พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 18 มกราคม 2560 - 24 มกราคม 2560

ข่าวทั่วไป Wednesday January 18, 2017 15:17 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 18 มกราคม 2560 - 24 มกราคม 2560

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 18-20 ม.ค. อากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 14-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 7-10 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 21-24 ม.ค. อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 12-18 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-30 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-9 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

  • เกษตรกร ในช่วงนี้ จะมีอากาศหนาวเย็นโดยทั่วไป ยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด เกษตรกรควรเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ตนเอง และสัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • พืชไร่/ พืชผัก อากาศเย็นกับมีหมอกและน้ำค้างในตอนเช้า เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรคราน้ำค้างในพืชผัก ข้าวโพด พืชตระกูลแตง และราสนิมในถั่วเหลือง เป็นต้น นอกจากนี้ ไม่ควรตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายได้
  • สัตว์เลี้ยง สภาพอากาศหนาวเย็น ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือนให้แก่สัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสัตว์ที่ยังเล็ก เพื่อป้องกันสัตว์หนาวเย็น จนอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 18-20 ม.ค. อากาศเย็น กับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 9-12 องศาเซลเซียส ส่วนในวันที่ 21-24 ม.ค. อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 14-19 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 6-10 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม.

  • สัตว์เลี้ยง ระยะนี้อากาศหนาวเย็น และมีลมแรง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และทำแผงกำบังลมหนาวให้กับสัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันลมโกรกโรงเรือน ป้องกันสัตว์หนาวเย็น อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะสัตว์เล็ก
  • สัตว์น้ำ ช่วงที่มีอุณหภูมิลดลงส่งผลให้อุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อปรับอุณหภูมิน้ำและเป็นการเพิ่มออกซิเจน รวมทั้งลดอาหารให้น้อยลง เพราะสัตว์น้ำจะกินอาหารได้น้อย อาหารที่เหลือจะทำให้ น้ำเน่าเสียได้ ส่งผลให้ปลาอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 18-20 ม.ค. อากาศเย็น กับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 22-24 ม.ค. อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม.

  • สัตว์เลี้ยง ตอนบนของภาคจะมีอากาศเย็นและมีลมแรง เกษตรกรควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือน และอย่าปล่อยให้ลมหนาวโกรกภายในโรงเรือน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงหนาวเย็น จนอ่อนแอและป่วยเป็นโรคได้ง่าย
  • ไม้ผล สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะออกดอกถึงติดผล เช่น มะม่วงและส้มโอ ชาวสวนควรให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืช อย่างเพียงพอ โดยเริ่มจากปริมาณน้อยๆแล้วค่อยเพิ่มปริมาณขึ้น รวมทั้งระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ดอกร่วงหล่น การติดผลลดลง

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 18-20 ม.ค. มีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 22-24 ม.ค. อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส

  • สัตว์เลี้ยง ช่วงที่อุณหภูมิลดลง โดยเฉพาะทางตอนบนของภาค เกษตรกร ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือน อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน จนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • ไม้ผล สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะออกดอกและติดผลอ่อนแล้ว ชาวสวนควรดูแลให้น้ำอย่างเหมาะสม โดยให้ในปริมาณน้อยๆก่อนและค่อยๆเพิ่มขึ้น รวมทั้งระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ผลอ่อนร่วงหล่น

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 19-24 ม.ค. จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนมาก ทางตอนล่างของภาค ตั้งแต่จังหวัดชุมพรขึ้นไป: ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่ จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงมา: ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส

  • พื้นที่การเกษตร ในช่วงวันที่ 19-24 ม.ค. ภาคใต้ตอนล่างจะมีฝนตกหนักมาก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งพืชผลทางการเกษตร ส่วนบริเวณที่น้ำลดลงแล้วเกษตรควรปรับปรุงระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก
  • ปาล์มน้ำมัน ระยะนี้ยังมีฝนตกต่อเนื่อง เกษตรกรควรระวังการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคยอดเน่า ทะลายเน่า และรากเน่า ชาวสวนควรหมั่นสำรวจหากพบควรรีบกำจัดก่อนระบาดเป็นบริเวณกว้าง
  • สัตว์เลี้ยง ฝนตกต่อเนื่องกับมีน้ำท่วมขัง เกษตรกรควรป้องกันการเจ็บป่วยของสัตว์ โดยเฉพาะโรคคอบวม และโรคปากและเท้าเปื่อยในโคและกระบือ รวมทั้งควรหมั่นสังเกต หากพบสัตว์ป่วยควรแยกออกจากกลุ่ม และรีบรักษา
  • ประมงชายฝั่ง ในช่วงวันที่ 19-24 ม.ค. บริเวณอ่าวไทย จะมีคลื่นลมแรงโดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-33 องศาเซลเซียส

  • พื้นที่การเกษตร ในช่วงวันที่ 19-24 ม.ค. ภาคใต้ตอนล่างจะมีฝนตกหนักมาก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งพืชผลทางการเกษตร ส่วนบริเวณที่น้ำลดลงแล้วเกษตรควรปรับปรุงระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก
  • ปาล์มน้ำมัน ระยะนี้ยังมีฝนตกต่อเนื่อง เกษตรกรควรระวังการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคยอดเน่า ทะลายเน่า และรากเน่า ชาวสวนควรหมั่นสำรวจหากพบควรรีบกำจัดก่อนระบาดเป็นบริเวณกว้าง
  • สัตว์เลี้ยง ฝนตกต่อเนื่องกับมีน้ำท่วมขัง เกษตรกรควรป้องกันการเจ็บป่วยของสัตว์ โดยเฉพาะโรคคอบวม และโรคปากและเท้าเปื่อยในโคและกระบือ รวมทั้งควรหมั่นสังเกต หากพบสัตว์ป่วยควรแยกออกจากกลุ่ม และรีบรักษา

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ