ความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นไทย-นิวซีแลนด์(Thailand-New Zealand Closer Economic Partnership Agreement: TNZCEP)

ข่าวทั่วไป Wednesday October 24, 2012 15:41 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ความเป็นมา/การดำเนินการ ความเป็นมา

  • เมื่อวันที่ ๑๗-๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๖ ในระหว่างการประชุมผู้นำเอเปค ครั้งที่ ๑๑ ณ กรุงเทพฯ ผู้นำไทยและนิวซีแลนด์ได้เห็นชอบให้จัดทำการศึกษาร่วมความเป็นไปได้ในการทำความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น (CEP) ระหว่างไทย-นิวซีแลนด์ และเห็นชอบให้เริ่มการเจรจา เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๗ ได้เริ่มเจรจาจัดทำความตกลงฯ และสามารถสรุปผลการเจรจาได้ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๗
กรอบการเจรจา
  • ครอบคลุมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจรอบด้าน (Comprehensive) ทั้งการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้าบริการและการลงทุน รวมทั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจสาขาต่างๆ
สรุปผลความตกลง
  • รัฐมนตรีพาณิชย์ไทยและนิวซีแลนด์ได้ลงนามความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างไทย-นิวซีแลนด์ โดยมีผู้นำของทั้งสองประเทศเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่ ๑๙เมษายน ๒๕๔๘ ณ กรุงเทพฯ โดยความตกลงฯ มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘ โดยมี

สาระสำคัญ ดังนี้

(๑) การเปิดเสรีการค้าสินค้า นิวซีแลนด์ลดภาษีเหลือ ๐% ในวันที่ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ประมาณ ๗๙% ของรายการสินค้า ส่วนที่เหลือจะทยอยลดภาษีเหลือ ๐% ภายใน ๑๐ ปี (ปี ๒๕๕๘)ส่วนไทยลดภาษีเหลือ ๐% ในวันที่ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ประมาณ ๕๔% ของรายการสินค้า ส่วนที่เหลือจะทยอยลดภาษีเหลือ ๐% ภายใน ๒๐ ปี (ปี ๒๕๖๘) มีการใช้มาตรการปกป้องพิเศษ ๒๕สินค้า และให้โควตาเฉพาะสำหรับนิวซีแลนด์ ๕ สินค้า

(๒) การค้าบริการ ยังไม่มีการเปิดตลาดการค้าบริการ แต่มีหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างกันซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ TNZCEP เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าเมืองและทำงานในไทยและนิวซีแลนด์มากขึ้น

(3) การลงทุน นิวซีแลนด์ให้คนไทยเข้าไปลงทุนในธุรกิจทุกประเภทได้ ๑๐๐% ยกเว้นประมง และหากลงทุนเกินกว่า ๕๐ ล้านเหรียญนิวซีแลนด์ จะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการการลงทุนต่างชาติก่อน ส่วนไทยเปิดเสรีการลงทุนทางตรงให้คนนิวซีแลนด์ลงทุนได้ ๑๐๐% ในธุรกิจผลิตสินค้าบางประเภทที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน โดยต้องนำเงินมาลงทุนไม่น้อยกว่า ๓ ล้านบาท อาทิธุรกิจผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซอฟแวร์ เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์กระดาษ และ การแปรรูปอาหารที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นต้น

(4) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ใช้หลัก Wholly-Obtained หรือ Product Specific Rules (กฎการเปลี่ยนพิกัด การเกิดปฏิกิริยาเคมี การกำหนดมูลค่าของวัตถุดิบ Regional Value Content: RVC)

(5) ความร่วมมือด้านต่างๆ เช่น มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาด้านมาตรการสุขอนามัยเป็นการเฉพาะ รวมทั้งความร่วมมือด้านพิธีการศุลกากร พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญาและนโยบายการแข่งขัน เป็นต้น

สถานะล่าสุด พันธกรณีที่จะต้องเจรจาต่อ

  • ความตกลง TNZCEP กำหนดว่าภายใน ๓ ปี หลังจากความตกลงมีผลบังคับใช้ จะต้องมีการเจรจาเพิ่มเติม/ทบทวนในประเด็นดังต่อไปนี้ ๑) การค้าบริการ และ 2) การทบทวนมาตรการปกป้องพิเศษนอกจากนี้ ความตกลงฯ ยังกำหนดให้มีการเจรจาเพิ่มเติมด้านการจัดซื้อโดยรัฐด้วย
  • การดำเนินการ: เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๓ ไทยได้มีการจัดตั้งคณะเจรจาภายใต้กรอบ TNZCEP โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะและเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๓ รัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจาเพิ่มเติมภายใต้ TNZCEP

การประชุมคณะกรรมาธิการร่วม TNZCEP (TNZCEP JC)

  • ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ๒549 ณ ประเทศไทย
  • ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ๒553 ณ ประเทศนิวซีแลนด์
  • ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2554 ณ ประเทศไทย
  • การประชุม General Review at Ministerial Level ครั้งแรก เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2554 ณ เมืองฮอนโนลูลู สหรัฐอเมริกา โดยมีผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้
  • ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยและนิวซีแลนด์เป็นไปด้วยดี โดยมีความตกลง TNZCEP เป็นความสำเร็จที่สำคัญและเป็นพื้นฐานในการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุน
  • การเห็นชอบเอกสาร Joint Review ซึ่งประเมินผลการดำเนินการภายใต้ความตกลง TNZCEP ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2548-2553)
  • การหารือแนวทางในการดำเนินการร่วมกันในอนาคตภายใต้ความตกลง TNZCEP เพื่อให้ความตกลงมีคุณภาพสูงและทันสมัย
สถานะล่าสุด

นิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม TNZCEP JC ครั้งที่ ๔ เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ ณ กรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ โดยมีผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้

  • การหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลในประเด็นต่าง ๆ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงความตกลงให้ทันสมัย เช่น การดำเนินโครงการนำร่องการให้บริการการวินิจฉัยถิ่นกำเนิดสินค้าล่วงหน้า และการพิจารณาแนวโน้มการใช้สิทธิประโยชน์ความตกลงฯ ของภาคเอกชนไทยและนิวซีแลนด์ เป็นต้น
  • การแลกเปลี่ยนข้อมูลและรายละเอียดเบื้องต้นเพื่อจัดทำข้อบทการค้าบริการและการลงทุนภายใต้ความตกลง TNZCEP สำหรับเรื่องการค้าสินค้านั้น ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งปรากฏว่ายังมีการใช้สิทธิประโยชน์ไม่เต็มที่ในสินค้าบางรายการ
  • การแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าเพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างกัน เช่น การดำเนินโครงการนำร่องการให้บริการการวินิจฉัยถิ่นกำเนิดสินค้าล่วงหน้า โครงการผู้ประกอบการทางเศรษฐกิจที่ได้รับอนุญาต (AEO) และการดำเนินโครงการ National Single Windows (NSW) รวมทั้งจัดทำโครงการความร่วมมือเพื่อเพิ่มศักยภาพของระบบศุลกากรของทั้งสองประเทศต่อไป

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000 โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


แท็ก thailand   เอเปค  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ