พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 29 พฤษภาคม 2560 - 04 มิถุนายน 2560

ข่าวทั่วไป Monday May 29, 2017 15:52 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 29 พฤษภาคม 2560 - 04 มิถุนายน 2560

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 29-30 พ.ค.มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 31 พ.ค. -4 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

  • พื้นที่การเกษตร ในช่วงวันที่ 29-30 พ.ค. จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรได้ เกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดกับพืชผลการเกษตร โดยเฉพาะนาข้าวที่อยู่ในระยะกล้าและแตกกอบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ชาวนาควรเสริมคันนาเพื่อป้องกันน้ำหลากท่วมนาข้าว และเตรียมเครื่องสูบให้พร้อมใช้งาน
  • ปลาในกระชัง สำหรับฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนัก จะทำให้มีตะกอนแขวนลอย และระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อระบบการหายใจของปลา ทำให้ปลาปรับตัวไม่ทัน เครียด อ่อนแอ กินอาหารได้น้อยลง และอาจน๊อกน้ำตายได้ เกษตรกรควรลดปริมาณอาหารให้น้อยลง หากปลาโตได้ขนาดควรรีบจับขายเพื่อลดความเสี่ยง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 29-30 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ส่วนในช่วงวันที่ 31 พ.ค. -4 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

  • พืชไร่/ พืชผัก สำหรับฝนที่ตกต่อเนื่องทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เหมาะแก่การระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราน้ำค้างในข้าวโพด และพืชผักสวนครัว โรคเน่าคอดินในพืชตระกูลถั่ว และโรคหัวเน่าโคนเน่าในมันสำปะหลัง เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงปลูกหากพบต้นที่แสดงอาการของโรคให้ถอนและเผาทำลาย รวมทั้งจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ
  • สัตว์เลี้ยง เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะสัตว์เท้ากีบ เช่น โคและกระบือ ซึ่งอาจเป็นโรคปากและเท้าเปื่อยได้ รวมทั้งให้วัคซีนป้องกันโรคแก่สัตว์เลี้ยง

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 29-30 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 31 พ.ค.-4 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

  • พื้นที่การเกษตร ในช่วงวันที่ 29-30 พ.ค. จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรได้ เกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดกับพืชผลการเกษตร โดยการจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูกเป็นเวลานานทำให้รากพืชขาดอากาศต้นพืชตายได้
  • สัตว์เลี้ยง สำหรับฝนที่ตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมขังพื้นที่เลี้ยงสัตว์ที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรยกพื้นคอกสัตว์ให้สูง ดูแลโรงเรือนให้หลังคาไม่รั่วซึม เพื่อป้องกัน สัตว์เปียกชื้น หนาวเย็น จนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย เช่น โรคคอบวมในโคและกระบือ โรคหวัดในสัตว์ปีกและสุกร เป็นต้น

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 29-30 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1- 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 31 พ.ค.-4 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส

  • ไม้ผล ช่วงวันที่ 29 -30 พ.ค. ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมได้ สวนไม้ผลในบริเวณที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืชนาน ทำให้รากพืชขาดอากาศ ต้นพืชตายได้ ส่วนไม้ผลที่อยู่ในระยะผลแก่และเก็บเกี่ยว ควรระวังป้องกันโรคเนื้อแก้วและยางไหลในมังคุด และโรคผลเน่าในทุเรียน เงาะ และลองกอง
  • สัตว์น้ำ ระยะนี้จะมีฝนตกต่อเนื่องตลอดช่วง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรหมั่นสังเกตสัตว์ที่เลี้ยงโดยเฉพาะหลังจากที่มีฝนตกซึ่งจะทำให้อุณหภูมิของน้ำและสภาพน้ำเปลี่ยน อาจจะทำให้สัตว์ปรับตัวไม่ทัน จนอ่อนแอและติดเชื้อโรคได้ง่าย เกษตรกรควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อปรับสภาพน้ำ และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่งในวันที่ 29 พ.ค.ส่วนมากทางด้านตอนบนของภาค ในช่วงวันที่ 29-30 พ.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 31 พ.ค.-4 มิ.ย. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส

  • ไม้ผล สำหรับสภาพอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงแดดส่องได้ถึงบริเวณโคนต้น เพื่อป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่า ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย รวมทั้งระวังศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินทำให้ผลผลิตเสียหาย
  • ยางพารา/กาแฟ ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกร ควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน ป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรครากขาวในยางพารา และโรคราสนิมในกาแฟ หากพบโรคดังกล่าวควรรีบควบคุมโรค เพื่อไม่ให้ระบาดเป็นบริเวณกว้าง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ในช่วงวันที่ 29-30 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 31 พ.ค.-4 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนบนของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม. /ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตรบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส

  • พื้นที่การเกษตร ระยะนี้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีฝนตกชุก กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรได้ โดยเฉพาะบริเวณที่ลาดเชิงเขา และพื้นที่ที่ลุ่ม เกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดกับพืชผลการเกษตร โดยการจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูกเป็นเวลานานทำให้รากพืชขาดอากาศต้นพืชตายได้
  • ไม้ผล สำหรับสภาพอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงแดดส่องได้ถึงบริเวณโคนต้น เพื่อป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่า ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย รวมทั้งระวังศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินทำให้ผลผลิตเสียหาย
  • ยางพารา/กาแฟ ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกร ควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน ป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรครากขาวในยางพารา และโรคราสนิมในกาแฟ หากพบโรคดังกล่าวควรรีบควบคุมโรค เพื่อไม่ให้ระบาดเป็นบริเวณกว้าง
  • ประมงชายฝั่ง ในช่วงวันที่ 29-30 พ.ค. คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร สำหรับบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรระวังและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ