พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 07 กรกฎาคม 2560 - 13 กรกฎาคม 2560

ข่าวทั่วไป Friday July 7, 2017 16:13 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 07 กรกฎาคม 2560 - 13 กรกฎาคม 2560

ภาคเหนือ

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

  • พื้นที่การเกษตร ฝนที่ตกต่อเนื่องทำให้สภาพอากาศมีความชื้นสูง เหมาะต่อการเกิดโรคที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ และพืชผัก เช่น โรคเน่าคอดินในพืชตระกูลถั่ว และโรคราน้ำค้างในพืชตระกูลกะหล่ำ เกษตรกรควรดูแลแปลงปลูกให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา รวมทั้งปรับปรุงระบบระบายน้ำให้ใช้การได้ดีเพื่อป้องกันน้ำท่วมขังแปลงปลูกเมื่อมีฝนตกหนัก
  • สัตว์เลี้ยง เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแลโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก และดูแลคอกสัตว์ให้ถูกสุขลักษณะ เพื่อป้องกันสัตว์อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย รวมทั้งหมั่นสังเกตสัตว์เลี้ยงหากพบสัตว์ป่วยควรรีบแยกออกจากกลุ่มแล้วรักษา เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ไปยังตัวอื่นๆ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 7 – 9 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 10-13 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • ข้าวนาปี ระยะนี้จะยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง สำหรับข้าวนาปีที่อยู่ในระยะกล้า ชาวนาควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคไหม้ ซึ่งจะพบการระบาดมากในนาหว่านที่มีข้าวขึ้นหนาแน่นและอับลม ถ้าโรคระบาดรุนแรงจะทำให้ต้นข้าวแห้งตาย
  • ปลาในกระชัง สำหรับฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนัก จะทำให้มีตะกอนแขวนลอย และระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ปลาปรับตัวไม่ทัน เครียด อ่อนแอ กินอาหารได้น้อยลง และอาจน๊อกน้ำตายได้ เกษตรกรควรลดปริมาณอาหารให้น้อยลง หากปลาโตได้ขนาดควรรีบจับขายเพื่อลดความเสี่ยง

ภาคกลาง

ฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 7 – 8 ก.ค. อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • พืชไร่ ระยะนี้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องทั้งปริมาณและการกระจาย สำหรับพืชไร่ที่กำลังเจริญเติบโต เกษตรกรควรหมั่นสำหรวจและกำจัดวัชพืชบริเวณรอบแปลงปลูกเพื่อไม่ให้แย่งสารอาหารจากพืชและไม่ให้เป็นเป็นแหล่งอาศัยหลบซ่อนของโรคและแมลงศัตรูพืชต่างๆ
  • สัตว์น้ำ ระยะนี้จะมีฝนตกต่อเนื่องตลอดช่วง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรหมั่นสังเกตสัตว์ที่เลี้ยงโดยเฉพาะหลังจากที่มีฝนตกซึ่งจะทำให้อุณหภูมิของน้ำและสภาพน้ำเปลี่ยน อาจจะทำให้สัตว์ปรับตัวไม่ทัน จนอ่อนแอและติดเชื้อโรคได้ง่าย เกษตรกรควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อปรับสภาพน้ำ และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 7 – 9 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 10 – 13 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15 -30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1 - 2 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส

  • พื้นที่การเกษตร ระยะนี้บริเวณตอนล่างของภาคโดยเฉพาะบริเวณจังหวัดจันทบุรีและตราดจะมีฝนตกหนักต่อเนื่อง เกษตรกรควรระวังป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งควรปรับปรุงระบบระบายน้ำให้ใช้การได้ดีเพื่อป้องกันน้ำท่วมขังแปลงปลูกเมื่อมีฝนตกหนัก
  • สัตว์น้ำ ระยะนี้จะมีฝนตกต่อเนื่องตลอดช่วง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรหมั่นสังเกตสัตว์ที่เลี้ยงโดยเฉพาะหลังจากที่มีฝนตกซึ่งจะทำให้อุณหภูมิของน้ำและสภาพน้ำเปลี่ยน อาจจะทำให้สัตว์ปรับตัวไม่ทัน จนอ่อนแอและติดเชื้อโรคได้ง่าย เกษตรกรควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อปรับสภาพน้ำ และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15 -30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1 - 2 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส

  • พื้นที่การเกษตร เนื่องจากระยะที่ผ่านมาบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกน้อย เช่น บริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุงและสงขลา และในระยะนี้แม้จะมีฝนตกแต่ปริมาณจะไม่เพียงพอกับความต้องการน้ำของพืชโดยเฉพาะไม้ผลที่กำลังเจริญเติบโตทางผล ดังนั้นเกษตรกรควรจัดหาน้ำให้แก่พืชที่ปลูกตามความเหมาะสม เพื่อป้องกันผลชะงักการเจริญเติบโต

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ในช่วงวันที่ 7 – 9 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากว่า 2 เมตร ในช่วงวันที่ 10-13 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตั้งแต่ จ.ระนองขึ้นไป: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ตั้งแต่ จ.ภูเก็ตลงมา: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1- 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส

  • ยางพารา ระยะนี้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะยังคงมีฝนและฝนตกหนักส่วนมากในช่วงวันที่ 7-9 ก.ค.โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่จังหวัดระนองและพังงา ทำให้สภาพอากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคเส้นดำ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้หน้ากรีดยางเสียหายได้
  • ชาวประมง ในช่วงวันที่ 7 – 9 ก.ค. บริเวณทะเลอันดามัน จะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ