สาธารณสุขเลือกลำปางเป็น 1 ในจังหวัดนำร่อง งานอาหารปลอดภัยปลอดโรคในโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก

ข่าวทั่วไป Friday July 19, 2013 10:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย เผย!!ปัจจัยที่สนับสนุนให้งานอาหารปลอดภัยของลำปางประสบความสำเร็จคือการทำงานแบบบูรณาและการมีนโยบายของรัฐที่กำหนดให้อาหารปลอดภัยต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง สาธารณสุขเลือกลำปางเป็น 1 ใน 9 จังหวัดนำร่องงานอาหารปลอดภัยปลอดโรคในโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก ตั้งเป้าลดป่วย ตาย และผลกระทบจากอาหารไม่ปลอดภัยในเด็กอย่างน้อยร้อยละ 30 นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ปรึกษาโครงการอาหารปลอดภัยปลอดโรคในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกล่าวว่า ลำปางเป็นจังหวัดหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานอาหารปลอดภัย เนื่องจากมีการทำงานแบบบูรณาและมีนโยบายของรัฐที่กำหนดให้อาหารปลอดภัยต้องดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษของจังหวัดลำปางในทุกลุ่มอายุมีสัดส่วนที่ลดลงจากปี 55 โดยในปี 2556 มีพบเพียง 158.24 ต่อแสนประชากร ในขณะที่ปี 2555 พบมากถึง 205.01 ต่อแสนประชากร ส่วนเหตุการณ์การระบาดของโรคอาหารเป็นพิษ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2556 พบเพียง 2 เหตุการณ์เท่านั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงเลือกลำปางให้เป็น 1 ใน 9 จังหวัดนำร่อง“โครงการอาหารปลอดภัยปลอดโรคในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก”ผ่านการดำเนินงานในรูปแบบต่างๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีทั้ง กลุ่มงานควบคุมโรค กลุ่มงานส่งเสริมและกลุ่มงานทันตสาธารณสุข รวมทั้งกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคฯ มีทั้งมีการพัฒนาสถานที่ปรุงประกอบอาหารตามเกณฑ์สุขาภิบาล และการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กคุณภาพ การจัดเมนูชูสุขภาพในโรงเรียนและศูนย์เด็ก การดำเนินงานศูนย์เด็กปลอดโรค การดำเนินงานศูนย์เด็ก/โรงเรียนปลอดน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ ศูนย์เด็กอ่อนหวาน การจัดผลไม้เป็นอาหารว่าง โครงการอย.น้อย ตรวจหาสารปนเปื้อน/ฉลากอาหาร/ด้านสุขาภิบาล ตั้งเป้าให้การดำเนินโครงการฯให้ศูนย์เด็กเล็กในจังหวัดลำปางซึ่งมีทั้งหมด 358 แห่ง ผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยปลอดโรคในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอย่างน้อยร้อยละ 30 หรือประมาณ 107 แห่งและให้โรงเรียนซึ่งมีทั้งหมด 420 แห่งผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยปลอดโรคในโรงเรียนอย่างน้อยร้อยละ 30 หรือประมาณ 126 แห่ง หวังผลลดป่วย ตาย และผลกระทบการเจ็บป่วยของเด็กจากอาหารไม่ปลอดภัยอย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี 2556 นี้ ด้านนางจงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย(สสอป.) กล่าวว่าจากข้อมูลการติดตามงานพบว่าความสำเร็จจากการดำเนินโครงการฯของจ.ลำปางส่งผลให้มีศูนย์เด็กเล็กที่ผ่านเกณฑ์ศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่ตามเกณฑ์ของกรมอนามัยระดับดีและดีมากร้อยละ70 ผ่านเกณฑ์ด้านสุขาภิบาลอาหารร้อยละ 78 (เป้าหมาย 30 %) ผ่านเกณฑ์ศูนย์เด็กปลอดโรคกรมควบคุมโรค 199 แห่งร้อยละ 56 ปลอดขนมกรุบกรอบร้อยละ 87 และมีการจัดผลไม้เป็นอาหารว่างร้อยละ 35 และมีโรงเรียนที่ผ่านเกณฑ์ การดำเนินงานโครงการ อย.น้อย 139 แห่งหรือร้อยละ 56 โรงอาหารผ่านเกณฑ์สุขาภิบาลอาหารระดับดีขึ้นไปร้อยละ 86 โรงเรียนมีนโยบายปลอดน้ำอักลมร้อยละ 85 โรงเรียนไม่มีการขายขนมและเครื่องดื่มที่มีผลเสียต่อสุขภาพร้อยละ 75 มีการจัดผลไม้เป็นอาหารว่างให้นักเรียนร้อยละ 51 โดยพบว่าปัจจัยที่สนับสนุนให้งานสำเร็จคือการมีนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้อาหารปลอดภัยเป็นนโยบายที่ต้องดำเนินโครงการซึ่งจังหวัดลำปางดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งการที่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปางมีนโยบายกำหนดให้อาหารปลอดภัยเป็นหนึ่งในประเด็นยุทธศาสตร์ของจังหวัดทำให้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานในทุกระดับอย่างจริงจังและต่อเนื่อง มีการกำหนดให้การดำเนินงานอาหารปลอดภัยเป็นตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของจังหวัด การสนับสนุนจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปางและผู้บริหารในทุกระดับ การบูรณาการงานระหว่างกลุ่มงานทำให้เกิดการทำงานเป็นทีมทั้งในระดับอำเภอและตำบล ความเข้มแข็งของทีมงานสาธารณสุขในทุกระดับและหน่วยงานต่างๆรวมทั้งความร่วมมืออย่างดีจากเครือข่ายจากทุกภาคส่วน ด้านนายแพทย์ ศิริชัย ภัทรนุธาพรนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปางกล่าวว่าภายใต้การดำเนินงานโครงการอาหารปลอดภัยจังหวัดลำปางได้มีการบูรณาการงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลความปลอดภัยของอาหารที่ผลิตและจำหน่ายในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนลำปางได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย อัตราการเกิดโรคที่เกิดจากการบริโภคอาหารลดลง ผลิตภัณฑ์อาหารในพื้นที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาโรงพยาบาลให้เป็นต้นแบบการดำเนินงานความปลอดภัยด้านอาหาร จนเกิดการขยายผลไปในหน่วยงานอื่นๆ โดยเฉพาะในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่ลำปางได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 9 จังหวัดนำร่อง“โครงการอาหารปลอดโรคปลอดภัยในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก”ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ พฤศจิกายน 2555 เป็นต้นมา ตามแผนการดำเนินงานซึ่งประกอบด้วย การวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องและการคืนข้อมูล จัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ จัดประชุมชี้แจงเกณฑ์และแนวทางการดำเนินงาน การเฝ้าระวังการระบาดโรคอาหารเป็นพิษในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก การตรวจสอบสารปนเปื้อนทางสารเคมีและจุลินทรีย์ การจัดอบรมผู้ปรุงประกอบอาหารในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก การประเมินโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตามเกณฑ์ที่กำหนด การคัดเลือกโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีผลงานยอดเยี่ยม การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการติดตามผล ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย (สสอป.) โทรศัพท์ 0 2965 9730 / 0 2951 0000 ต่อ 99985
แท็ก สาธารณสุข  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ