พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 22 กุมภาพันธ์ 2553 - 28 กุมภาพันธ์ 2553

ข่าวทั่วไป Monday February 22, 2010 14:37 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 22 กุมภาพันธ์ 2553 - 28 กุมภาพันธ์ 2553

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 22-23 ก.พ. ในตอนเช้ามีหมอกและทางตอนบนของภาคอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 14-15 องศาเซลเซียส ส่วนทางตอนล่างของภาคอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 16-23 องศาเซลเซียส และในช่วงวันที่ 24-28 ก.พ. มีฟ้าหลัวและอากาศร้อนในตอนกลางวัน สภาพอากาศแห้งอาจทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย เกษตรกรควรเก็บกวาดเศษใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นในสวน เพื่อไม่ให้เป็นเชื้อเพลิง โดยอาจนำไปสุมตามโคนต้น เพื่อช่วยสงวนความชุ่มชื้นในดิน นอกจากนี้ลำไยอยู่ในระยะติดผลอาจมีมวลลำไยหรือแมงแกงทำลาย ทำให้ผลผลิตลดลงและไม่ได้คุณภาพ หากพบตัวเต็มวัย ตัวอ่อน และไข่ให้จับไปทำลาย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 22-24 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ต่อจากนั้นในช่วงวันที่ 25-28 ก.พ. มีฟ้าหลัวและอากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 35-36 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ระยะนี้แม้จะมีฝนตก แต่ปริมาณน้อย ประกอบกับอากาศร้อนในตอนกลางวัน ศัตรูพืชจำพวกเพลี้ยและไรชนิดต่างๆ อาจระบาดในสภาพอากาศเช่นนี้ เกษตรกรควรรีบกำจัด ส่วนพื้นที่การเกษตรที่เก็บผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรไม่ควรเผาเศษวัชพืชและตอซังในแปลงปลูก ซึ่งจะทำลายจุลลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน และเป็นการซ้ำเติมภาวะโลกร้อน

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 22-23 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ต่อจากนั้นในช่วงวันที่ 24-28 ก.พ. อากาศร้อนกับฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 35-37 องศาเซลเซียส ระยะนี้ในตอนกลางวันแสงแดดจัด ทำให้สูญเสียน้ำจากการระเหยมาก เกษตรกรควรให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืช รวมทั้งคลุมดินบริเวณแปลงปลูก เพื่อสงวนความชื้นในดิน สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ควรสำรองอาหารและน้ำดื่มให้กับสัตว์เลี้ยงตลอดช่วงแล้ง

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 22-24 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ต่อจากนั้นในช่วงวันที่ 25-28 ก.พ. ทางตอนบนของภาคมีอากาศร้อน อุณหภูมิสูงสุด 35-36 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนมากตามบริเวณชายฝั่งและเทือกเขา โดยทั่วไปสภาพอากาศแห้ง มังคุดที่อยู่ในระยะติดผลอ่อน ชาวสวนควรหมั่นสำรวจสวน เพราะอาจมีเพลี้ยไฟระบาด ทำให้ผลผลิตลดลง หากพบควรรีบกำจัด

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ฝั่งตะวันออกในช่วงวันที่ 22-24 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ต่อจากนั้นในช่วงวันที่ 25-28 ก.พ. มีเมฆบางส่วนกับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนทางฝั่งตะวันตกมีเมฆบางส่วน กับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ตลอดช่วง ระยะที่ผ่านมามีฝนตกน้อย ประกอบกับระยะนี้แม้จะมีฝนตก แต่ปริมาณไม่มาก เกษตรกรควรให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืช โดยคำนึงถึงการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ควรกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกเพื่อไม่ให้แย่งอาหารและน้ำ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74

-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ