พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 - 03 ธันวาคม 2558

ข่าวทั่วไป Friday November 27, 2015 13:50 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 27 พฤศจิกายน 2558 - 03 ธันวาคม 2558

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 27-29 พ.ย. อากาศเย็นถึงหนาว และอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 13-17 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียสสำหรับบริเวณยอดดอย อากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-8 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 30 พ.ย. - 3 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้นเล็กน้อย อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอย อากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 6-9 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

  • ระยะนี้จะมีอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะทางตอนบนของภาคจะมีอากาศหนาวเย็นกว่าบริเวณอื่นๆ เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในระยะที่อุณหภูมิลดลง ไม่ควรเคลื่อนย้ายสัตว์น้ำ เพราะจะทำให้สัตว์น้ำเครียด อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • ระยะนี้เป็นช่วงแล้ง เกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด โดยให้น้ำพืชครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยๆครั้ง และให้น้ำพืชในช่วงเย็นโดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรที่ไม่อยู่บริเวณเทือกเขาและยอดเขา รวมทั้งวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนตกน้อย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 27-29 พ.ย. อากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 12-17 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-30 องศาเซลเซียส ส่วนบริเวณยอดภู อากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม. /ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 30 พ.ย. – 3 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น 2- 4 องศา อุณหภูมิต่ำสุด 19-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

  • เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งและบางช่วงอาจมีลมแรง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่เพาะปลูก โดยเฉพาะสวนยางพารา ชาวสวนควรหลีกเลี่ยงการจุดไฟ หากมีความจำเป็นต้องจุดไฟควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน เพื่อป้องกันไฟลุกลาม
  • ผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้วหากเปียกชื้นควรลดความชื้นก่อนนำเข้าโรงเก็บ เพื่อป้องกันผลผลิตเน่าเสียหายในโรงเก็บ
  • สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชหลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาปีในระยะนี้ ควรปลูกพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย เช่น พืชผัก และพืชตระกูลถั่ว และควรเลือกพันธุ์เบาซึ่งจะมีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นกว่าพันธุ์ปกติ

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 27-29 พ.ย. อากาศเย็นในตอนเช้ากับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียสอุณหภูมิต่ำสุด 18-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 30 พ.ย. – 3 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส กับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • เกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด รวมทั้งวางแผนการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อจะได้มีน้ำใช้ตามความเหมาะสม
  • สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ควรมีน้ำสำรองให้แก่พืชในระยะเจริญเติบโต และระยะออกดอกออกผล เพราะหากพืชได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ผลผลิตลดลง หากขาดน้ำจะทำให้สูญเสียผลผลิตโดยสิ้นเชิง

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 27-29 พ.ย. อากาศเย็นในตอนเช้ากับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียสอุณหภูมิต่ำสุด 19-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 30 พ.ย. – 3 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

  • สำหรับบริเวณที่สภาพอากาศแห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆใน พืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต การผลิดอกออกผลลดลง
  • เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงแล้ง ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ โดยให้น้ำพืชครั้งละน้อยๆแต่บ่อยๆครั้ง และควรให้น้ำพืชในช่วงเย็น เพื่อป้องกันการระเหยของน้ำ ลดการสูญเสียน้ำ
  • เกษตรกรควรคลุมบริเวณโคนต้นของพืชสวนที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต ด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน สงวนความชื้นภายในดิน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ