โซคา งักไก เผยผลสำรวจทัศนคติของคนหนุ่มสาวเรื่องอาวุธนิวเคลียร์-พลังงานนิวเคลียร์

ข่าวต่างประเทศ Friday August 5, 2011 12:43 —Asianet Press Release

ฮิโรชิมา, ญี่ปุ่น--5 ส.ค.--เกียวโด เจบีเอ็น — เอเชียเน็ท / อินโฟเควสท์ คณะกรรมาธิการสันติภาพนักเรียนโซคา งักไก ชูโงกุ (Soka Gakkai Chugoku Student Peace Committee) เผยแพร่ผลสำรวจประจำปีครั้งที่ 16 ว่าด้วยทัศนคติของคนหนุ่มสาวเรื่องสันติภาพและอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคที่จังหวัดฮิโรชิมาตั้งอยู่ ในวันที่ 4 สิงหาคม หรือก่อนถึงวันครบรอบเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาในวันที่ 6 สิงหาคม ซึ่งการสำรวจครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการถาม 2 คำถามเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ การสำรวจจัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม โดยมีการสอบถามความเห็นของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย 36 แห่งในเขตชูโงกุ ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดฮิโรชิมา โอคายามา ชิมาเนะ ทตโตริ และยามางูจิ โดยมีผู้ให้ความร่วมมือตอบแบบสอบถาม 2,324 คน เป็นชาย 1,291 คน และเป็นหญิง 1,033 คน จากแบบสอบถามที่แจกไปทั้งหมด 3,000 ชุด ผลสำรวจประจำปีนี้ซึ่งสามารถดูได้ที่ http://www.sgi.org/assets/pdf/hiroshimasurvey2011.pdf เป็นที่น่าประหลาดใจมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่มีนักศึกษาไม่ถึงครึ่ง (47%) เห็นว่าการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิเป็นสิ่งที่ “ยอมรับไม่ได้” โดยเป็นหญิง 56% และเป็นชายเพียง 41% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด (คำถามที่ 2) ซึ่งน้อยกว่าผลสำรวจในปีพ.ศ.2553 ถึง 6% ขณะเดียวกัน 13% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่าเป็นเรื่องที่ชอบด้วยเหตุผล ส่วนอีก 38% ไม่แน่ใจ อย่างไรก็ดี 69% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่าตัวอาวุธนิวเคลียร์เองเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ โดยเป็นหญิง 77% และชาย 62% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด (คำถามที่ 3) เมื่อถูกตั้งคำถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่อาวุธนิวเคลียร์จะถูกนำไปใช้ในสงครามหรือความขัดแย้งในอนาคต ผู้ตอบแบบสอบถาม 86% เชื่อว่าเป็นไปได้ (66%) หรือเกิดขึ้นแน่นอน (20%) (คำถามที่ 4) ซึ่งตัวเลข 86% ดังกล่าวเพิ่มขึ้น 9% จากการสำรวจเมื่อปีที่แล้ว สำหรับคำถามที่ว่า “คุณคิดว่าเราควรทำอย่างไรกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น” (คำถามที่ 6) ผู้ตอบแบบสอบถาม 49% กล่าวว่า “เราควรใช้ต่อไปเหมือนเดิม” ขณะที่ 32% ตอบว่า “เราควรลดการใช้พลังงานนิวเคลียร์” และ 13% ตอบว่า “เราควรเลิกใช้พลังงานนนิวเคลียร์” ส่วน 5% รู้สึกว่าควรใช้พลังงานนิวเคลียร์เพิ่มอีก ทั้งนี้ มีนักศึกษาเกินครึ่งมาเล็กน้อยที่คิดว่าญี่ปุ่นไม่ควรลดการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ สำหรับคำถามเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพลังงานนิวเคลียร์และอาวุธนิวเคลียร์ที่ว่า “คุณคิดว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่อาวุธนิวเคลียร์จะแพร่กระจายมากขึ้นหากมีการสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์” (คำถามที่ 7) ผู้ตอบแบบสอบถาม 65% ตอบว่า “มีความเป็นไปได้” เมื่อถูกถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะปลดอาวุธนิวเคลียร์ มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 11% ที่เชื่อว่าเป็นไปได้ ขณะที่ 58% เชื่อว่าการปลดอาวุธนิวเคลียร์เป็นไปไม่ได้ แต่การหยุดการแพร่กระจายมีความเป็นไปได้ เมื่อถูกถามว่าจะทำอย่างไรเพื่อส่งเสริมสันติภาพ ผู้ตอบแบบสอบถาม 75% กล่าวว่าต้องการมีส่วนร่วมแต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร (83% เป็นหญิง และ 68% เป็นชาย) ขณะที่ 13% กล่าวว่าทำไปก็ไม่มีประโยชน์ โดย 18% เป็นชาย และ 7% เป็นหญิง (คำถามที่ 8) ฮิเดอากิ ทาเทกุวะ ประธานคณะกรรมาธิการสันติภาพนักเรียนชูโงกุ กล่าวว่า “ผลสำรวจปีนี้แสดงให้เห็นว่า ความตระหนักรู้และความหวังในการปลดอาวุธนิวเคลียร์ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระตุ้นให้เราต้องพยายามมากขึ้นในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความน่ากลัวของอาวุธนิวเคลียร์” ในวันที่ 6 สิงหาคมจะมีการสวดมนต์เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต ที่โซคา งักไก ฮิโรชิมา พีซ เมโมเรียล ฮอลล์ (Soka Gakkai Hiroshima Peace Memorial Hall) ต่อด้วยการบรรยายของผู้รอดชีวิต 2 รายจากเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณู ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการสันติภาพสตรี (Women's Peace Committee) โซคา งักไก เป็นสมาคมพุทธศาสนาที่มีสมาชิกกว่า 8 ล้านครัวเรือนในประเทศญี่ปุ่น ทางสมาคมดำเนินกิจกรรมด้านการปลดอาวุธนิวเคลียร์มาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี และในปีพ.ศ.2550 เครือข่ายโซคา งักไก อินเตอร์เนชั่นแนล (เอสจีไอ) ทั่วโลก ได้เปิดตัวโครงการสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มประชาชนคนทั่วไปในชื่อโครงการ “The People’s Decade for Nuclear Abolition” หรือทศวรรษแห่งการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของมวลชน สามารถดูรายละเอียดได้ที่ http://www.peoplesdecade.org แหล่งข่าว: โซคา งักไก อินเตอร์เนชั่นแนล ติดต่อ : โจน แอนเดอร์สัน สำนักงานข้อมูลสาธารณะ โซคา งักไก อินเตอร์เนชั่นแนล โทรศัพท์: +81-80-5957-4711 โทรสาร: +81-3-5360-9885 อีเมล: janderson[at]sgi.gr.jp AsiaNet 45804 -- Distributed by AsiaNet ( www.asianetnews.net ) --

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ