การปฏิรูปภาคการเงินและธนาคารของเมียนมาร์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 16, 2014 15:10 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ภาคการเงินและธนาคารของเมียนมาร์มีความอ่อนแอและข้อบกพร่องมาเป็นเวลานาน เนื่องจากความผิดพลาดในการบริหารจัดการและการขาดการมีส่วนร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ ทำให้ระบบการธนาคารของ เมียนมาร์ล้าสมัย ไม่สร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบธุรกิจ และไม่สามารถตอบสนองความต้องการตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก โดยมีการประเมินว่า จำนวนประชากรเมียนมาร์ที่มีเงินฝากกับธนาคาร มีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ และประมาณ 1 ใน 1,000 คน ที่สามารถเข้าถึงตลาดเงินกู้ภายในประเทศ ดังนั้น การมีแหล่งเงินกู้ถือจึงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลเมียนมาร์ต้องจัดการ โดยการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการเงินและธนาคารภายในประเทศ เพื่อให้สามารถให้บริการแก่นักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ

จากรายงานประจำปี 2013 ของธนาคารโลกในการประเมินความง่ายการทำธุรกิจของประเทศต่างๆ เมียนมาร์ถูกจัดให้เป็นประเทศอันดับที่ 182 จาก 189 ประเทศ ตัวอย่างตัวชี้วัดสำคัญ เช่น จำนวนวันในการเริ่มต้นธุรกิจในเมียนมาร์ คือ 72 วัน จัดเป็นประเทศลำดับสุดท้าย เปรียบเทียบกับ 2.5 วันในสิงคโปร์ จำนวนวันในการแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องต่างๆ คือ 1,160 วัน จัดเป็นประเทศอันดับที่ 188 จาก 189 ประเทศ มูลค่าเงินทุนก้อนแรกที่ใช้ในการก่อตั้งธุรกิจ คือ 58,000 เหรียญสหรัฐฯ เปรียบเทียบกับ 1 ยูโร ในประเทศเยอรมนี สัดส่วนต้นทุนของเงินทุนขั้นต่ำ (minimum capital cost) เฉลี่ยร้อยละ 7,000 ของรายได้ และสัดส่วนค่าใช้จ่าย เฉลี่ยร้อยละ 177 ของรายได้ เนื่องจากปัจจัยสำคัญ คือ ความอ่อนแอของภาคการเงินและธนาคารในประเทศ

ที่ผ่านมา ภาคการเงินและธนาคารถือเป็นสาขาที่ถูกจำกัดของเมียนมาร์มาโดยตลอด ธนาคารต่างชาติสามารถเข้าไปทำธุรกิจได้เพียงการตั้งสำนักงานตัวแทน เพื่อให้บริการด้านคำปรึกษาแก่ลูกค้าเท่านั้น อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่รัฐบาลเมียนมาร์ได้ประกาศใช้กฎหมายธนาคารกลางฉบับใหม่ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 เพื่อให้ความเป็นอิสระมากขึ้นแก่ธนาคารกลางของเมียนมาร์ (Central Bank of Myanmar : CBM) และแยกอำนาจในการบริหารจัดการออกจากกระทรวงการคลัง CBM ได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการเงิน รวมทั้งกำหนดเป้าหมายยอดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ นอกจากนี้ CBM ยังได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) และธนาคารโลกในการจัดทำแผนงานการปฏิรูปภาคการเงินและธนาคาร เพื่อยกระดับการบริหารจัดการและเสริมสร้างบทบาทการกำกับดูแลภาคการเงินและธนาคารของ CBM

การปฏิรูปภาคธนาคารที่เมียนมาร์กำลังดำเนินการอยู่ จะเปิดโอกาสให้ธนาคารต่างชาติมีบทบาทในการให้บริการในขอบเขตที่กว้างมากขึ้น แม้ว่ายังเป็นบริการที่จำกัด ทั้งยังเปิดโอกาสให้ธนาคารท้องถิ่นในประเทศได้รับประโยชน์จากการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ของธนาคารต่างชาติ เพื่อเป็นการยกระดับการให้บริการตามมาตรฐานระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี รัฐบาลเมียนมาร์ยังเกรงว่าการอนุญาตให้มีการแข่งขันของต่างชาติเร็วเกินไป อาจทำให้ระบบการเงินและธนาคารในประเทศล่มสลายได้ จึงยังจำกัดบทบาทของธนาคารต่างชาติไว้ เพื่อป้องกันการเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน รวมถึงความเสี่ยงของการไหลออกของเงินทุน

จากรายงานล่าสุดของ IMF เมื่อเดือนมีนาคม 2557 เกี่ยวกับความก้าวหน้าการให้ความช่วยเหลือแก่เมียนมาร์ในการปฏิรูปภาคการเงินและธนาคาร เมียนมาร์มีพัฒนาการเป็นไปตามแผนนงานอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอาจต้องใช้เวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากข้อจำกัดบางประการของ CBM ที่สำคัญ คือ การขาดเงินทุนเพื่อใช้เป็นเงินฝากสำรองของ CBM ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการสถานะการเงินภายในประเทศ โดยตามแผนงานการปฏิรูป ได้ตั้งเป้าให้ CBM มีอำนาจควบคุมอย่างสมบูรณ์ ภายในปีงบประมาณ 2558/59 นอกจากนี้ IMF ยังระบุด้วยว่า จนถึงปัจจุบัน CBM ยังไม่สามารถกำหนดวงเงินสำรองระหว่างประเทศที่ชัดเจน ซึ่งจะเป็นอีกเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของธนาคารและช่วยควบคุมปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบได้อย่างเหมาะสม โดยในปี 2557 เมียนมาร์มีปริมาณเงินเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 34 ส่วนใหญ่มาจากการเงินทุนจากต่างชาติ

ขณะเดียวกัน CBM กำลังเผชิญกับแรงกดดันในการจัดหาเงิน เพื่อสนับสนุนยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 4.9 ของ GDP ในปีงบประมาณ 2556/57 ถึงแม้คาดว่าจะลดลงเป็นร้อยละ 4.5 ในปีงบประมาณ 2557/58 โดยส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อการพัฒนาด้านการศึกษา สาธารณสุข และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งยังล้าหลังจากการขาดการพัฒนา แม้ว่า ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลเมียนมาร์มีรายได้จากการออกใบอนุญาตด้านโทรคมนาคมจำนวนมาก เพื่อสนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ แต่ IMF ยังยืนยันว่า รัฐบาลเมียนมาร์ควรให้ความสำคัญกับการขยายฐานรายได้จากภาษี รวมถึงการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพ

ความท้าทายที่ CBM ต้องจัดการให้ได้ในระยะสั้น ตามการรายงานของ IMF คือ การมีเงินสำรองระหว่างประเทศในระดับต่ำ ขณะที่ยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลยังคงเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลทำให้เงินจ๊าดของเมียนมาร์มีความผันผวนต่อแรงกดดันทางเศรษฐกิจ และมีผลกระทบทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ดังกล่าวคาดว่าจะเกิดขึ้นเพียงในระยะสั้น เนื่องจาก CBM จะต้องจัดการกับเงินทุนไหลเข้าจากการลงทุนของต่างชาติในอนาคตอันใกล้ ทั้งจากการบรรลุข้อตกลงด้านโทรคมนาคมและการส่งออกพลังงาน ขณะเดียวกัน รัฐบาลเมียนมาร์ยังต้องยกเลิกข้อจำกัดบัญชีทุน ภายในปี 2557 ตามที่ผูกพันไว้กับ IMF

ด้านการเปิดเสรีภาคการเงิน เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของ CBM เนื่องจากธนาคารต่างชาติเตรียมที่จะเข้าไปในตลาดเมียนมาร์ ขณะที่ธนาคารของรัฐเองก็จำเป็นต้องมีการปฏิรูป โดยรัฐบาลเมียนมาร์อยู่ระหว่างการหาข้อสรุปของกฎหมายสถาบันการเงินและการธนาคารฉบับใหม่ ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎระเบียบและการกำกับดูแลธนาคารทั้งหมด ทั้งนี้ IMF ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า เมียนมาร์ควรเริ่มต้นจากการออกใบอนุญาตให้แก่ธนาคารต่างชาติไม่เกิน 3-5 แห่ง เพื่อให้สามารถกำกับดูแลได้ ขณะที่รัฐบาลเมียนมาร์มีท่าทีที่ต้องการให้มีธนาคารต่างชาติจำนวนมากเข้าสู่ตลาด เพื่อกระตุ้นการแข่งขันในประเทศ

บทวิเคราะห์

ปี 2557/58 จึงคาดว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายของ CBM ในการจัดการกับความผันผวนของเงินทุนไหลเข้า การขยายตัวของอุปทานเงินอย่างรวดเร็ว แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อ และการดำเนินการเพื่อเปิดเสรีภาคการเงิน ขณะที่การปฏิรูปภาคการเงินตามแผนงานที่ IMF และธนาคารโลกให้ความช่วยเหลือยังคงจะต้องดำเนินต่อไป โดยคาดว่า CBM จะได้รับอำนาจในการบริหารจัดการ และมีอิสระในการหาเงินจากต่างประเทศ เพื่อใช้สนับสนุนยอดขาดดุลงบประมาณได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ CBM สามารถจัดการสถานะการเงินในประเทศได้ในระดับหนึ่ง

ที่มา: - The Economist Intelligence Unit, Myanmar economy: Banking reforms take shape, January 2014

-The Economist Intelligence Unit, Myanmar economy: The Wild West of the East, November 2013

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ