เป้าหมายการส่งออกข้าวเมียนมาร์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 21, 2014 15:31 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

รายงานล่าสุดของธนาคารโลก ระบุว่า เมียนมาร์เป็นประเทศที่มีศักยภาพในการขยายการส่งออกข้าวอีกมาก หากสามารถพัฒนาคุณภาพข้าวผ่านการลงทุนด้านโรงสี รวมทั้งการลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ โดยในส่วนของรัฐบาลเอง จำเป็นต้องกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการพัฒนาภาคเกษตร เพื่อสนับสนุนการผลิตและส่งออกในภาพรวม

แม้ว่าในอดีต ในช่วงทศวรรษที่ 1960 เมียนมาร์เคยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับต้นของโลก แต่ในปัจจุบัน เมียนมาร์กลับถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีผลผลิตข้าวต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ประมาณ 2.5 ตัน/เฮกเตอร์ เนื่องจากในสมัยการปกครองของรัฐบาลทหาร ภาคการเกษตรของเมียนมาร์ไม่ได้รับการพัฒนาให้ทัดเทียมประเทศคู่แข่งอื่นๆในภูมิภาค ทั้งในด้านการเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่และการพัฒนาโรงสีข้าว โดยมีพื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่ในภาค (region) อิระวดี พะโค และรัฐมอญ รวมถึงภาคสะกายซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการปลูกข้าวอีกแห่งหนึ่งในอนาคต

หลังจากเมียนมาร์เริ่มการปฏิรูปประเทศในปี 2554 การส่งออกข้าวมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้รัฐบาลเมียนมาร์ตั้งเป้าที่จะขยายการส่งออกข้าวให้ถึง 4 ล้านตัน ภายในปี 2563 อย่างไรก็ดี ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555-56) ยอดการส่งออกข้าวของเมียนมาร์เริ่มอยู่ในระดับคงที่ คือ ประมาณปีละ 1.2 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน (ปี 2554) ที่ส่งออกได้ 1.47 ล้านตัน นอกจากนี้ ในฐานะที่เมียนมาร์เป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Country: LDC) จึงได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ในการส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา เมียนมาร์ยังสามารถส่งออกข้าวไปยังตลาดประเทศพัฒนาแล้ว เช่น EU และญี่ปุ่น ได้เพียงเล็กน้อย เช่น ในปี 2556 ส่งออกไปญี่ปุ่นเพียง 5,000 ตัน เนื่องจากข้าวที่ผลิตส่วนใหญ่เป็นข้าวคุณภาพต่ำ ไม่ตรงกับความต้องการของประเทศผู้ซื้อที่ต้องการข้าวคุณภาพดี จึงมีตลาดส่งออกหลัก คือ แอฟริกาใต้และจีน โดยส่วนหนึ่งของการส่งออกข้าวไปจีน ผ่านช่องทางการค้าชายแดน เช่นที่ด่านมูเซ-ลุ่ยลี่ ขณะเดียวกัน สถานการณ์การส่งออกข้าวของเมียนมาร์ยังถูกซ้ำเติมจากการที่ความต้องการโลกสำหรับข้าวคุณภาพต่ำเริ่มหดตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น หากรัฐบาลเมียนมาร์ไม่ดำเนินการใดเพื่อยกระดับคุณภาพข้าว การบรรลุเป้าหมายการส่งออกข้าวในปี 2563 จึงอาจเป็นไปได้ยาก

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยพัฒนาการผลิตข้าวของเมียนมาร์ให้มีคุณภาพดีขึ้น คือ การส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติเพื่อให้มีการนำเข้าเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่ทันสมัยสำหรับโรงสีข้าว เนื่องจากปัจจุบันโรงสีข้าวมากกว่าร้อยละ 90 ในเมียนมาร์ยังล้าสมัย ทำให้มีสัดส่วนของการสูญเสียทั้งด้านปริมาณและคุณภาพจากการสีข้าวสูงถึงร้อยละ 15-20 รวมทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เกษตรกรในการจัดหาพันธุ์ข้าวคุณภาพดีมาปลูก ขณะเดียวกัน รัฐบาลเมียนมาร์ควรดำเนินการเพื่อผ่อนคลายกฎระเบียบในการเข้าถึงเงินทุนให้แก่เกษตรกร และผู้ประกอบการโรงสีข้าว เพื่อนำเงินทุนมาใช้ในการจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวและข้าวเปลือกได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรในการถือครองที่ดินผ่านการบังคับใช้กฎหมายที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ

ตามข้อเสนอแนะของธนาคารโลก การเพิ่มขีดความสามารถโรงสีข้าวถือเป็นหัวใจสำคัญในการเพิ่มผลผลิตและยกระดับคุณภาพข้าวเมียนมาร์ ขณะเดียวกัน รัฐบาลเมียนมาร์จำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในภาคเกษตร เช่น ถนน ไฟฟ้า และระบบชลประทาน ฯลฯ เพื่อลดต้นทุนด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการโรงสีในระยะยาว ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เช่น การปรับปรุงท่าเรือย่างกุ้ง ที่มีขนาดเล็กและล้าสมัย ทั้งยังมีข้อจำกัดในช่วงฤดูมรสุม ทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ในการส่งออกของเมียนมาร์สูงเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาค คือ ประมาณร้อยละ 25 ของต้นทุนการผลิตข้าวรวม

นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังได้ให้ข้อเสนอแนะการปรับปรุงการผลิตข้าวของเมียนมาร์ในระยะยาว โดยรัฐบาลเมียนมาร์ควรดำเนินการด้านต่างๆ เช่น การปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำ การให้เกษตรกรมีส่วนร่วมมากขึ้นในการกำหนดนโยบายของภาครัฐ การสร้างความมั่นคงในการถือครองที่ดินของเกษตรกร และการลงทุนในการพัฒนาถนนในชนบทเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่นาและโรงสีข้าวกับตลาด

บทวิเคราะห์

เมียนมาร์เป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตข้าว ด้วยความได้เปรียบด้านพื้นที่เพาะปลูก สภาพภูมิอากาศ ตลอดจนจำนวนแรงงาน ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนจำนวนแรงงานที่ทำงานในภาคเกษตรมากกว่าร้อยละ 70 ของแรงงานทั้งหมด อย่างไรก็ดี เมียนมาร์ยังมีข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมข้าวเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการส่งออกตามที่รัฐบาลได้ตั้งไว้ คือ การขาดความชัดเจนในการกำหนดนโยบายการพัฒนาภาคเกษตร และความบกพร่องด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งส่งผลให้มีการลงทุนจากต่างชาติไม่มากนักในภาคเกษตร อันเนื่องมาจากความไม่มั่นใจของนักลงทุน จึงทำให้อุตสาหกรรมการผลิตข้าวของเมียนมาร์ขาดโอกาสที่จะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากต่างชาติ โดยเฉพาะในด้านโรงสีข้าว ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตที่สำคัญเพื่อให้ได้ข้าวคุณภาพดี ทั้งยังช่วยลดการสูญเสียจากการผลิต ขณะเดียวกัน การสร้างความรู้ความเข้าใจและการสนับสนุนด้านเงินทุนแก่เกษตรกรในการจัดหาพันธุ์ข้าวคุณภาพดียังเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย เพื่อเป็นการสร้างความได้เปรียบด้านคุณภาพและต้นทุนในการผลิตข้าวให้สามารถแข่งขันได้กับประเทศผู้ส่งออกข้าวอื่นๆในโลก และสอดคล้องกับความต้องการข้าวโลกที่มีแนวโน้มการบริโภคข้าวคุณภาพดีเพิ่มขึ้น

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบอุตสาหกรรมข้าวของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ไทย และเวียดนาม พบว่า ทุกประเทศต่างมีเป้าหมายการส่งออกข้าว เพื่อที่จะเป็นผู้ส่งออกข้าวในอันดับต้นๆของโลก เช่น กัมพูชา ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าว 1 ล้านตัน ภายในปี 2558 และได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมการส่งออกข้าวภายใต้ชื่อ "White Gold" โดยเน้นตลาดข้าวหอมคุณภาพดี ในส่วนของไทยและเวียดนาม ก็มีการตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวเป็นรายปี เช่น ในปี 2557 เท่ากับ 9 ล้านตัน และ 7 ล้านตัน ตามลำดับ ขณะเดียวกัน ยังมีความร่วมมือข้าวระหว่าง 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา เวียดนาม เมียนมาร์ และสปป.ลาว ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตและส่งออกข้าวในภูมิภาค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือกันพัฒนาและขยายตลาดส่งออกข้าว และไม่ให้มีการตัดราคาแข่งกัน อันจะนำไปสู่ความเสียหายของอุตสาหกรรมข้าวในภาพรวม

สำหรับไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวอันดับต้นๆ ของโลก และเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมกับเมียนมาร์ สามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอาเซียนในการย้ายฐานการผลิตข้าวไปยังเมียนมาร์ ซึ่งมีความได้เปรียบด้านพื้นที่เพาะปลูกและจำนวนแรงงานในภาคเกษตร เพื่อร่วมมือกันพัฒนาตั้งแต่การเพาะปลูกและสีข้าวเพื่อส่งออกไปยังตลาดทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว เช่น EU ซึ่งได้ให้สิทธิ GSP ในการนำเข้าข้าวภาษีร้อยละ 0 จากเมียนมาร์ รวมถึงญี่ปุ่น และประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งยังมีความต้องการนำเข้าข้าวคุณภาพดีเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ความร่วมมือข้าว 5 ประเทศยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมข้าว โดยทุกประเทศสมาชิกจะได้รับประโยชน์แบบ win-win ร่วมกัน เช่น เมียนมาร์ กัมพูชา และสปป.ลาว ซึ่งยังมีความเสียเปรียบด้านโรงสีที่ทันสมัย จะมีโอกาสได้รับประโยชน์จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีการสีข้าวจากประเทศที่มีการพัฒนามากกว่า เช่น ไทย และเวียดนาม ตลอดจนประโยชน์ในการขยายตลาดข้าวจากเครือข่ายผู้ซื้อที่มีอยู่แล้วในประเทศต่างๆ ขณะที่ไทย และเวียดนาม ซึ่งเริ่มมีความเสียเปรียบด้านค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ก็จะได้ใช้ประโยชน์จากการขยายฐานการผลิตและส่งออกข้าว ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง เช่น ค่าแรง รวมถึงสิทธิประโยชน์ภาษี 0% ของเมียนมาร์ กัมพูชา และสปป.ลาว ในฐานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) ในการส่งออกไปประเทศพัฒนาแล้ว เช่น EU เป็นต้น

ที่มา : The Irrawaddy Magazine, "Investment in rice milling key to boosting export.", June 13, 2014

The Irrawaddy Magazine, "Is Burma ready for a rice renaissance?", June 16, 2014

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ