สหรัฐอเมริกา &จีน : การเข้าร่วมความตกลง TPP

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 8, 2015 14:11 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

จากการลงนามยืนยันการออกกฎหมายว่าด้วยเรื่องการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (TPP) ของประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกา ที่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวครอบคลุมถึงกฎระเบียบการค้าและการลงทุนระหว่าง 12 ประเทศในกลุ่มประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ที่จะทำให้กรอบการเจรจานี้มีขนาดเศรษฐกิจโดยรวมครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 40 ของเศรษฐกิจโลก และมีส่วนทำให้ผลผลิตทางเศรษฐกิจทั่วโลกมีการเติบโตขึ้นเกือบ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ต่อปี

ความตกลง TPP เป็นความร่วมมือสำคัญในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลยุคโอบามาต่อทวีปเอเชียมาโดยตลอด ในขณะเดียวกันฝ่ายค้านได้แสดงความกังวลว่า สหรัฐอเมริกาอาจถูกลืมเลือนจากทวีปเอชียแปซิฟิก หากไม่เร่งรีบออกกฎหมายฉบับดังกล่าว แต่ในท้ายที่สุด สหรัฐอเมริกาได้สร้างจุดเปลี่ยนที่มีนัยสำคัญ คือการเชิญจีนเข้าร่วมการประชุมประจำปีด้านยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา-จีน (US-China Strategic and Economic Dialogue) ณ กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา

ในเมื่อสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับความตกลง TPP แล้วเหตุใดจึงไม่ให้จีนเข้าร่วมความตกลงดังกล่าว การคัดค้านที่จะให้จีนเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความตกลง TPP นั้น อาจเป็นข้อกังวลจากประเทศภาคีที่กำลังเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยอาจมองว่า การเข้าร่วมของจีนจะส่งผลด้านลบต่อข้อได้เปรียบด้านต้นทุน และเกรงว่าจะเป็นการเพิ่มโอกาสการว่างงานของประเทศตน

ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ถือได้ว่าเป็นฝ่ายที่พยายามสกัดกั้นอย่างรุนแรงในการให้จีนเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความตกลง TPP โดยทางการของสหรัฐเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ให้ประเทศภาคีปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดร่วมกัน อาทิ มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา และมาตรการอื่นๆ ที่จีนไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวได้ จึงดูเหมือนว่า สหรัฐฯ พยายามที่จะประคับประครองให้ระบบการค้าการลงทุนมีมาตรฐานที่สูงยิ่งขึ้น ภายหลังจากที่รับรู้ว่า จีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2544 แล้ว

จากงานวิจัยบางฉบับพบว่า สหรัฐอเมริกาต้องสูญเสียตำแหน่งงานในโรงงาน จำนวน 5 ล้านตำแหน่ง ตั้งแต่ปี 2543 เนื่องจากการนำเข้าสินค้าต้นทุนต่ำจากจีน ดังนั้น ความตกลง TPP จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้จีนถูกมองเป็นตัวร้าย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเกิดการกระแสการต่อต้านจีนในการเข้าร่วมความตกลง TPP จีนยังมีความสนใจในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงดังกล่าว ล่าสุด ทางการจีนได้พยายามชักจูงสหรัฐฯว่า จีนอยู่ภายในภูมิภาคที่จะสามารถเข้าร่วมความตกลงของ TPP ได้ อย่างไรก็ตาม มีผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนว่า การเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง TPP ของจีนนั้น ยังไม่เกิดเป็นรูปธรรม และจีนเองก็หาทางเลือกในการเจรจาภายใต้ความตกลงฉบับอื่นๆ อาทิ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP รวมทั้งการเป็นผู้นำในการจัดตั้งธนาคารสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (AIIB) เพื่อเป็นการสร้างอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่อไป ดังนั้น หากสหรัฐฯ และจีน ยังคงผลักดันให้ตนเองเป็นประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคนี้ ย่อมอาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง และความไม่ลงรอยกันอย่างต่อเนื่องต่อไป

เหตุผลสนับสนุนที่ทำให้สหรัฐฯ ควรรวมจีนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลง TPP อาทิ
  • สถาบันปีเตอร์สัน (Peterson institute) ของสหรัฐ ได้คาดการณ์ว่า หากจีนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความตกลง TPP จะทำให้ยอดการส่งออกของสหรัฐฯ เติบโตขึ้นถึงร้อยละ 13 และส่งผลให้การผลิตเพิ่มขึ้น 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
  • ประเทศภาคีของความตกลง TPP จะสามารถขยายตลาดเข้าสู่ภูมิภาคต่างๆ ของจีน และก่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านสินค้าและบริการ (value chain) ซึ่งจีนเองก็จะได้รับประโยชน์จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เช่นกัน
  • แรงจูงใจจากการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลง TPP จะส่งผลให้จีนเร่งมือในการปฏิรูประบบภายใน เพื่อรองรับผลประโยชน์มหาศาลที่จะเพิ่มขึ้น โดย สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มีนโยบายการปฏิรูปตลาดอย่างจริงจัง (deepening market reform) ที่จะใช้เป็นนโยบายหลักเพื่อก่อให้เกิดการยกระดับมาตรฐานและความสอดคล้องกับการดำเนินการตามความตกลง TPP ต่อไป

ดังนั้น ผลดีจากการที่จีนเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความตกลง TPP คือการส่งผลให้เกิดแรงกระตุ้นทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อปฏิรูประบบเศรษฐกิจภายในประเทศ มาตรฐานสิ่งแวดล้อม และมาตรฐานแรงงาน

จากการเจรจาความตกลงพหุภาคีในอดีตที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นว่า ความตกลง TPP จะกลายเป็นกรอบความร่วมมือ ที่จะสามารถสร้างความสงบสุขในภูมิภาคแปซิฟิกนี้ต่อไป ซึ่งหากมองย้อนกลับไปในอดีต ในระหว่างปี 2492 ถึง 2519 จีนได้สร้างประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำสำหรับการออกสำรวจทางทะเล ซึ่งได้เดินทางไปไกลถึงรัฐอธิปไตยต่างๆ อาทิ ชวา อินเดีย จรดขอบดินแดนของแอฟริกา และช่องแคบฮอร์มุซ โดยจีนได้อาศัยหลักการโน้มน้าวให้ประเทศต่างๆ ปฏิบัติตามโดยไม่ใช่เป็นการบังคับ "soft power" สำหรับการเจรจาทางธุรกิจ เพื่อเป็นการอำนวยประโยชน์ต่อผู้ประกอบธุรกิจและก่อให้เกิดไมตรีจิตรทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างมากในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ในทำนองเดียวกันสหรัฐอเมริกาได้พยายามหาพันธมิตรเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือทางด้านเศรษฐกิจของเอเชีย (Asian Economic Miracle) ในช่วงปี 2523 และ 2533 โดยอาศัยการพัฒนาเงินทุนที่ถูกนำมาใช้เป็นเงื่อนไขสำหรับการฟื้นตัวของญี่ปุ่นได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งการกำเนิดสี่เสือแห่งเอเชีย คือ ไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และฮ่องกง นอกจากนี้ มิตรไมตรีที่ไหลเข้าสู่สหรัฐฯ ก็ยังคงมีมาไม่ขาดสาย จากผลสำรวจของสำนักวิจัย Pew Research Center ปี2557 แสดงให้เห็นว่า สหรัฐมีความยินดีที่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเป็นพิเศษจากประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย ประกอบด้วย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ แม้กระทั่งเวียดนาม

ดังนั้น จากข้อเท็จจริงในอดีตมาสู่ปัจจุบัน อาจสรุปได้ว่า การให้จีนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งและมีบทบาทสำคัญในความตกลง TPP นั้น อาจส่งผลให้สหรัฐและจีนได้รับประโยชน์ร่วมกันในระยะยาวที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคแปซิฟิกแห่งนี้อย่างสงบสุขต่อไปก็เป็นได้ บทวิเคราะห์ ท่าทีของไทยต่อ TPP

การที่ไทยจะตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกภาคีใดภาคีหนึ่ง ท่ามกลางความสัมพันธ์อันบอบบางกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน จีน และสหรัฐฯ นั้น นอกจากจะต้องพยายามรักษาพื้นที่สมดุล (balancing space) ระหว่างกันแล้ว จำเป็นต้องวางท่าทีที่เหมาะสม และต้องพยายามรักษาผลประโยชน์ของชาติภายใต้กลไกความร่วมมือต่างๆ ให้ได้มากที่สุด โดยไทยอาจต้องแสดงบทบาทเป็นผู้สานความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับจีน และอาเซียนกับสหรัฐฯ โดยอาศัยกลไกจากความตกลง RCEP และTPP เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการดำเนินงานดังกล่าว เพื่อรักษาผลประโยชน์ในทุกกรอบความร่วมมือ โดยอาศัยความแตกต่างระหว่างหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในแต่ละกรอบความตกลง เพื่อนำมาเปรียบเทียบหาจุดดีจุดด้อยที่จะทำให้ไทยได้และเสียประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยยังไม่ได้แสดงท่าทีหรือเจตจำนงค์ที่ชัดเจนในการเข้าร่วมความตกลง TPP อันเนื่องมาจากมีหลายประเด็นที่อ่อนไหวต่อไทย อาทิ ทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน สิ่งแวดล้อม การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ นโยบายการแข่งขัน การระงับข้อพิพาท ซึ่งภาคเอกชนอาจมีความกังวล เพราะจะทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงมากขึ้น และจะทำให้มาตรฐานและกฎเกณฑ์ในเรื่องต่างๆ จะต้องขยับสูงขึ้นตามไปด้วย จนทำให้ภาคเอกชนไทยปรับตัวได้ยากและไม่สามารถแข่งขันได้ในที่สุด อย่างไรก็ตาม การเจรจาการค้าระหว่างประเทศในอนาคตย่อมจะต้องผลักดันให้มีการกำหนดมาตรฐาน กฎระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ จึงทำให้ไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงในการปรับตัวและต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการรองรับการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบและมาตรฐานในระดับสูงขึ้นในอนาคตด้วยเช่นกัน

ล่าสุด จากการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 สรุปความได้ว่า การที่ไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วมความตกลง TPP เนื่องจากยังมีข้อกังวลว่าจะถูกกดดันจากหลายด้าน แม้ว่ารัฐบาลที่ผ่านมาอาจจะแสดงท่าทีต้องการจะเข้าร่วม แต่เมื่อทบทวนแล้ว พบว่ามีปัญหา โดยเฉพาะเรื่องสิทธิบัตรยา ที่จะทำให้คนไทยเสียโอกาส ดังนั้น จึงต้องชะลอการเข้าร่วมความตกลง TPP ออกไปก่อน เพื่อคำนึงถึงประโยชน์ของคนไทยเป็นสำคัญ

ที่มา :

  • หนังสือพิมพ์ TODAY (Singapore) ฉบับวันที่ 2 กรกฎาคม 2558
  • http://www.aseanthai.net
  • http://www.sscthailand.org
  • http://www.posttoday.com

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ