พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 27 เมษายน 2559 - 03 พฤษภาคม 2559

ข่าวทั่วไป Wednesday April 27, 2016 15:53 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 27 เมษายน 2559 - 03 พฤษภาคม 2559

ภาคเหนือ

  • การคาดการณ์ฝน ในช่วงวันที่ 27-28 เม.ย. และ 1-3 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 29-30 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ และลูกเห็บตกได้บางแห่ง
  • การคาดการณ์อุณหภูมิ อากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ในช่วงวันที่ 27-28 เม.ย. และ 1-3 พ.ค. อุณหภูมิต่ำสุด 25-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 38-43 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 29-30 เม.ย.อุณหภูมิต่ำสุด 25-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-40 องศาเซลเซียส
  • ผลกระทบด้านการเกษตร ในช่วง 7 วันที่ผ่านมามีรายงานฝนตกหนักบริเวณจังหวัดลำปาง สมดุลน้ำมีค่า อยู่ในช่วง (-20)-(-40) มม.โดยเฉพาะทางตอนบนและด้านตะวันออกของภาค ส่วนบริเวณอื่นๆค่าสมดุลน้ำส่วนใหญ่มีค่าเป็นลบอยู่ระหว่าง (-40) ถึง (-50) มม. ประกอบกับในช่วง 7 วันข้างหน้าปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย ทำให้สมดุลน้ำส่วนใหญ่มีค่าเป็นลบ ไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชอย่างเหมาะสม และใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ให้น้ำพืชเฉพาะบริเวณทรงพุ่ม หรือหากมีงบประมาณเพียงพอควรใช้วิธีน้ำหยด สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล หากได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ผลชะงักการเจริญเติบโต ถ้าขาดน้ำจะทำให้ผลร่วงหล่น ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

  • การคาดการณ์ฝน ในช่วงวันที่ 28-30 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ กับลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 1-3 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง
  • การคาดการณ์อุณหภูมิ อากาศร้อนโดยทั่วไป อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส
  • ผลกระทบด้านการเกษตร ในช่วง 7 วันที่ผ่านมามีรายงานฝนตกหนักบริเวณจังหวัดเลย อุดรธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ขอนแก่น นครราชสีมา อำนาจเจริญ สมดุลน้ำมีค่า อยู่ในช่วง (-1)-(-30) มม.โดยเฉพาะทางตอนบนและด้านตะวันตกของภาค ส่วนบริเวณอื่นๆค่าสมดุลน้ำส่วนใหญ่มีค่าเป็นลบอยู่ระหว่าง (-30) ถึง (-50) มม. ประกอบกับในช่วง 7 วันข้างหน้า ปริมาณฝนที่ตกมีน้อย ส่งผลให้ค่าสมดุลน้ำมีค่าเป็นลบไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชอย่างเหมาะสม หรือลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดินโดยคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืช และโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพราะหากพืชขาดน้ำจะทำให้ต้นและใบเหี่ยวเฉา ถ้าขาดน้ำเป็นเวลานานจะทำให้ต้นพืช ตายได้

ภาคกลาง

  • การคาดการณ์ฝน ในช่วงวันที่ 29 เม.ย.- 1 พ.ค. มีพายุฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ และลูกเห็บตกได้บางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 2-3 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่
  • การคาดการณ์อุณหภูมิ ในช่วงวันที่ 27-28 เม.ย. อากาศร้อนจัดโดยทั่วไป อุณหภูมิต่ำสุด 26-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 40-43 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 29 เม.ย.- 1 พ.ค. อากาศร้อนโดยทั่วไป และในช่วงวันที่ 2-3 พ.ค. อากาศร้อนโดยทั่วไป อุณหภูมิต่ำสุด 26-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 37-39 องศาเซลเซียส \\
  • ผลกระทบด้านการเกษตร ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาสมดุลน้ำมีค่าเป็นลบอยู่ระหว่าง (-30) ถึง (-50) มม. เป็นส่วนใหญ่ประกอบกับในช่วง 7 วันข้างหน้า แม้จะมีฝนตกแต่ปริมาณน้อย ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำในดินลดลง เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชอย่างเหมาะสม และใช้น้ำที่กักเก็บไว้อย่างประหยัด รวมทั้งคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน

ภาคตะวันออก

  • การคาดการณ์ฝน ในช่วงวันที่ 27-28 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 29 เม.ย.- 1 พ.ค. มีพายุฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ และกับมีลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 2-3 พ.ค.มีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่
  • การคาดการณ์อุณหภูมิ ในช่วงวันที่ 27-28 เม.ย. อากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 26-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-42 องศาเซลเซียส และในช่วงวันที่ 29 เม.ย.- 1 พ.ค. อากาศร้อนโดยทั่วไป ส่วนในช่วงวันที่ 2-3 พ.ค. อากาศร้อนโดยทั่วไป อุณหภูมิต่ำสุด 26-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส
  • ผลกระทบด้านการเกษตร ในช่วง 7 วันที่ผ่านมีฝนตกหนักบริเวณจังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว และฉะเชิงเทรา ค่าสมดุลน้ำมีค่า อยู่ในช่วง (1)-( 40) มม. ส่วนบริเวณอื่นค่าสมดุลน้ำส่วนใหญ่มีค่าเป็นลบอยู่ระหว่าง (-20) ถึง (-50) มม. และในช่วง 7 วันข้างหน้า ปริมาณฝนที่ตกจะมีปริมาณน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช ดังนั้นเกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชเพิ่มเติมอย่างเหมาะสม และใช้น้ำที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล เกษตรกรควรให้น้ำอย่าง เพียงพอ ป้องกันผลชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตด้อยคุณภาพ รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

  • การคาดการณ์ฝน ในช่วงวันที่ 27-28 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ส่วนในช่วงวันที่ 29 เม.ย.-3 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง
  • การคาดการณ์อุณหภูมิ อากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-39 องศาเซลเซียส
  • ผลกระทบด้านการเกษตร ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ค่าสมดุลน้ำส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง (-20) ถึง (-50) มม. เป็นส่วนใหญ่ และในช่วง 7 วันข้างหน้า ปริมาณฝนมีน้อย เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชเพิ่มเติมโดยเฉพาะพืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต และไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล หากได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ผลชะงักการเจริญเติบโต ผลร่วงหล่น นอกจากนี้ควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รวมทั้งระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆด้วย

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

  • การคาดการณ์ฝน มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ตลอดช่วง
  • การคาดการณ์อุณหภูมิ อากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส
  • ผลกระทบด้านการเกษตร ในช่วง 7 วันที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณจังหวัดพังงา และตรังค่าสมดุลน้ำมีค่า อยู่ในช่วง (1)-( 20) มม. ส่วนบริเวณอื่นค่าสมดุลน้ำส่วนใหญ่มีค่าเป็นลบอยู่ระหว่าง (-1) ถึง (-50) มม. และในช่วง 7 วันข้างหน้า แม้จะมีฝนแต่ปริมาณน้อย เกษตรกรควรให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืชอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะพืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต หากขาดน้ำจะทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต รวมทั้งกำจัดวัชพืชบริเวณโคนต้นเพื่อไม่ให้แย่งอาหารและน้ำจากต้นพืช และควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน
  • หมายเหตุ สมดุลน้ำ คือ ปริมาณฝน – ปริมาณการคายระเหยน้ำของพืช, การคายระเหยน้ำ คือ น้ำระเหย + การคายน้ำของพืช แผนที่สมดุลน้ำสามารถดาวน์โหลดได้ตามลิงค์ http://www.arcims.tmd.go.th/DailyDATA/PET7day.php สำหรับแผนที่สมดุลน้ำคิดที่สถานีตรวจอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ส่วนในบริเวณอื่นเป็นการประมาณค่า (Interpolation)

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ