การลาออกของนายกรัฐมนตรียูเครนจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 28, 2014 14:44 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นายมิโคลา อาซารอฟ นายกรัฐมนตรีของยูเครน ตัดสินใจแถลงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 ที่ผ่านมา เพื่อหวังให้เกิดความปรองดองทางการเมืองที่ยืดเยื้อมานาน 2 เดือน ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่า การลาออกครั้งนี้จะเป็นผลดีต่อสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศที่ถดถอยมาเป็นเวลานาน

นับตั้งแต่รัฐบาลยูเครนประกาศระงับการเจรจาการลงนามข้อตกลงทางการค้ากับสหภาพยุโรปหลังจากที่มีการเจรจาร่วมกันไปแล้วถึง 1 ปี และเลือกที่จะคงความสัมพันธ์ที่ดีกับสหพันธรัฐรัสเซียต่อไป ทำให้ประชาชนหลายแสนคนซึ่งไม่เห็นด้วยได้ออกมารวมตัวกันประท้วง และได้ลุกลามไปในหลายเมืองใหญ่ ซึ่งข้อเรียกร้อง คือ ให้มีการถอดถอนประธานาธิบดีวิกเตอร์ยานูโควิชออกจากตำแหน่ง

นายอาซารอฟ แถลงว่า ได้ตัดสินใจเป็นการส่วนตัว เพื่อหวังว่าวิธีการนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสในการประนีประนอมทางการเมือง และนำไปสู่การยุติวิกฤตความขัดแย้งอย่างสันติวิธี โดยกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ความขัดแย้งครั้งนี้ส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต้องหยุดชะงัก ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดในขณะนี้ คือ การการรักษาเอกภาพและบูรณภาพของยูเครน จึงต้องยอมตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งด้วยตนเอง และการตัดสินใจลาออกของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ ส่งผลให้คณะรัฐมนตรีทั้งชุดต้องหมดวาระไปโดยปริยาย แต่ต้องทำหน้าที่รักษาการจนกว่าจะได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่

ทั้งนี้ การลาออกของนายอาซารอฟจะส่งผลดีต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ เนื่องจาก เริ่มมีสัญญาณที่ดีจากชาติตะวันตก ที่เชื่อมั่นว่า ยูเครนได้สนับสนุนให้เกิดความปรองดองทางการเมือง และพยายามยุติความขัดแย้งอย่างสันติวิธี โดยล่าสุด นายอาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค ผู้นำฝ่ายค้าน ที่ได้เรียกร้องให้ชาติตะวันตกช่วยเหลือและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาวิกฤตทางการเมืองของยูเครนมาโดยตลอด ชี้แจงว่า ชาติตะวันตกพร้อมแล้วที่จะช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ยูเครน รวมไปถึงฝ่ายสหภาพยุโรปนำโดยนางแคทเธอรีน แอชตัน ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล ว่า ได้หารือร่วมกับชาติตะวันตกในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ยูเครน เพื่อเยียวยาสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และเพื่อเตรียมการในการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไป และกล่าวเพิ่มเติมว่า เงินดังกล่าวจะมอบให้รัฐบาลใหม่ของยูเครนที่พร้อมจะมุ่งปฏิรูปด้านเศรษฐกิจและการเมืองแก่ประเทศ นอกจากนี้ การลาออกของนายกรัฐมนตรียูเครนยังส่งผลดีต่อการลงทุนจากต่างประเทศ โดยนักลงทุนจะมีความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้นต่อนโยบายเศรษฐกิจของยูเครน เนื่องจาก สถานการณ์ความขัดแย้งกำลังลดความตึงเครียดลง และนำมาสู่การสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยูเครนยังต้องพึ่งพาความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากรัสเซียอยู่มาก ทั้งในรูปแบบเงินช่วยเหลือและการซื้อก๊าซธรรมชาติราคาถูก เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเงินช่วยเหลือจากรัสเซียครั้งล่าสุด อาจช่วยลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และช่วยให้ยูเครนไม่เข้าสู่วิกฤตทางการเงินได้ ดังนั้น การประกาศลาออกจากตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนและรัสเซีย โดยรัฐบาลรัสเซียอาจมองว่า รัฐบาลยูเครนเริ่มยินยอมทำตามคำเรียกร้องของผู้ประท้วง และอาจทำให้รัสเซียออกมาตรการทางการค้าต่อยูเครน ซึ่งล่าสุด รัสเซียได้เร่งกดดันยูเครนด้วยการข่มขู่ว่าจะระงับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจนกว่ายูเครนจะจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่

ด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยและยูเครน ปัจจุบัน ยูเครนเป็นคู่ค้าอันดับที่ 63 ของไทยในตลาดโลก และเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยในกลุ่มเครือรัฐเอกราช (CIS) รองจากรัสเซียและอาเซอร์ไบจาน การค้าของไทยกับยูเครนในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2551-2555) มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 560.8 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปี 2556 (มกราคม-พฤศจิกายน) การค้าระหว่างไทยกับยูเครนมีมูลค่า 415.20 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 117.38 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้ามูลค่า 297.82 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ตู้เย็น และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สำหรับสินค้านำเข้าสำคัญจากยูเครน ได้แก่ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ยุทธปัจจัย เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก เป็นต้น

ไทยและยูเครนได้เริ่มเจรจาจัดทำความตกลงทางการค้าระหว่างกันตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและยูเครนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) เพื่อเป็นกลไกในการปฏิบัติตามความตกลงฯ และเป็นเวทีการหารือในระดับทวิภาคี เพื่อขยายมูลค่าการค้าและการลงทุน และลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน โดยทั้งสองฝ่ายสามารถสรุปผลการเจรจาได้ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๐ ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2552 ที่ประชุมรัฐสภาได้พิจารณาและลงมติให้ความเห็นชอบการลงนามความตกลงทางการค้าดังกล่าว จากนั้นไทยและยูเครนได้ประสานนัดหมายเพื่อให้รัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายลงนามในความตกลงทางการค้ามาเป็นระยะ แต่เนื่องจากทั้งสองฝ่ายติดภารกิจอื่น จึงยังไม่สามารถลงนามในความตกลงดังกล่าวได้ และด้วยสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองของทั้งยูเครนและไทยซึ่งกำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องชะลอการลงนามออกไปจนกระทั่งสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ จึงจะสามารถประสานนัดหมายการลงนามได้อีกครั้ง

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ