พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 30 พฤษภาคม 2559 - 05 มิถุนายน 2559

ข่าวทั่วไป Monday May 30, 2016 14:02 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 30 พฤษภาคม 2559 - 05 มิถุนายน 2559

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 30 พ.ค. – 2 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในวันที่ 3 – 5 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

  • ระยะนี้เป็นช่วงต้นฤดูฝน สภาพอากาศจะมีความชื้นสูง เหมาะแก่การเกิดโรคพืชจำพวกเชื้อรา เกษตรกรที่จะปลูกพืชรอบใหม่ ควรคลุกเมล็ดพันธุ์และชุบท่อนพันธุ์ด้วยสารป้องกันเชื้อรา และไม่ควรปลูกพืชแน่นจนเกินไป เพราะจะทำให้มีความชื้นสะสมภายในแปลงปลูกเป็นสาเหตุของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา
  • สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล ผลแก่และเก็บเกี่ยวผลผลิต เช่น ลิ้นจี่ มะม่วง และลำไย เป็นต้น เกษตรกรควรหมั่นสังเกตหากพบผลที่เน่าเสีย หรือมีศัตรูพืชทำลายควรรีบปลิดออก และไม่ควรปล่อยให้ผลที่เน่าเสีย ผลที่ร่วงหล่น และเปลือกผลไม้ทิ้งไว้ในสวน เพราะจะเป็นที่อาศัยหลบซ่อนของโรคและศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งมักระบาดในช่วงฤดูฝน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 30 พ.ค. – 1 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในวันที่ 2 – 5 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

  • สำหรับพื้นที่การเกษตรซึ่งมีฝนตกและดินมีความชื้นเพียงพอ เกษตรกรสามารถเพาะปลูกพืชได้ และควรชุบท่อนพันธุ์ด้วยสารป้องกันเชื้อรา และไม่ควรปลูกแน่นจนเกินไป เพื่อลดความชื้นสะสมภายในแปลงปลูก ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งมักระบาดในช่วงฤดูฝน นอกจากนี้ควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตรในระยะที่พืชเจริญเติบโตด้วย เนื่องจากในระยะปลายเดือนหน้าอาจเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงได้

*ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวกรวมทั้งซ่อมแซมหลังคาอย่าให้รั่วซึม และทำแผงกำบังฝนสาดให้กับสัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันสัตว์เปียกชื้น อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย นอกจากนี้ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่จะเกิดกับสัตว์เลี้ยงในช่วงฤดูฝน เช่นโรคคอบวม และปากเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 30 พ.ค. – 2 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ ส่วนในวันที่ 3 – 5 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

  • ระยะนี้แม้จะมีฝนตก แต่ในบางพื้นที่ปริมาณฝนยังมีน้อย เกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทานที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ ควรมีแหล่งน้ำสำรองให้แก่พืชในระยะเจริญเติบโต เพื่อป้องกันพืชขาดน้ำ ซึ่งจะทำให้ต้นชะงักการ เจริญเติบโต ผลผลิตลดลงได้
  • สำหรับฝนที่ตกในระยะนี้จะทำให้อากาศมีความชื้นสูงส่งผลต่อสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสัตว์ปีกอาจเจ็บป่วยเป็นหวัด เกษตรกรควรหมั่นดูแล หากพบสัตว์ป่วย ควรรีบให้การรักษา
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรป้องกันไม่ให้น้ำฝนไหลลงบ่อ ซึ่งจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อาจเกิดการน๊อคน้ำได้ และควรเปิดเครื่องตีน้ำบ่อยขึ้นเพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำ

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 30 พ.ค. – 2 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในวันที่ 3 – 5 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

  • ระยะนี้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง อาจทำให้ไม้ผลที่อยู่ในระยะผลแก่และเก็บเกี่ยว ได้รับความเสียหายได้ เช่นทำให้เกิดโรคไส้ซึมในทุเรียน ผลแตกและเน่าในเงาะและลำไย ชาวสวนควรระวังและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว และหากผลผลิตแก่ดีแล้วควรรีบเก็บเกี่ยว

*ส่วนพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืช ทำให้พืชเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราได้

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 30 พ.ค. – 1 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ ส่วนในวันที่ 2 – 5 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร

*พื้นที่เกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกพืชให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำขังในพื้นที่เพาะปลูก เมื่อมีฝนหนัก

  • สำหรับเกษตรกรที่ปลูกพืชสวนควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นสะสมภายในสวนป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรคใบยางร่วง ลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง และโรคราสีชมพู ในยางพารา โรคใบจุดสนิมในกาแฟเป็นต้น หากพบโรคดังกล่าวควรรีบควบคุมโรค เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปยังต้นอื่นๆ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ในช่วงวันที่ 30 พ.ค. – 1 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในวันที่ 2 – 5 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1- 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

  • ระยะที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมาก และยังคงมีฝนตกต่อเนื่องในระยะนี้ โดยเฉพาะทางด้านตะวันตกของภาค อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตร เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก และไม่ควรปล่อยให้น้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืชนาน เพื่อป้องกันรากพืชขาดอากาศหายใจและต้นพืชตายได้
  • ส่วนพื้นที่เกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกพืชให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำขังในพื้นที่เพาะปลูก เมื่อมีฝนหนัก
  • สำหรับเกษตรกรที่ปลูกพืชสวนควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นสะสมภายในสวนป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรคใบยางร่วง ลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง และโรคราสีชมพู ในยางพารา โรคใบจุดสนิมในกาแฟเป็นต้น หากพบโรคดังกล่าวควรรีบควบคุมโรค เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปยังต้นอื่นๆ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ