พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 17 - 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ข่าวทั่วไป Friday November 17, 2017 14:47 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 17 - 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 138/60

การคาดหมายลักษณะอากาศในช่วงวันที่ 18-21 พ.ย. ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีลมแรงและอากาศจะเย็นลง ส่วนภาคใต้มีฝนตกเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ในช่วงวันที่ 22-23 พ.ย.ประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิจะลดลงได้อีก 2-4 องศาเซลเซียส

คำเตือน ในช่วงวันที่ 18-23 พ.ย. บริเวณประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิจะลดลง เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอและดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ส่วนภาคใต้จะมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก สำหรับบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีคลื่นลมแรงชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

สภาพอากาศ 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 18-19 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 20-23 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีลมแรงและอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 17-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
  • พื้นที่การเกษตร เนื่องจากในช่วงฤดูหนาวอากาศจะจมตัว เกษตรกร ควรหลีกเลี่ยงการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพราะควันไฟจะไม่สามารถลอยขึ้นไปในบรรยากาศได้แต่จะแผ่บกคลุมบริเวณข้างเคียง เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และทำให้ทัศนวิสัยลดลง เป็นอุปสรรคต่อการสัญจร
  • ไม้ผล สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะเตรียมตัวแตกตาดอก เช่น ลิ้นจี่และลำไย เป็นต้น เกษตรกรควรกำจัดวัชพืชบริเวณโคนต้นให้โล่งเตียน งดให้น้ำ เพื่อรอสภาพอากาศที่หนาวเย็น และยาวนานเพียงพอ พืชก็จะแตกตาดอกได้ดี

ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ

สภาพอากาศ 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 18-21 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีลมแรงและอากาศเย็น ส่วนในวันที่ 22-23 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 16-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
  • เกษตรกร ระยะนี้อากาศแปรปรวน โดยในช่วงวันที่ 18-21 พ.ย.จะมีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งขณะฟ้าคะนอง ต่อจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง เกษตรกร ควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย

พื้นที่การเกษตร เนื่องจากระยะนี้ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืช และบริเวณโคนต้นพืช ด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน

  • สัตว์เลี้ยง ในช่วงที่มีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่กลางแจ้ง ต่อจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง เกษตรกร ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน จนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคกลาง

สภาพอากาศ 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 18-21 พ.ย. มีเมฆเป็นส่วนมาก โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม. /ชม. ส่วนในวันที่ 22-23 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีลมแรงและอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 20-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
  • พืชไร่/ไม้ , ผล/พืชผัก ระยะนี้สภาพอากาศแปรปรวน โดยมีฝนตกในบางวัน เกษตรกรที่ปลูกพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ควรระวัง และป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
  • พื้นที่การเกษตร สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน หากเกษตรกรต้องการปลูกพืชในระยะนี้ ควรปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้น และใช้น้ำน้อย เนื่องจากระยะต่อไป(3-5 เดือนข้างหน้า)จะเป็นช่วงแล้ง ปริมาณและการกระจายของฝนจะมีน้อย

ภาคตะวันออก

สภาพอากาศ 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 18-21 พ.ย. มีเมฆเป็นส่วนมาก โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่ง มีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในวันที่ 22-23 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีลมแรงและอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
  • ไม้ผล สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะพักตัว เพื่อเตรียม แทงช่อดอก เกษตรกรควร กำจัดวัชพืชบริเวณโคนต้น งดให้น้ำ รอจนเห็นดอกชัดเจนและเพียงพอแล้วจึงค่อยให้น้ำ โดยให้ในปริมาณที่น้อยก่อนแล้วค่อยเพิ่มปริมาณขึ้น
  • พื้นที่การเกษตร สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ยังคงทำได้เนื่องจากความชื้นในดินยังคงมีอยู่ แต่ควรมีน้ำสำรองให้แก่พืชในระยะเจริญเติบโต เพราะหากพืชได้รับน้ำ ไม่เพียงพอจะทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ ถ้าพืชขาดน้ำเป็นเวลานานจะทำให้ต้นพืชตาย ผลผลิตเสียหายโดยสิ้นเชิง
ภาคใต้

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 17-18 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนมาก ทางตอนล่างของภาค ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 19-23 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส

ฝั่งตะวันตกในช่วงวันที่ 17-19 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 20-23 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนัก บางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
  • พื้นที่การเกษตร ระยะนี้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีปริมาณ และการกระจายของฝนมากกว่าทางภาคใต้ ฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะในช่วงที่มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ มีกำลังแรงภาคใต้ฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นด้านรับลมมรสุมดังกล่าวอาจมีฝนตกหนักได้บางพื้นที่ซึ่งจะทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากได้ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยขุดลอกคูลองทางระบายน้ำ ตลอดจนสันดอนปากแม่น้ำอย่าให้ตื้นเขิน น้ำไหลได้สะดวก
  • พืชสวน ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชสวน เช่น โรครากเน่าโคนเน่า ในไม้ผล โรคหน้ากรีดยางในยางพารา และโรคราสีชมพูในลองกอง เป็นต้น
  • ชาวเรือและชาวประมง ในช่วงวันที่ 19 - 23 พ.ย. บริเวณอ่าวไทยและทะเล อันดามันจะมีคลื่นลมแรง โดยมีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 17-23 พฤศจิกายน 2560

ปริมาณฝนสะสมเดือนพฤศจิกายน (ในช่วงวันที่ 1-16 พ.ย.) บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม. โดยภาคตะวันออกตอนล่างมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 50-100 มม. สำหรับภาคใต้ส่วนมากมีปริมาณฝนสะสม 50-600 มม. โดยภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 200-600 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม. โดยภาคตะวันออกตอนล่างมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 50-100 มม. สำหรับภาคใต้ส่วนมากมีปริมาณฝนสะสม 25-150 มม. โดยภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 50-150 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยส่วนมากมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 15-30 มม. โดยภาคเหนือตอนล่าง ตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันออก และภาคใต้ตอนล่าง มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมมากกว่าบริเวณอื่น

สมดุลน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำสะสม (-1)-(-30) มม. เว้นแต่ภาคกลางตอนล่างด้านตะวันตกมีค่าสมดุลน้ำสะสม 1-70 มม. สำหรับภาคใต้ส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำสะสม 1-150 มม. โดยภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างมีค่าสมดุลน้ำสะสมสูงสุด 70-150 มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาบริเวณประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ และในช่วงวันที่ 18-21 พ.ย. ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักไว้ด้วย ส่วนภาคใต้จะมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าวโดยจัดระบบระบายน้ำบริเวณแปลงปลูกพืชให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งระวังการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักชนิดต่างๆ ที่จะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

รายงานลักษณะอากาศในระยะ 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 10-16 พฤศจิกายน 2560 บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนเกือบตลอดช่วง ส่งผลให้ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อยแต่ยังคงมีอากาศเย็นส่วนมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับฝนในช่วงนี้ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมอ่าวไทยและประเทศมาเลเซียในช่วงวันที่ 13-15 พ.ย. นอกจากนี้มีลมตะวันออกพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนในระยะปลายช่วง ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นส่วนมากในภาคกลางและภาคตะวันออก ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนาแน่นเกือบตลอดช่วง

ภาคเหนือ มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปส่วนมากทางตอนบนของภาค สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาว โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในวันสุดท้ายของช่วงมีฝนร้อยละ 60 ของพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปส่วนมากในระยะกลางช่วง สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภูมีอากาศหนาว โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 15 พ.ย. มีฝนร้อยละ 50 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง ภาคกลาง มีอากาศเย็น บางพื้นที่ทางตอนบนของภาค โดยมีฝนร้อยละ 10-50 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 15 พ.ย. มีฝนร้อยละ 80 ของพื้นที่ กับมีฝนหนัก บางแห่ง ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นบางพื้นที่เป็นบางวัน โดยมีฝนมากกว่าร้อยละ 65 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งในระยะครึ่งแรก ของช่วง จากนั้นมีฝนร้อยละ 20-60 ของพื้นที่ ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศเย็นบางพื้นที่ โดยมีฝนมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 12 และ15 พ.ย. มีฝนร้อยละ 50 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศเย็นบางพื้นที่ โดยมีฝนมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 13 พ.ย. มีฝนร้อยละ 50 ของพื้นที่

ช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดพัทลุง สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนักได้แก่ เชียงใหม่ กำแพงเพชร ชัยภูมิ นครราชสีมา นครสวรรค์ ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี นครปฐม ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี จันทบุรี ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต และสตูล

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ