ฟิลิปปินส์กับธุรกิจ BPO

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 2, 2014 15:00 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศหนึ่งในสมาชิกอาเซียนที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับค่อนข้างสูง โดยในปี 2556 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจของประเทศฟิลิปปินส์มีอัตราเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเติบโตสูงมากในเอเชีย เป็นรองแค่ประเทศจีนเท่านั้น แม้ในช่วงปลายปีจะต้องเผชิญภัยจากพายุไห่เยี่ยนและแผ่นดินไหว โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของปี 2556 ขยายตัวถึง 7.7% โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แม้ต้องเผชิญไต้ฝุ่นที่สร้างความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน แต่เศรษฐกิจประเทศช่วงนี้ยังเติบโตถึง 6.5% เมื่อพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ในปี 2556 พบว่าโตขึ้นถึง 7.1% เติบโตมากที่สุดนับตั้งแต่ประธานาธิบดี เบนิกโน อาคีโน เข้ารับตำแหน่ง เมื่อปี 2553 จากที่รัฐบาลตั้งเป้าการเติบโตของเศรษฐกิจไว้ที่ 6.0-7.0% โดยปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างน่าพอใจมาจากภาคอุตสาหกรรมการผลิต การค้า อสังหาริมทรัพย์ และภาคการเงิน ทั้งนี้ ข้อมูลจากทางการฟิลิปปินส์ระบุว่า ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวถึง 12.3% มากกว่าช่วงเดียวกันของปี 2555 ถึงสองเท่า ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการส่งออกเติบโต ขณะที่การส่งออกภาคบริการ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่หนุนนำเศรษฐกิจ ขยายตัวถึง 7% หลังจากอุตสาหกรรมรับจ้างบริหารธุรกิจ (Business Process Outsourcing : BPO) ยังคงเติบโตรวดเร็วต่อเนื่อง

ฟิลิปินส์ เป็นที่รู้จักในฐานะประเทศส่งออกแรงงานบริการขั้นสูง เช่น พยาบาล และแม่บ้าน ซึ่งนับว่าเป็นรายได้หลักที่ส่งเงินกลับประเทศเป็นจำนวนมหาศาล โดยในปี 2555 แรงงานฟิลิปปินส์ที่ทำงานในต่างประเทศมีถึงประมาณ 10 ล้านคน คิดเป็น 25% ของแรงงานรวมในประเทศ และส่งเงินกลับฟิลิปปินส์กว่าสองหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะเดียวกันฟิลิปปินส์ก็ใช้ประโยชน์จากการเป็นแรงงานที่มีศักยภาพและมีทักษะด้านภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี มีค่าจ้างแรงงานถูกกว่าประเทศในแถบตะวันตก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับค่าจ้างในสหรัฐฯ ค่าจ้างชาวฟิลิปปินส์น้อยกว่าถึง 5 เท่า ดังนั้น หลายประเทศในแถบตะวันตกจึงให้ความสนใจและนิยมจ้างงานในธุรกิจ BPO โดยเฉพาะธุรกิจประเภทให้บริการข้อมูลลูกค้าทางโทรศัพท์ หรือ call center ที่มีสัดส่วนสูงที่สุดคิดเป็น 61% ของมูลค่าธุรกิจ BPO

อุตสาหกรรม BPO ในฟิลิปปินส์ยังคงเติบโตรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าในอีก 2-3 ปี จะสามารถสร้างรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศได้ใกล้เคียงกับเงินที่แรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศส่งกลับประเทศ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจ BPO มีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% ทั้งนี้ สมาคมเทคโนโลยีสารสนเทศและจัดการธุรกิจของฟิลิปปินส์ (Information Technology and Business Process Assciation of the Philippines: IBPAP)ประมาณการณ์ว่า ในปีที่แล้ว อุตสาหกรรม BPO สร้างรายได้ถึง 15,500 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2555 ถึง 16% จำนวนลูกจ้างเต็มเวลาก็สูงขึ้น 16% คิดเป็น 900,000 คนในปี 2556 นอกจากนี้ IBPAP ยังประเมินว่าในปี 2557 รายได้จากอุตสาหกรรม BPO จะสูงถึง 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และภายในปี 2559 จะสูงถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ การเติบโตของธุรกิจ BPO ในฟิลิปปินส์ยังส่งผลกระทบด้านบวกต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารจานด่วน และตลาดกลางคืน เป็นต้น

ในรายงาน "2014 Tholons Top 100 Outsourcing Destinations: Rankings" ออกเมื่อเดือนธันวาคม 2556 ซึ่งเป็นการจัดอันดับเมืองที่มีความโดดเด่นด้านธุรกิจ outsourcing และมีความน่าสนในการทำธุรกิจนี้โดยบริษัทที่ปรึกษา Tholons ปรากฏว่า มีเมืองจากประเทศฟิลิปปินส์ถึง 7 เมือง ได้แก่ Manila, Cebu City, Davao City, Santa Rosa, Bacolod City, lloilo City, Baguio City โดยเมือง Manila ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับ 2 ของโลกแซงหน้ามุมไบของอินเดียที่ตกไปอยู่อันดับ 3 และ Cebu City อยู่อันดับ 8 ของโลก ในขณะที่อันดับ 1 ยังคงเป็นบังกาลอร์ของอินเดีย

ในอดีต ธุรกิจ BPO ในฟิลิปปินส์ไม่ได้รับความสนใจมากนัก จนมาถึงปี 2547 ที่อุตสาหกรรมนี้สร้างรายได้ถึง 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้เริ่มเป็นที่จับตามอง และรัฐบาลฟิลิปปินส์เริ่มให้การส่งเสริมอย่างจริงจัง โดยตัวอย่างมาตรการที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ออกมาสนับสนุนอุตสาหกรรม BPO เช่น การให้สิทธิประโยชน์ ทางภาษีแก่ บริษัทที่อยู่ในธุรกิจนี้ที่ถึงแม้จะมีสำนักงานตั้งอยู่ใจกลางกรุงมะนิลา แต่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเหมือนกับธุรกิจที่ตั้งอยู่ใน export-processing zone ที่อยู่นอกเมือง เป็นต้น โดยจากจุดเด่นของแรงงานฟิลิปปินส์ที่มีศักยภาพ มีทักษะภาษาอังกฤษดี และค่าจ้างที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ อีกทั้ง รัฐบาลฟิลิปปินส์ยังให้การสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจนี้อย่างจริงจัง ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติหลายบริษัททั้งจากสหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลีย เช่น AT&T, JPMorgan Chase, Expedia, Citibank, HP และ Oracle หันมา outsource ศูนย์ call center ในฟิลิปปินส์เพื่อลดค่าใช้จ่าย และสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ทั้งนี้ มีการกล่าวกันว่า ปัจจุบันฟิลิปปินส์ได้แซงหน้าอินเดียขึ้นไปอยู่อันดับหนึ่งในการเป็น Call Center Hub ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกทั้งในแง่รายได้และจำนวนพนักงาน โดยฟิลิปปินส์มีบริษัท call center มากกว่า 600 บริษัท

บทวิเคราะห์ ฟิลิปปินส์ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการพัฒนาภาคบริการของตนเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรม BPO ทำให้กลายเป็น hub ของโลกในด้านนี้ สร้างรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศจำนวนมหาศาล โดยปัจจัยที่ส่งผลดังกล่าว มาจากการที่ฟิลิปปินส์มีแรงงานที่มีคุณภาพ ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้ดี ตรงกับความต้องการของตลาด และมีค่าแรงที่ไม่สูงนัก นอกจากนี้ การที่รัฐบาลฟิลิปปินส์สามารถนำจุดเด่นและความได้เปรียบของแรงงานของตนมาเป็นจุดขาย การสนับสนุนส่งเสริมที่ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน การร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคการศึกษาอย่างใกล้ชิด ในการพัฒนาบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาดก็เป็นแรงหนุนสำคัญต่อความสำเร็จ ไทยเองควรนำกรณีศึกษาจากฟิลิปปินส์มาวิเคราะห์และศึกษาหาจุดเด่นของตน รวมถึงนำมาพัฒนาและต่อยอดในสาขาที่มีความชำนาญและเชี่ยวชาญ นอกจากนี้ ควรเร่งพัฒนาศักยภาพแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านทักษะทางภาษาและเทคโนโลยี เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่โลกในยุคไร้พรมแดน และรวมถึงรองรับการก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อไป

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ