัยควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับทรัพย์สินและพืชผลทางการเกษตร
  • สภาพอากาศที่มีความชื้นสูง ชาวนาควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคไหม้ รวมทั้งระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูข้าวจำพวกหนอนที่จะกัดกินทำลายข้าวนาปีที่กำลังเจริญเติบโต ดังนั้นเกษตรควรหมั่นสำรวจ หากพบควรรีบกำจัดก่อนระบาดเป็นบริเวณกว้าง
  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ควรเตรียมการกั้นขอบบ่อให้สูง เพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าบ่อเมื่อมีฝนตกหนัก จนทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว สัตว์น้ำจะปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและอาจส่งผลให้เป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 5-7 และ 9-11 ส.ค. มีฝนหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบน และด้านตะวันออกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 15-35 กม./ชม.

  • สำหรับบริเวณที่มีฝนตกหนัก อาจทำให้มีน้ำบ่าไหลเข้าแปลงนา ชาวนาควรระวังและป้องกันหอยเชอรี่ที่ลอยมากับน้ำโดยใช้ตาข่ายดักบริเวณทางน้ำไหลเข้านาแล้วจับหอยไปทำลาย เพื่อป้องกันหอยเข้ามาแพร่พันธุ์ในแปลงนาในระยะต่อไป
  • ส่วนบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำที่สกปรก หากมีความจำเป็นควรสวมรองเท้าบูตเพื่อป้องกันโรคฉี่หนู รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะ เพื่อป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ
  • สภาพอากาศที่มีความชื้นสูงอาจทำให้มีโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราแพร่ระบาดทำลายข้าว พืชไร่ และพืชผัก เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบว่ามีการะบาดของโรคพืชมากควรรีบกำจัด

ภาคกลาง

มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 5-7 ส.ค. มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.

  • ระยะนี้ปริมาณและการกระจายของฝนจะเพิ่มขึ้นสำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรขุดลอกคูคลองสำหรับระบายน้ำในพื้นที่การเกษตร อย่าให้ตื้นเขิน และจัดระบบระบายน้ำในพื้นที่เพาะปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวก ป้องกันน้ำขังในพื้นที่เพาะปลูก เมื่อมีฝนตกหนัก
  • สำหรับสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง นาข้าวที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต เกษตรกรควรระวังการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคไหม้ และโรคใบขีดสีน้ำตาล นอกจากนี้ควรระวังและป้องศัตรูพืชจำพวกหนอนซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อน ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโตผลผลิตลดลง รวมทั้งระวังป้องกัน การระบาดของหอยเชอรี่ หากพบว่ามีการระบาดควรรีบกำจัดก่อนระบาดเป็นบริเวณกว้าง

ภาคตะวันออก

มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

  • ระยะนี้ยังมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนัก พื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำขังในพื้นที่เพาะปลูก หากน้ำขังบริเวณโคนต้นพืชนานจะทำให้รากพืชขาดอากาศ และต้นพืชตายได้
  • สภาพอากาศที่ชุ่มชื้นมักเกิดโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคไหม้ในข้าว โรคราน้ำค้างในพืชผัก โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล และโรครากขาวในพริกไทย เป็นต้น เกษตรกรควรระวังและป้องกันกำจัดโรคพืชดังกล่าวด้วย
  • อนึ่ง บริเวณอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นลมแรงในระยะนี้ ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และในช่วงวันที่ 6-9 ส.ค. มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบนของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส

  • ช่วงที่มีฝนตกติดต่อกัน ชาวสวนยางพารา ควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน เพื่อป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา
  • สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล และผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยว เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน หากพบควรรีบกำจัด เพื่อไม่ให้ผลเน่าเสียและลุกลามไปยังผลอื่นๆ
  • อนึ่ง ระยะนี้บริเวณอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนบนของภาค ตลอดช่วง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส

  • ระยะนี้ปริมาณและการกระจายของฝนจะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันตก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะฝนตกหนัก นอกจากนี้ควรจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำขังบริเวณแปลงปลูกพืช เมื่อมีฝนตกหนัก รวมทั้งขุดลอกทางระบายน้ำอย่าให้ตื้นเขินน้ำไหลได้สะดวก
  • ช่วงที่มีฝนตกติดต่อกัน ชาวสวนยางพารา ควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน เพื่อป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา
  • สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล และผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยว เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน หากพบควรรีบกำจัด เพื่อไม่ให้ผลเน่าเสียและลุกลามไปยังผลอื่นๆ
  • อนึ่ง ระยะนี้บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ