การทบทวนนโยบายการค้าของไทย ครั้งที่ 6

ข่าวทั่วไป Friday December 23, 2011 11:46 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพาณิชย์ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมทบทวนนโยบายการค้าของไทยภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 28-30 พฤศจิกายน 2554 ณ สำนักงานองค์การการค้าโลก นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์

WTO ได้กำหนดกลไกการทบทวนนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจการค้าของประเทศสมาชิกแต่ละประเทศเป็นระยะๆ เพื่อสร้างความโปร่งใสโดยเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกอื่นได้รับทราบความเคลื่อนไหวและได้ซักถามข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจการค้าได้อย่างเต็มที่ โดย WTO กำหนดระยะเวลาความถี่ในการทบทวนที่แตกต่างกันตามระดับของการพัฒนาประเทศ ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และแคนาดา เป็นต้น จะต้องมีการทบทวนทุกระยะ 2 ปี ส่วนประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งไทยจะถูกทบทวนนโยบายทุกๆระยะ 4 ปี

หลังจากการทบทวนครั้งก่อนหน้าเมื่อปี 2550 การประชุมทบทวนนโยบายการค้าของไทยครั้งที่ 6 นี้ ครอบคลุมช่วงระยะปี 2550-2553 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมการล่วงหน้าตั้งแต่ต้นปี 2554 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของไทยในทุกด้าน เพื่อนำเสนอเป็นเอกสารรายงานของไทยต่อ WTO และขณะเดียวกันก็ได้ให้ความร่วมมือแก่สำนักงานเลขาธิการของ WTO ซึ่งก็ต้องจัดทำเอกสารรายงานข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยอีกฉบับหนึ่ง เพื่อสร้างความเป็นกลางเทียบเคียงกับเอกสารของไทยด้วย เมื่อประเทศสมาชิก WTO ได้รับเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าว ก็มีการส่งคำถามมายังฝ่ายไทย และในการทบทวนนโยบายครั้งนี้มีประเทศสมาชิกจำนวน 21 ประเทศ ที่ได้ส่งคำถามเกี่ยวกับนโยบายการค้าของไทยเป็นจำนวนรวมประมาณ 425 คำถาม ซึ่งแสดงถึงการให้ความสนใจต่อประเทศไทยอย่างมาก และฝ่ายไทยก็ต้องจัดทำเอกสารรวบรวมคำตอบต่อคำถามทุกข้อเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย

ไทยอยู่ในกลุ่ม 20 ประเทศแรก ที่มีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนของโลก ในปี 2553 มูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าของไทยคิดเป็นร้อยละ 135 ของ GDP โดยมีการส่งออกสูงเป็นอันดับ 19 และการนำเข้าสูงเป็นอันดับ 17 ของโลก ส่วนด้านบริการนั้น ไทยส่งออกบริการสูงเป็นอันดับ 16 และนำเข้าสูงเป็นอันดับที่ 14 ของโลก

ในการประชุมทบทวนนโยบายวันแรก เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2554 ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ได้แสดงความเสียใจต่อสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย และกล่าวชื่นชมไทยที่ถึงแม้จะประสบปัญหาอุทกภัย แต่ยังให้ความสำคัญต่อกระบวนการทบทวนนโยบายการค้าครั้งนี้ และได้มีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในการเจรจาการค้า ภายใต้กรอบ WTO มาโดยตลอด ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่าไทยยึดมั่นในพันธกรณีทางการค้าภายใต้กรอบ WTO และเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับสมาชิกที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆจากการที่ประสบความก้าวหน้าในการพัฒนา เศรษฐกิจและเป็นคู่ค้าที่ดี การที่ไทยมีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดที่มีปฏิสัมพันธ์กับภายนอกค่อนข้างสูง ทำให้ไทยได้รับผลกระทบจากความผันแปรต่างๆ แต่ก็ได้ทำให้เศรษฐกิจไทยมีภูมิต้านทานสูงและมีความพร้อมในการปรับเปลี่ยนเพื่อรับมือกับความท้าทายในเศรษฐกิจโลก แสดงให้เห็นว่าความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจมหภาคของไทยมีพื้นฐานสำคัญมาจากระบบเศรษฐกิจแบบเปิด

อย่างไรก็ดี การลงทุนโดยตรง (FDI) ที่เข้ามาในประเทศไทยได้ลดระดับลง มีสาเหตุส่วนหนึ่งจากปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงข้อจำกัดในการถือหุ้นของคนต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาการค้าบริการและการเกษตร อีกทั้งมีโครงสร้างภาษีที่ซับซ้อน นอกจากนี้ ความไม่มั่นคงทางการเมืองก็ได้ส่งผลทำให้การปฏิรูปเศรษฐกิจของไทยล่าช้าไปในหลายๆด้าน รวมทั้งด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และการพัฒนาภาคบริการ

สมาชิกอื่นๆของ WTO เห็นว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและเพื่อพัฒนาศักยภาพของไทยต่อไป ไทยควรดำเนินการปรับปรุงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพิธีการศุลกากร การปรับปรุงโครงสร้างภาษี การแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น การปรับปรุง แก้ไขเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจโดยคนต่างชาติ เพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในภาคการค้าบริการ รวมทั้งการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาโดยแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ การประชุมทบทวนนโยบายการค้าของไทยครั้งนี้ นับว่าประสบความสำเร็จในการสร้างเสริมความเข้าใจและความเชื่อมั่นของประเทศสมาชิกอื่นๆของ WTO ต่อในนโยบายเศรษฐกิจการค้าของไทยซึ่งสอดคล้องกับกติกาสากลของ WTO และสร้างความเชื่อมั่นว่าไทยจะยังคงเป็นประเทศคู่ค้าและแหล่งลงทุนที่ดีต่อไป

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ