พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 12 ตุลาคม 2558 - 18 ตุลาคม 2558

ข่าวทั่วไป Monday October 12, 2015 14:22 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 12 ตุลาคม 2558 - 18 ตุลาคม 2558

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 12-14 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค และอุณหภูมิจะลดลงอีกเล็กน้อย ในช่วงวันที่ 15-18 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ และอุณหภูมิจะสูงขึ้น ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส

ระยะนี้ปริมาณฝนเริ่มลดลง แต่ในบางพื้นที่สภาพอากาศยังคงมีความชื้นและเริ่มมีอากาศเย็นในตอนเช้า เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราโดยเฉพาะโรค ราน้ำค้าง ซึ่งมักแพร่ระบาดในพืชไร่ ไม้ดอก และพืชผักชนิดต่างๆ จะทำให้ยอดและใบอ่อนชะงักการเจริญเติบโต เน่าและร่วงหล่น โดยหมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบควรรีบกำจัด

อนึ่ง เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นฤดูหนาว เกษตรกรควรจัดเตรียมวัสดุสำหรับเพิ่มความอบอุ่นให้แก่สัตว์เลี้ยงและเครื่องกันหนาวสำหรับตนเองเอาไว้ให้พร้อมด้วย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 12-14 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค และอุณหภูมิจะลดลงอีกเล็กน้อย ในช่วงวันที่ 15-18 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ และอุณหภูมิจะสูงขึ้น ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส

เนื่องจากระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรซ่อมแซมโรงเรือนเลี้ยงสัตว์และจัดทำแผงกำบังลมให้กับสัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันลมโกรก ซึ่งจะทำให้สัตว์เลี้ยงหนาวเย็น จนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ระยะนี้แม้จะมีฝนลดลงแต่สภาพอากาศยังคงมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ และพืชผัก โดยเฉพาะโรคราน้ำค้าง เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบควรรีบกำจัด

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 12-14 ต.ค.มีฝนฟ้าคะนองกระจายร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ในช่วงวันที่ 15-18 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส

ระยะนี้ยังมีฝนตกโดยเฉพาะทางตอนล่างของภาค สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรรีบระบายน้ำในแปลงปลูก เพื่อป้องกันน้ำขังบริเวณโคนต้นพืชนาน ทำให้รากพืชขาดอากาศ ต้นพืชตายได้

สำหรับข้าวที่อยู่ในระยะแตกกอถึงตั้งท้อง ชาวนาควรระวังและป้องกันการระบาดศัตรูพืช เช่น หนอนชนิดต่างๆ และหอยเชอรี่ เป็นต้น ซึ่งจะกัดกินทำให้ต้นข้าวเสียหายได้ ดังนั้นเกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบควรรีบกำจัด

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 12-14 ต.ค.มีฝนฟ้าคะนองกระจายร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ในช่วงวันที่ 15-18 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส

เนื่องจากในระยะนี้ยังคงมีฝนตก สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ใน ที่ลุ่ม เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูก เพื่อป้องกันน้ำขังบริเวณโคนต้นพืชนาน ทำให้รากพืชขาดอากาศ ต้นพืชตายได้

เนื่องจากระยะนี้สภาพอากาศยังคงมีความชื้นสูง ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคเส้นดำ และโรคใบยางร่วงลูกยางเน่า เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นยางและหน้ากรีดยางเสียหาย

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส

เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นฤดูฝนของภาคใต้ฝั่งตะวันออก ปริมาณและการกระจายของฝนจะเริ่มเพิ่มขึ้น เกษตรกรควรขุดลอกทางระบายน้ำอย่าให้ตื้นเขิน เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวก ป้องกันน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรเมื่อมีฝนตกหนัก

ในช่วงนี้ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งควรระวังและป้องกันความเสียหายเนื่องคลื่นลมไว้ด้วย

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1- 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส

ในช่วงนี้ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งควรระวังและป้องกันความเสียหายเนื่องคลื่นลมไว้ด้วย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ