ผู้ป่วยมีสิทธิในการทำศัลยกรรมที่ปลอดภัย

ข่าวต่างประเทศ Tuesday August 16, 2011 09:00 —Asianet Press Release

ฮานโนเวอร์, นิวแฮมป์เชียร์--16 ส.ค.--พีอาร์นิวสไวร์ — เอเชียเน็ท / อินโฟเควสท์ การขยายตัวอย่างโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ผู้ป่วยออกเดินทางไปทำศัลยกรรมพลาสติกในต่างประเทศได้ก่อให้เกิดคำถามเรื่องพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ และกำลังทำให้หลายคนที่ต้องการทำศัลยกรรมในราคาประหยัดตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยง “เราเห็นว่ามีตัวแทนด้านการท่องเที่ยวหลายแห่งที่เป็นคนกลางจัดหาบริการด้านศัลยกรรมให้แก่คนไข้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน คนไข้ไม่สามารถเชื่อมั่นได้เลยว่าศัลยแพทย์ของพวกเขาได้รับการฝึกอบรมมาอย่างเหมาะสมหรือมีคุณสมบัติที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ และคนไข้ทุกรายมักไม่ค่อยคำนึงถึงการดูแลรักษาตัวภายหลังการทำศัลยกรรม” แคทเธอรีน ฟอสส์ (Catherine Foss) ผู้อำนวยการบริหารของสมาคมระหว่างประเทศ International Society of Aesthetic Plastic Surgery (ISAPS) กล่าว การเกิดปัญหาแทรกซ้อนจากการทำศัลยกรรมภายใต้สถานการณ์เหล่านี้กำลังสร้างความตื่นตกใจ บทความหนึ่งในวารสารศัลยกรรมความงามฉบับเดือนสิงหาคมเรื่อง "Complications from International Surgery Tourism" ได้อ้างถึงการศึกษาของสหรัฐเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการศัลยกรรมที่เพิ่มมากขึ้นในผู้ป่วยที่เดินทางกลับมาภายหลังจากการทำศัลยกรรมในต่างประเทศ สถิติที่มีการนำเสนอขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้วโดยศาสตราจารย์เจมส์ เฟรม (James Frame) สมาชิกของ ISAPS ในระหว่างการประชุมสมาคมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในนครซานฟรานซิสโกระบุว่า 20% ของการเกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยที่เดินทางกลับจากสหราชอาณาจักรหลังการทำศัลยกรรมในต่างประเทศนั้น มีคนไข้จำนวนมากที่มีปัญหาแทรกซ้อนรุนแรงถึงขนาดต้องดิ่งตรงไปยังโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัวหลังจากเดินทางกลับประเทศ The Patient Safety Diamond ที่บัญญัติโดยดร. โฟด นาไฮ (Dr. Foad Nahai) (สหรัฐอเมริกา) ซึ่งเป็นประธานของ ISAPS ในขณะนั้น และได้รับการนำเสนอในที่ประชุม ISAPS Congress ในปี 2553 ตั้งอยู่บนแนวคิดเรื่องการทำศัลยกรรมที่ปลอดภัย 4 ประการ ซึ่งประกอบด้วยผู้ป่วย ศัลยแพทย์ ขั้นตอนการทำศัลยกรรม และสถานที่ กล่าวคือ คนไข้ที่เข้ารับการศัลยกรรมควรเป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ศัลยแพทย์ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างเหมาะสมและมีหนังสือรับรอง ขั้นตอนการทำศัลยกรรมต้องเหมาะสมกับผู้ป่วย สถานที่ที่ทำศัลยกรรมควรได้รับการรับรองแล้วว่ามีความปลอดภัยโดยมีพนักงานที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีและมีการเตรียมความพร้อมในกรณีฉุกเฉิน เมื่อองค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดตัวโครงการ Safe Surgery Saves Lives ซึ่งส่งเสริมให้มีการตรวจสอบความปลอดภัยด้านการศัลยกรรม http://www.who.int/patientsafety/safesurgery/en/ ทั้งนี้ ISAPS เป็นหนึ่งในองค์กรแห่งแรกๆที่สนับสนุนโครงการนี้ในกรุงวอชิงตันดีซี เมื่อเดือนมิถุนายน 2551 ผลการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ที่มีการเผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ในรัฐนิวอิงแลนด์แสดงให้เห็นว่า การใช้รายการตรวจสอบซึ่งมีคำถาม 19 คำถามช่วยลดการเกิดปัญหาแทรกซ้อนจากการผ่าตัดได้มากกว่า 1 ใน 3 และลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากการทำศัลยกรรมลงได้เกือบครึ่งหนึ่งในโรงพยาบาลที่ทดสอบเมื่อเทียบกับโรงพยาบาลที่ควบคุม รูปแบบง่ายๆนี้ถูกนำไปใช้ในลักษณะของการเริ่มตรวจสอบรายการก่อนที่จะมีการตัดสินใจขึ้นเครื่องบินออกเดินทางไป ผู้ป่วยจำเป็นต้องขอให้ศัลยแพทย์และโรง พยาบาลใช้แบบตรวจสอบนี้ เมื่อปี 2549 ดร.โจอาโอ ซี แซมพาโอ โกเอส (Dr. Joao C. Sampaio Goes) (บราซิล) ได้พัฒนา “แนวทางที่สำคัญ” สำหรับผู้ป่วยที่ตัดสินใจเดินทางไปทำศัลยกรรม โดยเผยแพร่บนเว็บไซต์ http://www.isaps.org องค์กรอื่นๆ หลายแห่ง ได้เริ่มใช้เว็บไซต์นี้นับแต่นั้นเป็นต้นมา ดร.แจน โพเอลล์ (Dr. Jan Poell) (สวิตเซอร์แลนด์) ประธานคนปัจจุบันของ ISAPS อธิบายถึงความสำคัญของข้อมูลเหล่านี้ว่า “ผู้บริโภคทั่วโลกมองว่าเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้วที่ ISAPS ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้มากที่สุดเกี่ยวกับศัลยกรรมพลาสติกและให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการต่างๆ ทั้งนี้ ISAPS สร้างมาตรฐานระดับโลกเกี่ยวกับผู้บริโภคเพื่อใช้อ้างอิงเมื่อต้องเดินทางไปทำศัลยกรรมพลาสติก” มีความเข้าใจที่ผิดๆว่า ใครก็ตามที่จบแพทย์สามารถดำเนินการผ่าตัดทุกประเภทได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ดี หลายประเทศทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวลที่มีเพิ่มมากขึ้นว่าในปัจจุบันมีคนไข้จำนวนมากที่ได้รับการผ่าตัดโดยบุคคลากรที่ไร้ความสามารถและไม่ผ่านการฝึกอบรม หรือบางครั้งอาจไม่ได้เป็นแพทย์ ดังที่ระบุไว้ใน ISAPS News ฉบับล่าสุด หลายประเทศ ได้แก่ อิตาลี รัสเซีย เม็กซิโก โคลัมเบีย และแคนาดา กำลังนำร่องด้วยกฎข้อบังคับใหม่ๆ เพื่อควบคุมว่าบุคคลใดที่สามารถดำเนินการผ่าตัดเฉพาะกับคนไข้คนใดและที่สถานพยาบาลใด นอกจากนี้ เดนมาร์กก็เป็นประเทศแรกๆเช่นกันที่มีการใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดกับคลินิกแพทย์เอกชนและสถานศัลยกรรมทุกแห่ง หรือแม้กระทั่งปิดสถานพยาบาลบางแห่งที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่นเดียวกับเยอรมนีและฝรั่งเศสที่ได้บังคับใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดมานานหลายปีแล้ว และในปัจจุบันกำลังมีความพยายามที่จะกำหนดมาตรฐานคุ้มครองคนไข้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดศัลยกรรมพลาสติกให้ครอบคลุมทั่วทั้งยุโรป ภายใต้การอุปถัมภ์ของ Comite Europeen de Normalisation (CEN) ทั้งนี้ แผนการประกันใหม่ซึ่งพัฒนาขึ้นในอังกฤษโดย ลอยด์ส แห่งลอนดอน ถือเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการประกันภาวะแทรกซ้อนสำหรับการทำศัลยกรรมพลาสติกทั่วโลกเพื่อช่วยคุ้มครองคนไข้ แผนการประกันนี้ได้รับการรับรองโดย ISAPS และจะมีผลคุ้มครองก็ต่อเมื่อศัลยแพทย์เป็นสมาชิกของ ISAPS โดยสามารถดูรายนามศัลยแพทย์ที่เข้าร่วมโครงการนี้ได้ที่ http://www.surgeryshield.com แผนการประกันลำดับที่สองที่กำลังจะเปิดตัวในอังกฤษนี้จะขยายขอบเขตไปยังประเทศอื่นๆในโอกาสต่อไป ความคุ้มครองจะครอบคลุมการประกันการเดินทาง และการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการทำศัลยกรรมความงามทั้งในและต่างประเทศ แผนการประกันใหม่นี้กำหนดให้คนไข้ต้องเข้ารับการตรวจก่อนที่จะเดินทางไปทำศัลยกรรมในต่างประเทศเพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าคนไข้สมควรเข้ากับการผ่าตัดอย่างที่พวกเขาต้องการหรือไม่ โดยศัลยแพทย์จะให้คำปรึกษาแก่คนไข้ว่าไม่ควรตัดสินใจทำศัลยกรรมในต่างประเทศหากการผ่าตัดนั้นๆมีความซับซ้อน การประกันจะมีผลคุ้มครองการรักษาภาวะแทรกซ้อนจากการทำศัลยกรรมต่อเมื่อการรักษานั้นดำเนินการโดยศัลยแพทย์ที่เป็นสมาชิกของ ISAPS เท่านั้น โดยจะเป็นคนเดียวกับผู้ที่ทำการผ่าตัดหรือเป็นสมาชิกคนอื่นของ ISAPS ก็ได้ คนไข้ที่ต้องการเข้ารับการผ่าตัดแก้ไขเมื่อเดินทางกลับมายังประเทศที่ตนพำนักอยู่แล้ว จะถูกส่งตัวไปรับการรักษากับศัลยแพทย์ที่เป็นสมาชิกของ ISAPS และเป็นผู้ที่ได้รับการรับรองให้ดำเนินการรักษาเฉพาะตามที่ระบุได้ ทั้งนี้ เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีการเน้นย้ำว่า ภาวะแทรกซ้อนไม่ได้เกิดจากการปฏิบัติงานที่ผิดพลาด ภาวะแทรกซ้อนของการทำศัลยกรรมพลาสติกอาจรวมถึงภาวะเลือดออกในเนื้อเยื่อ การติดเชื้อหลังผ่าตัด การระบายของเสียจากแผลช้า หรือปัญหาด้านการเยียวยา โดยภาวะแทรกซ้อนบางอาการอาจแก้ไขได้ยากมากหรือแก้ไขไม่ได้เลย น.ส.ฟอสส์รายงานว่า มีคนไข้จำนวนมากติดต่อมาที่สำนักงานของเธอเพื่อขอตรวจสอบความน่าเชื่อถือของศัลยแพทย์ ซึ่งนี่แสดงให้เห็นว่าคนไข้มีความรู้และประสบการณ์มากขึ้นและต้องการความมั่นใจว่าศัลยแพทย์ของพวกเขามีความสามารถและได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี “ชุมชนการแพทย์นานาชาติมีหน้าที่ให้ความรู้แก่คนไข้ว่าพวกเขามีสิทธิเรียกร้องถ้าศัลยแพทย์ของพวกเขาเป็นสมาชิกของ National Society และได้รับการรับรอง (หรือเทียบเท่า) จากสมาคม ตลอดจนได้รับการฝึกอบรมด้านการผ่าตัดเฉพาะทาง” มีหลายกรณีที่คนไข้ได้รับความทุกข์ทรมานจากการผ่าตัดโดยแพทย์ที่ไร้ความสามารถ หรือแพทย์ที่พยายามทำการผ่าตัดทั้งที่ไม่ได้รับการฝึกอบรมมาอย่างเหมาะสม ซึ่งสิ่งนี้บ่งชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการให้ความรู้แก่สาธารณะเกี่ยวกับการทำศัลยกรรมมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยของพวกเขาเอง การทำศัลยกรรมทุกประเภทพึงตั้งอยู่ในความไม่ประมาท การเดินทางไปต่างประเทศเพื่อทำศัลยกรรมเพียงเพราะต้องการประหยัดเงินอาจนำไปสู่ผลเลวร้ายที่จะตามมา ซึ่งมักจะมาพร้อมกับภาวะแทรกซ้อนที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และบางครั้งก็อาจทำให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าเศร้า International Society of Aesthetic Plastic ซึ่งก่อตั้งมานาน 41 ปี ถือเป็นสมาคมศัลยแพทย์พลาสติกนานาชาติที่ใหญ่ที่สุด โดยปัจจุบันมีสมาชิก 2,003 ราย ใน 92 ประเทศ และกำลังเติบโตด้วยจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นปีละกว่า 200 คน ศัลยแพทย์ต้องผ่านขั้นตอนการรับสมัครที่เข้มงวดเพื่อตัดสินว่าพวกเขามีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมหรือไม่ ภารกิจของ ISAPS มีสองประการ ได้แก่ การศึกษาอย่างต่อเนื่องของศัลยแพทย์พลาสติกเกี่ยวกับเทคนิคล่าสุดในสาขาศัลยกรรมความงามและเวชสำอาง และการส่งเสริมความปลอดภัยของคนไข้ แหล่งข่าว: International Society of Aesthetic Plastic Surgery (ISAPS) ติดต่อ: แคทเธอรีน ฟอสส์ (Catherine Foss) ผู้อำนวยการบริหาร International Society of Aesthetic Plastic Surgery 45 Lyme Road Suite 304 Hanover, NH 03755 โทรศัพท์: +1-603-643-2325 โทรสาร: +1-603-643-1444 อีเมล: isaps@conmx.net AsiaNet 45891 -- เผยแพร่โดย เอเชียเน็ท ( www.asianetnews.net ) --

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ