พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 15 - 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ข่าวทั่วไป Wednesday November 15, 2017 15:35 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 15 - 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ออกประกาศวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 137/60

การคาดหมายลักษณะอากาศในช่วงวันที่ 15-17 พ.ย. ภาคเหนือ กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 18-21 พ.ย. ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 2-5 องศาเซลเซียส กับมีลมแรงและอากาศจะเย็นลง ส่วนภาคใต้มีฝนตกเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

คำเตือน ในช่วงวันที่ 18-21 พ.ย. ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็นลง ส่วนภาคใต้ขอให้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ส่วนชาวเรือในบริเวณอ่าวไทยและอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังไว้ด้วย

ภาคเหนือ

สภาพอากาศ 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 15-18 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 19-21 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรงและอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 17-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
  • เกษตรกร ระยะนี้มีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และจะฝนเล็กน้อยบางแห่ง โดยในช่วงวันที่ 19-21 พ.ย.จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในระยะแรก ต่อจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียสกับมีลมแรง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพของตนเองและสัตว์เลี้ยงให้ได้รับความอบอุ่นเพียงพอ เพื่อป้องกันร่างกายปรับตัวไม่ทัน จะอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • กาแฟ ระยะนี้อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และในช่วงวันที่ 19-21 พ.ย.อุณหภูมิจะลดลงทำให้มีอุณหภูมิต่ำสุด 17-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เชื้อราสามารถเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะบริเวณที่มีการปลูกพืชใกล้ชิดกันมากหรือปลูกพืชในที่ร่ม มีอากาศถ่ายเทน้อย เกษตรกรที่ปลูกกาแฟควรหมั่นสำรวจแปลงปลูก เมื่อพบการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราเช่น โรคราสนิม เป็นต้น ควรรีบควบคุมก่อนระบาดไปยังต้นอื่นๆ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สภาพอากาศ 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 15-17 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 18-21 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียสกับมีลมแรงและอากาศเย็นอุณหภูมิต่ำสุด 16-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
  • สัตว์เลี้ยง ระยะนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง โดยในช่วงวันที่ 18-21 พ.ย.จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในระยะแรก ต่อจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียสกับมีลมแรง เกษตรกรควรดูแลสัตว์เลี้ยงให้ได้รับความอบอุ่นเพียงพอ เพื่อป้องกันร่างกายปรับตัวไม่ทัน จะอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • พืชไร่ ระยะนี้อากาศเย็นและชื้น กับมีหมอกในตอนเช้า และในช่วงวันที่ 19-21 พ.ย.อุณหภูมิจะลดลงทำให้มีอุณหภูมิต่ำสุด 16-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เชื้อราสามารถเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะบริเวณที่มีการปลูกพืชใกล้ชิดกันมากหรือมีอากาศถ่ายเทน้อย จะทำให้เชื้อราเข้าทำลายได้ง่าย เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงปลูก เมื่อพบการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราน้ำค้างและโรคราสนิมในพืชตระกูลถั่ว เป็นต้น ควรรีบควบคุมก่อนระบาดไปยังต้นอื่นๆ

ภาคกลาง

สภาพอากาศ 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 15-18 พ.ย. มีเมฆเป็นส่วนมาก โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ส่วนมากทางตอนล่างของภาคอุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.ส่วนในช่วงวันที่ 19-21 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรงและอากาศเย็นอุณหภูมิต่ำสุด 20-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
  • พืชไร่ ในวันที่ 19-21 พ.ย. จะมีอากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในระยะแรก เกษตรกรที่ปลูกพืชไร่โดยเฉพาะบริเวณที่มีการปลูกพืชใกล้ชิดกันมาก และมีอากาศถ่ายเทน้อย ควรหมั่นสำรวจแปลงปลูก เพราะสภาพอากาศในระยะนี้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อรา ซึ่งอาจชักนำให้เกิดการระบาดของโรคพืช เช่น โรคราสนิมในพืชตระกูลถั่วและอ้อย เป็นต้น
  • สัตว์เลี้ยง ในช่วงนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง โดยในช่วงวันที่ 19-21 พ.ย.จะมีฝนเล็กน้อยบางแห่งและอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะด้านตะวันตกของภาค เกษตรกรควรดูแลสัตว์เลี้ยงให้ได้รับความอบอุ่นเพียงพอ เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออก

สภาพอากาศ 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 15-18 พ.ย. มีเมฆเป็นส่วนมาก โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในวันที่ 19-21 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรงและอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียสลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
  • พื้นที่การเกษตร เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงแล้ง ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตร ในช่วงที่มีฝนตกน้อย
  • สัตว์น้ำ ในช่วงวันที่ 19-21 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส สำหรับสภาพอากาศที่หนาวเย็นโดยเฉพาะบริเวณตอนบนของภาค อาจทำให้สัตว์น้ำกินอาหารได้น้อยลง เกษตรกรควรลดปริมาณอาหารที่ให้ เพื่อไม่ให้อาหารเหลือ ซึ่งจะทำให้น้ำเน่าเสีย ส่งผลกระทบกับสัตว์ รวมทั้งเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อปรับอุณหภูมิน้ำ และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ

ภาคใต้

สภาพอากาศ 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 15-18 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 19-21 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางตอนบนของภาค ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20 -35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส

ฝั่งตะวันตกในช่วงวันที่ 15-19 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ส่วนในช่วงวันที่ 20-21 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20 -35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-33 องศาเซลเซียส

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
  • พื้นที่การเกษตร ในช่วงวันที่ 19-21 พ.ย.จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณตอนบนของภาคใต้ฝั่งตะวันออก เกษตรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งควรจัดระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ ไม่ควรปล่อยให้น้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูกเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้
  • ไม้ผล ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกัน เกษตรกรที่ปลูกพืชสวน ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจาก เชื้อรา เช่น โรคราใบติด และโรคราสีชมพู เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย และตายได้ นอกจากนี้ชาวสวนควรตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง ให้แสงแดดส่องถึงโคนต้นพืช เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพืชดังกล่าว
  • ชาวเรือและชาวประมง ในช่วงวันที่ 18 - 21 พ.ย. บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 15-21 พฤศจิกายน 2560

ปริมาณฝนสะสมเดือนพฤศจิกายน (ในช่วงวันที่ 1-14 พ.ย.) บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม. โดยภาคตะวันออกตอนล่างมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 50-100 มม. สำหรับภาคใต้ส่วนมากมีปริมาณฝนสะสม 50-400 มม. โดยภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 200-400 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม. โดยภาคตะวันออกตอนล่าง มีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 50-100 มม. สำหรับภาคใต้ส่วนมากมีปริมาณฝนสะสม 25-200 มม. โดยภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 100-200 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยส่วนมากมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 15-30 มม. โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างด้านตะวันออกมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมมากกว่าบริเวณอื่น

สมดุลน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำสะสม (-1)-(-30) มม. เว้นแต่ภาคกลางตอนล่างด้านตะวันตกมีค่าสมดุลน้ำสะสม 1-70 มม. สำหรับภาคใต้ส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำสะสม 1-150 มม. โดยภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างมีค่าสมดุลน้ำสะสมสูงสุด 100-150 มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาบริเวณประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ และในช่วง 7 วันข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนจะมีหมอกในตอนเช้าและมีฝนเล็กน้อยบางพื้นที่ เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชเพิ่มเติมตามความเหมาะสมเนื่องจากค่าสมดุลน้ำสะสมส่วนมากมีค่าเป็นลบ ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นโดยภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีฝนตกหนักบางพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมขังได้ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว และควรจัดระบบระบายน้ำบริเวณแปลงปลูกพืชให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งระวังการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักชนิดต่างๆ ที่จะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ