พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 19 ตุลาคม 2559 - 25 ตุลาคม 2559

ข่าวทั่วไป Wednesday October 19, 2016 15:02 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 19 ตุลาคม 2559 - 25 ตุลาคม 2559

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 19-22 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 23-25 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

  • เกษตรกร ระยะนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว สภาพอากาศจะเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • พื้นที่การเกษตร ระยะนี้ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง โดยเริ่มจากทางตอนบนของภาค สำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่การเกษตรอยู่นอกเขตชลประทานและมีแหล่งเก็บน้ำเป็นของตนเอง ควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนตกน้อย
  • สัตว์เลี้ยง เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นฤดูหนาว เกษตรกรควรจัดเตรียมวัสดุและอุปกรณ์สำหรับกันหนาวและเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์เอาไว้ให้พร้อม

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 19-22 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ในช่วงวันที่ 23-25 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

  • เกษตรกร ระยะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว สภาพอากาศจะแปรปรวน เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • เกษตรกร ระยะต่อไปจะเป็นฤดูหนาว เกษตรกรควรเตรียมวัสดุและอุปกรณ์กันหนาวสำหรับตนเองเอาไว้ให้พร้อม
  • ข้าวนาปี ระยะนี้ปริมาณฝนลดลง โดยเริ่มจากทางตอนบนของภาค สำหรับข้าวที่อยู่ในระยะตั้งท้องและออกรวง ชาวนาควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่น หนอนกระทู้ และหนอนกอ เป็นต้น ซึ่งจะกัดกินทำให้ต้นข้าวและรวงข้าวเสียหาย ผลผลิตลดลง

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 19-22 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ในช่วงวันที่ 23-25 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมแปรปรวน ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

  • เกษตรกร สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ยังคงทำได้ เนื่องจากความชื้นในดินยังคงมีอยู่ แต่ควรมีน้ำสำรองเอาไว้ให้พืชในระยะเจริญเติบโตและระยะผลิดอกออกผลด้วย ถ้าพืชได้รับน้ำน้อยจะทำให้ชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง หากขาดน้ำจะทำให้สูญเสียผลผลิตโดยสิ้นเชิง
  • สัตว์เลี้ยง เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ
  • พืชไร่ เนื่องจากระยะนี้ดินและอากาศยังคงมีความชื้นสูง ผู้ที่ปลูกพืชไร่ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคแส้ดำในอ้อย โรคราสนิมในข้าวโพด เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 19-21 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 22-25 ต.ค.มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 20-24 ต.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม. /ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส

  • ไม้ผล ระยะนี้ดินและอากาศยังคงมีความชื้นสูง เกษตรกร ควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่า ซึ่งมักระบาดในช่วงที่มีความชื้นสูง โดยดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน
  • พื้นที่การเกษตร พื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ อย่าให้น้ำขังบริเวณโคนต้นพืชนาน เกิน 7 วัน เพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศต้นพืชตายได้
  • ประมงชายฝั่ง ในช่วงวันที่ 19-24 ต.ค. อ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2-3 เมตร ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรระวังป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 19-23 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบนของภาค ในช่วงวันที่ 22-25 ต.ค.มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ในช่วงวันที่ 20-24 ต.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส

  • พื้นที่การเกษตร เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงฤดูฝนของทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก ปริมาณและการกระจายของฝนจะเพิ่มขึ้น เกษตรกรควรขุดลอกคูคลอง ทางระบายน้ำ ตลอดจนสันดอนปากแม่น้ำอย่าให้ตื้นเขิน เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวก ป้องกันน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่เพาะปลูก และที่อยู่อาศัย
  • ไม้ผล สำหรับไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งและขั้วผลแล้วทาด้วยสารป้องกันเชื้อรา รวมทั้งไม่ควรกองเปลือกและผลที่เน่าเสียร่วงหล่น เอาไว้ในบริเวณสวน เพราะจะเป็นแหล่งอาศัยหลบซ่อนของโรคและศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งสามารถระบาดจากเปลือกและผลที่เน่าเสียมาสู่ต้นพืชได้

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ในช่วงวันที่ 19-21 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบนของภาค ในช่วงวันที่ 22-25 ต.ค.มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 20-24 ต.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม. /ชม.ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส

  • พื้นที่การเกษตร สำหรับบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกปริมาณและการกระจายของฝนจะเริ่มลดลง เกษตรกรควร กักเก็บน้ำอาไว้ใช้ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนตกน้อย
  • ประมงชายฝั่ง ในช่วงวันที่ 19-24 ต.ค. ทะเลอันดามันและ อ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ