พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 6 - 12 เมษายน พ.ศ. 2561

ข่าวทั่วไป Friday April 6, 2018 14:02 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 6-12 เมษายน พ.ศ. 2561

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2561

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 42/61

การคาดหมายลักษณะอากาศ การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 6-7 เม.ย. บริเวณประเทศไทยจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า ลูกเห็บตก และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 8-9 เม.ย. บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง ส่วนภาคใต้ตอนล่างจะมีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 10-12 เม.ย. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศร้อน ส่วนภาคใต้จะมีฝนลดลง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังอ่อนลง โดยบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

คำเตือน ในช่วงวันที่ 6-7 เม.ย. บริเวณประเทศไทยจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า ลูกเห็บตก และฝนตกหนักเกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ส่วนในช่วงวันที่ 7-9 เม.ย. บริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่ง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 6-7 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 17-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 24-28 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 8-12 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 55-65%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้วหากเปียกฝนในระยะที่ผ่านมา เกษตรกรควรลดความชื้นก่อนนำเข้าโรงเก็บผลผลิตเพื่อป้องกันผลผลิตเน่าเสียหายในโรงเก็บ
  • เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนในระยะนี้ เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • ส่วนอุณหภูมิที่แตกต่างกันมากในช่วงกลางวันและกลางคืน ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

วันที่ 6 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม ส่วนในช่วงวันที่ 7-12 เม.ย. มีเมฆบางส่วน กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 18-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ฝนที่ตกในระยะนี้จะช่วยบรรเทาการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ย และไรต่างๆ ลงไปได้บ้าง แต่เมื่อมีสภาพอากาศที่แห้งและเหมาะสมก็จะกลับมาระบาดได้อีก เกษตรกร จึงควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชดังกล่าวด้วย
  • แม้จะมีฝนตกแต่ปริมาณและการกระจายยังไม่มาก ประกอบกับปริมาณน้ำระเหยมีมาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อรักษาความชื้นภายในดิน

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 6-7 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ และลมกระโชกแรง อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-30 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 8-12 เม.ย. มีเมฆบางส่วนอุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน นอกจากนี้ควรดูแลสภาพน้ำให้เหมาะสมกับชนิดของสัตว์น้ำที่เลี้ยง รวมทั้งดูแลจำนวนสัตว์น้ำที่เลี้ยงให้สมดุลกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ หากปริมาณน้ำมีน้อยจะทำให้สัตว์น้ำอยู่อย่างแออัดส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • ส่วนพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน หากเกษตรกรต้องการปลูกพืชในระยะนี้ควรมีน้ำสำรองให้แก่พืชในระยะเจริญเติบโต เพราะหากพืชได้รับน้ำ ไม่เพียงพอจะทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 6-7 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ และลมกระโชกแรง อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่น 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 8-12 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • เนื่องจากระยะนี้มีฝนตกและหยุดสลับกัน สภาพอากาศเหมาะแก่การระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ
  • สำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่เปียกฝนในระยะที่ผ่านมา เกษตกรควรลดความชื้นลง ก่อนนำเข้าโรงเก็บ เพื่อป้องกันผลผลิตเน่าเสียหายในโรงเก็บพืชผลทางการเกษตร
  • นอกจากนี้เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงที่มีฝนตกน้อย

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 6 และ 10-12 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 7-9 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80%

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ในช่วงวันที่ 7-8 เม.ย. อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกปริมาณและการกระจายของฝนจะมีน้อย สภาพอากาศแห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด ซึ่งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นพืชทำให้ต้นพืชทรุดโทรม โดยเฉพาะเพลี้ยไฟ และเพลี้ยไก่แจ้ ในไม้ผล อาจทำให้ต้น ไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต ทรุดโทรมและตายได้
  • เนื่องจากปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้เหมาะสม เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง โดยการให้น้ำพืชแบบมีประสิทธิภาพ
  • ส่วนในช่วงวันที่ 7 - 9 เม.ย. บริเวณอ่าวไทยและทะเล อันดามัน จะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งไว้ด้วย
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 6-12 เมษายน 2561

ปริมาณฝนสะสมเดือนเมษายน (ในช่วงวันที่ 1-5 เมษายน) บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เว้นแต่ภาคกลางด้านตะวันออกกับตะวันตก มีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 50-150 มม. สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนมากมีปริมาณฝนสะสม 10-100 มม. เว้นแต่ภาคกลาง ด้านตะวันออกมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 100-150 มม. สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เว้นแต่ภาคใต้ตอนกลางมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 50-100 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยส่วนมากมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 20-35 มม.

สมดุลน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำสะสม (-1)-(-40) มม. เว้นแต่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันตก ภาคกลางด้านตะวันออกกับด้านตะวันตก และภาคตะวันออก มีค่าสมดุลน้ำสะสม 20-100 มม. สำหรับภาคใต้ส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำสะสม (-1)-(-40) มม. เว้นแต่ภาคใต้ตอนกลางมีค่าสมดุลน้ำสะสม 10-70 มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาบริเวณประเทศไทยมีรายงานฝนตกหนักหลายพื้นที่กับมีฝนตกหนักมากบางแห่ง และมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน สำหรับในช่วงวันที่ 6-7 เมษายน ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว และควรระวังการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนอ่อนของพืชทำให้ผลผลิตเสียหายได้ สำหรับภาคใต้จะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง และในช่วงวันที่ 7-9 เมษายน จะมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นไว้ด้วย นอกจากนี้ควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านยการเกษตร รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชสวน และพืชผัก ซึ่งจะทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ