พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 24 - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ข่าวทั่วไป Friday November 24, 2017 15:42 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 24 - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 141/60

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 24-26 พ.ย.ประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นลง โดยอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียสในภาคเหนือ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 27-30 พ.ย. ประเทศไทยตอนบนเริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า แต่ยังคงมีอากาศเย็น ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

คำเตือน ในระยะนี้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นขอให้เกษตรกรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ส่วนบริเวณภาคใต้จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ เกษตรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง โดยในช่วงวันที่ 24-28 พ.ย. บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

สภาพอากาศ 7 วันข้างหน้า

ในวันที่ 24 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่และมีลมกระโชกแรง อุณหภูมิต่ำสุด 18-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ส่วนในวันที่ 25-30 พ.ย. อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 16-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • พื้นที่การเกษตร ในระยะนี้ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง
  • สัตว์เลี้ยง ในช่วงนี้จะมีอากาศหนาวเย็นและอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือน อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะสัตว์ที่ยังเล็กควรเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือน และหากพบสัตว์ที่ป่วยควรรีบแยกออกจากกลุ่มและรีบรักษาเพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ไปยังตัวอื่นๆ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สภาพอากาศ 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 24-26 พ.ย. อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 15-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-31 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ส่วนในวันที่ 27-30 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 17-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • พื้นที่การเกษตร ในระยะนี้ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงแล้ง และควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและบริเวณโคนต้นพืช ด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน
  • ปลาในกระชัง สภาพอากาศที่หนาวเย็นจะทำให้ปลากินอาหารได้น้อยเกษตรกรควรลดปริมาณอาหารลง เพราะอาหารที่เหลือจะทำสิ้นเปลืองงบประมาณ และควรให้อาหารปลาในช่วงที่อุณหภูมิสูงขึ้นจะทำให้ปลากินอาหารได้มากขึ้นการเจริญเติบโตดีขึ้น

ภาคกลาง

สภาพอากาศ 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 24-27 พ.ย. อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 20-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ส่วนในวันที่ 28-30 พ.ย. มีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิ ต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • พื้นที่การเกษตร เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณและการกระจายของฝนจะมีน้อยพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงแล้ง
  • พืชไร่/ไม้ผล/พืชผัก เนื่องจากปริมาณน้ำระเหยมีมาก เกษตรกรที่ปลูกพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ควรคลุมดินด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน

ภาคตะวันออก

สภาพอากาศ 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 24-27 พ.ย. อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในวันที่ 28-30 พ.ย. มีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • พื้นที่การเกษตร ในระยะนี้ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
  • ไม้ผล ในระยะนี้ชาวสวนผลไม้ควรป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่น หนอนเจาะลำต้นในทุเรียน หนอนชอนใบในมังคุด และหนอนชอนเปลือกลำต้นในลองกอง เป็นต้น ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ และอาจทำให้ต้นพืชตายได้

ภาคใต้

สภาพอากาศ 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักถึงหนัก มากบางแห่ง ในช่วงวันที่ 24-28 พ.ย. ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ในช่วงวันที่ 29-30 พ.ย. ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส

ฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 24-28 พ.ย. ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ในช่วงวันที่ 29-30 พ.ย. ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่ง มีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • พื้นที่การเกษตร ในระยะนี้จะมีฝนตกชุกหนาแน่นกับมีฝนตกหนัก ถึงหนักมากบางแห่ง อาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมได้ เกษตรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งควรจัดระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วม สำหรับพื้นที่เพาะปลูกที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้น้ำท่วมขังในแปลงปลูกเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้ รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการเหยียบย่ำดินบริเวณโคนต้นพืช เพราะอาจทำให้รากพืชช้ำเสียหายได้
  • พืชสวน ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศ มีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวน เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคหน้ากรีดยางในยางพารา และโรคราสีชมพูในลองกอง เป็นต้น
  • ชาวเรือและชาวประมง ในระยะนี้บริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง สำหรับในช่วงวันที่ 24-28 พ.ย. บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 24-30 พฤศจิกายน 2560

ปริมาณฝนสะสมเดือนพฤศจิกายน (ในช่วงวันที่ 1-23 พ.ย.) บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่บริเวณภาคตะวันออกตอนล่างและภาคกลางตอนล่างมีปริมาณฝนสะสม 100-150 มม. สำหรับภาคใต้ส่วนมากมีปริมาณฝนสะสม 50-600 มม. โดยภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 200-600 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม.เป็นส่วนใหญ่ โดยภาคตะวันออกตอนล่างและภาคกลางตอนล่างมีปริมาณฝนสะสมมากกว่าบริเวณอื่น สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนสะสม 10-200 มม. เป็นส่วนใหญ่โดยทางตอนบนของภาคมีปริมาณฝนสะสมมากกว่าบริเวณอื่นๆ

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยส่วนมากมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 15-30 มม. โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างด้านตะวันออกและภาคใต้ตอนล่างมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมมากกว่าบริเวณอื่นๆ

สมดุลน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยตอนบนมีค่าสมดุลน้ำสะสม (-1)-(-30) มม.เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่ภาคกลางตอนล่างด้านตะวันตกและภาคตะวันออกตอนล่างมีค่าสมดุลน้ำสะสม 1-70 มม. สำหรับภาคใต้มีค่าสมดุลน้ำสะสม 1-200 มม. เป็นส่วนใหญ่ โดยบริเวณจังหวัดชุมพรและประจวบคีรีขันธ์มีค่าสมดุลน้ำสะสมสูงสุด ส่วนบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดปัตตานี ค่าสมดุลน้ำสะสม(-1)-(-20) มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาบริเวณประเทศไทยตอนบนปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อยในช่วง 7 วันข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนเล็กน้อยบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชเสียหายการผลิดอกออกผล ลดลง สำหรับบางช่วงอาจมีลมแรง เกษตรกรควรทำแผงกำบังลมหนาวให้กับสัตว์เลี้ยงเพื่อป้องกันลมโกรกโรงเรือนทำให้สัตว์หนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรลดปริมาณอาหาร เนื่องอุณหภูมิที่ลดลงจะทำให้สัตว์น้ำกินอาหารได้น้อยลง ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นโดยบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมได้ เกษตรกรควรระวังอันตราย และป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว และควรจัดระบบระบายน้ำบริเวณแปลงปลูกพืชให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งระวังการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักชนิดต่างๆ ที่จะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ