WTO ยกระดับเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ เจรจาสำเร็จ เพิ่มภาคีสมาชิกใหม่ได้อีกสอง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 14, 2014 16:34 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ข่าวดีอีกครั้งสำหรับ WTO เมื่อมอนเตเนโกรและนิวซีแลนด์กำลังจะเป็นภาคีสมาชิกความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐรายใหม่ (Agreement on Government Procurement : GPA) หลังจากที่สามารถหาข้อตกลงกันได้เรื่องข้อเสนอการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างของทั้งสองประเทศ ในการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐของ WTO เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2557 สดๆร้อนๆ ที่ผ่านมา

นายธวัชชัย โสภาเสถียรพงศ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐภายใต้ WTO มีมติเห็นชอบให้มอนเตเนโกร และนิวซีแลนด์ ได้รับไฟเขียวให้ผ่านขั้นตอนสุดท้ายในการเข้าเป็นภาคีสมาชิกความตกลง GPA เมื่อทุกภาคีสมาชิกยอมรับข้อเสนอการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างของทั้งสองประเทศ ซึ่งนิวซีแลนด์ต้องใช้เวลาในการเจรจาถึงสองปี ส่วนมอนเตเนโกรนับว่าค่อนข้างเร็วที่ใช้เวลาเจรจาเพียงหนึ่งปีและได้ข้อยุติ มอนเตเนโกรและนิวซีแลนด์จะเป็นภาคีสมาชิกใหม่สองรายแรกนับตั้งแต่ความตกลง GPA ฉบับปรับปรุง มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน ที่ผ่านมา

ตามกระบวนการแล้ว ทั้งมอนเตเนโกรและนิวซีแลนด์จะเป็นภาคีสมาชิกเต็มตัวได้ ก็ต่อเมื่อทั้งสองประเทศจะต้องทำการมอบภาคยานุวัติสาร (instruments of accession) ให้กับผู้อำนวยการใหญ่ WTO โดยควบรวมสาระข้อตกลงที่ได้จากการเจรจาเข้าไว้ด้วย และนับไปอีก 30 วันหลังจากนั้น ก็จะเป็นภาคีสมาชิกได้อย่างเป็นทางการดังนั้น หากประเทศใดส่งมอบภาคยานุวัติสารก่อน ก็จะนับวันที่เข้าเป็นภาคีสมาชิกได้ก่อน ทั้งนี้ ภาคีสมาชิกปัจจุบันของความตกลง GPA มีจำนวน 15 ราย เมื่อทั้งมอนเตเนโกรและนิวซีแลนด์เสร็จสิ้นกระบวนการข้างต้นอย่างสมบูรณ์ความตกลง GPA ก็จะมีภาคีทั้งสิ้น 17 ราย เป็นประเทศพัฒนาแล้ว 11 ราย และประเทศกำลังพัฒนา 6 ราย

ต่อข้อคำถามที่ว่า เหตุใดปัจจุบันความตกลง GPA จึงมีภาคีสมาชิกเพียง 15 ราย ซึ่งเป็นสมาชิก WTO รวม 43 ประเทศ ได้แก่ อาร์เมเนีย แคนาดา สหภาพยุโรป (รวมสมาชิก 28 ประเทศ) ฮ่องกง ไอซ์แลนด์ อิสราเอล ญี่ปุ่น เกาหลี ลิกเตนสไตน์ อารูบา นอร์เวย์ สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ จีนไทเป และสหรัฐอเมริกา ในขณะที่สมาชิก WTO มีถึง 160 ประเทศแล้ว อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ชี้แจงว่า ความตกลงต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ WTO ถือเป็นความตกลงการค้าแบบพหุภาคี หรือ Multilateral Agreement นั่นคือ ประเทศที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก WTO เมื่อเข้าเป็นสมาชิกแล้ว จะต้องเป็นสมาชิกความตกลงต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ WTO โดยอัตโนมัติอย่างที่เข้าใจกัน อย่างไรก็ตาม มีบางความตกลงได้รับข้อยกเว้นซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเจรจารอบโตเกียว ที่สมาชิก WTO ส่วนใหญ่ไม่พร้อมที่จะเข้าร่วม จึงทำให้เกิดความตกลงในลักษณะหลายฝ่ายขึ้น (Plurilateral Agreement) ซึ่งจะบังคับใช้เฉพาะกับประเทศสมาชิก WTO ที่เป็นภาคีความตกลงนั้นๆ เท่านั้น จึงทำให้จำนวนภาคีสมาชิกของความตกลง GPA มีน้อยกว่าสมาชิก WTO โดยในปัจจุบัน WTO เหลือความตกลงลักษณะนี้อีกเพียง 2 ความตกลง คือ ความตกลง GPA และความตกลงว่าด้วยการค้าในเครื่องบินพลเรือน (Agreement on Trade in Civil Aircraft) ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 1996

นายโรแบร์โต อาเซเวโด ผู้อำนวยการใหญ่ WTO แสดงความยินดีและต้อนรับมอนเตเนโกรและนิวซีแลนด์ในฐานะน้องใหม่ของความตกลง GPA และแสดงวิสัยทัศน์ตอนหนึ่งว่า ภาคธุรกิจของมอนเตเนโกรและนิวซีแลนด์จะได้รับประโยชน์จากโอกาสในการเข้าสู่ตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐของภาคีสมาชิกถึง 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐนอกจากนั้น ภาครัฐเองก็จะได้ประโยชน์จากการแข่งขันที่เปิดกว้างขึ้น มีตัวเลือกทั้งสินค้าและบริการที่มากขึ้น และงบประมาณใช้จ่ายลดลงจากราคาแข่งขันที่ต่ำลง

สมาชิก WTO อื่นๆ อีกกว่า 26 ราย มีสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ในคณะกรรมการว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ โดยในจำนวนนี้ มี 8 รายที่อยู่ระหว่างการจ่อคิวเข้าเป็นภาคีความตกลง GPA และได้เริ่มกระบวนการเจรจาเข้าเป็นภาคีความตกลงแล้ว คือ อัลเบเนีย จีน จอร์เจีย จอร์แดน สาธารณรัฐคีร์กีซ มอลโดวา โอมาน และยูเครน ในขณะที่ 5 ราย ได้แก่ มาเซโดเนีย มองโกเลีย รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย และทาจิกีซสถาน มีข้อผูกพันที่จะต้องเข้าเป็นภาคีความตกลง GPA อันเป็นผลมาจากการเจรจาเข้าเป็นสมาชิก WTO ของประเทศดังกล่าว ส่วนที่เหลืออีก 13 ราย ที่มีสถานะเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ โดยยังไม่มีทีท่าว่าจะตัดสินใจเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง คือ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บาห์เรน คาเมรูน ชีลี โคลอมเบีย อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปานามา ศรีลังกา ตุรกี และเวียดนาม โดยบางประเทศเป็นผู้สังเกตการณ์ มาตั้งแต่ปี 2539 ซึ่งประเทศไทยเองก็กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาความเป็นไปได้ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกผู้สังเกตการณ์ในเร็วๆ นี้

นายธวัชชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า จากกระแสการต่อต้านการคอรัปชั่นในวงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐต่างๆที่รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ความตกลง GPA ภายใต้ WTO จึงเป็นตัวช่วยสำคัญในการลดปัญหาคอรัปชั่นโดยเฉพาะประโยชน์ด้านความโปร่งใส นับตั้งแต่การออกประกาศโครงการ การกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลหลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมประกวดราคา ตลอดจนผลการตัดสินให้ผู้เข้าร่วมชนะการประกวดราคา นอกจากนี้ การเจรจา FTA ในปัจจุบัน ประเทศที่ให้ความสำคัญกับการเจรจาเรื่องนี้ ส่วนใหญ่เป็นภาคีสมาชิก GPA ซึ่งมักจะใช้ความตกลง GPA เป็นฐานในการเจรจา และผลักดันให้ประเทศคู่เจรจายอมรับหลักการภายใต้ GPA มาปฏิบัติใช้ในความตกลง FTA ระหว่างกันด้วย หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมตัวรับมือกับกฎระเบียบใหม่ๆ บางเรื่องต่อไป

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ