พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 23 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม พ.ศ. 2561

ข่าวทั่วไป Friday February 23, 2018 13:45 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม พ.ศ. 2561

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 24/61

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 23-24 ก.พ. ประเทศไทยตอนบนยังคงมีพายุฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นและมีฝนตกหนักและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง โดยมีลูกเห็บตกบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือและภาคกลาง สำหรับภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 25 ก.พ. – 1 มี.ค. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นทำให้มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนเกิดขึ้นได้บางแห่งบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออกรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สำหรับบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีหมอกในตอนเช้า

คำเตือน ในช่วงวันที่ 23-24 ก.พ. ขอให้เกษตรกรบริเวณประเทศไทยตอนบนหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรงในขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และเกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 23-24 ก.พ. มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งและลมกระโชกแรง โดยมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 25 ก.พ. – 1 มี.ค. อากาศเย็นและมีหมอกในตอนเช้าโดยมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 17 -24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงวันที่ 23-24 ก.พ. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดกับอาคารบ้านเรือนและพืชผลทางการเกษตร ผลผลิตที่แก่ดีแล้วควรรีบเก็บเกี่ยว และหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตไว้กลางแจ้งในช่วงนี้ นอกจากนี้บริเวณที่มีฝนตกหนักเกษตรกรควรกักเก็บน้ำไว้ใช้ทางด้านการเกษตร
  • ส่วนในช่วงวันที่ 25 ก.พ. – 1 มี.ค. จะมีฝนลดลงกับมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน ผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว หากเปียกฝนในระยะที่ผ่านมา เกษตรกรควรลดความชื้นก่อนนำเข้าโรงเก็บพืชผลทางการเกษตร เพื่อป้องกันผลผลิตเน่าเสียหายภายในโรงเก็บ
  • ระยะนี้จะมีสภาพอากาศแปรปรวน เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 23-24 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งและลมกระโชกแรงอุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด27-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 25 ก.พ. – 1 มี.ค. จะมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงวันที่ 25 ก.พ. – 1 มี.ค. จะมีฝนลดลงกับมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน ผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว หากเปียกฝนในระยะที่ผ่านมา เกษตรกรควรลดความชื้นก่อนนำเข้าโรงเก็บพืชผลทางการเกษตร เพื่อป้องกันผลผลิตเน่าเสียหายภายในโรงเก็บ
  • ระยะนี้จะมีสภาพอากาศแปรปรวน เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นฤดูร้อนปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง เกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัดและวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงแล้ง

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 23-24 ก.พ. มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักและลมกระโชกแรงบางแห่ง โดย มีลูกเห็บตกบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 25 ก.พ. – 1 มี.ค. จะมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว10-30 กม. /ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงวันที่ 23-24 ก.พ. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางแห่ง เกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดกับอาคารบ้านเรือนและพืชผลทางการเกษตร ผลผลิตที่แก่ดีแล้วควรรีบเก็บเกี่ยว และหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตไว้กลางแจ้งในช่วงนี้ นอกจากนี้บริเวณที่มีฝนตกหนักเกษตรกรควรกักเก็บน้ำไว้ใช้ทางด้านการเกษตร
  • ในช่วงวันที่ 25 ก.พ. – 1 มี.ค. จะมีฝนลดลงกับมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน ผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว หากเปียกฝนในระยะที่ผ่านมา เกษตรกรควรลดความชื้นก่อนนำเข้าโรงเก็บพืชผลทางการเกษตร เพื่อป้องกันผลผลิตเน่าเสียหายภายในโรงเก็บ
  • สำหรับอากาศเย็นและชื้นกับมีหมอกในตอนเช้า เหมาะกับการเกิดโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา รา เช่นโรคราน้ำค้างในองุ่น โรคใบไหม้ในพืชตระกูลหอม เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบควรรีบควบคุม

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 23-24 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งและลมกระโชกแรง อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1- 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 25 ก.พ. – 1 มี.ค. จะมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศา เซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงวันที่ 23-24 ก.พ. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง กับลมกระโชกแรงบางแห่ง เกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดกับอาคารบ้านเรือนและพืชผลทางการเกษตร ผลผลิตที่แก่ดีแล้วควรรีบเก็บเกี่ยว และหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตไว้กลางแจ้งในช่วงนี้ นอกจากนี้บริเวณที่มีฝนตกหนักเกษตรกรควรกักเก็บน้ำไว้ใช้ทางด้านการเกษตร
  • เนื่องจากในระยะต่อไปจะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงบ่อยครั้ง ชาวสวนไม้ผลควรผูกยึดและค้ำยันกิ่งและลำต้นของไม้ผลที่รับน้ำหนักมากให้แข็งแรงเพื่อป้องกันความเสียหายเนื่องจากลมกระโชกแรง
  • นอกจากนี้ควรระวังการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 23-24 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตรส่วนในช่วงวันที่ 25 ก.พ. – 1 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ10-20 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85%

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 23-24 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง1- 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 25 ก.พ. – 1 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงวันที่ 23 – 24 ก.พ. จะมีปริมาณและการกระจายของฝนเพิ่มขึ้น ชาวสวนไม้ผลควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่า ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย และอาจตายได้
  • นอกจากนี้ควรระวังการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
  • สำหรับบริเวณที่มีฝนตกหนัก เกษตรควรกักเก็บน้ำเพื่อใช้ทางด้านการเกษตร รวมทั้งวางแผนการใช้น้ำที่กักเก็บไว้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำไว้ใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนแล้ง

รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 23 ก.พ. – 1 มี.ค. 2561

ปริมาณฝนสะสมเดือนกุมภาพันธ์ (ในช่วงวันที่ 1-22 กุมภาพันธ์ 2561) บริเวณประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 25 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่บริเวณ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออกตอนล่าง และภาคใต้ตอนบน ที่มีปริมาณฝนสะสมมากกว่า 25 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 25 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่บริเวณ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออกตอนล่าง ที่มีปริมาณฝนสะสมมากกว่า 25 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยส่วนมากมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 25-35 มม. โดยภาคกลางด้านตะวันตก และภาคใต้ตอนล่างมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมมากกว่าบริเวณอื่นๆ

สมดุลน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นลบ (-20)-(-40) มม. เว้นแต่บางพื้นที่ของภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ที่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นบวก โดยมีค่าอยู่ระหว่าง 1 – 40 มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาบริเวณประเทศไทยมีค่าสมดุลน้ำที่เป็นลบเป็นส่วนใหญ่ และใน 7 วันข้างหน้าจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ บริเวณที่มีฝนตกหนักเกษตรกรควรกักเก็บน้ำไว้ใช้ทางด้านการเกษตรรวมทั้งระวังและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับพืชผลทางด้านการเกษตร เนื่องจากระยะนี้อากาศแปรปรวน เกษตรกรควรรักษาสุขภาพของตนเองให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนระยะนี้และระยะต่อไปจะเป็นช่วงแล้ง เกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัดและวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนตกน้อย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ