การประชุมคณะกรรมการบริหารของ ERIA ปี 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 28, 2016 15:01 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนไทยในคณะกรรมการบริหารของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia: ERIA) เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการฯ (ERIA Governing Board Meeting) ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา ณ สำนักเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการประชุมประจำปี เพื่อวางนโยบายและกำหนดแผนงานของ ERIA รวมทั้งรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของ ERIA ในด้านต่างๆ ด้วย

นายวินิจฉัย กล่าวว่า ERIA ได้ทำการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยเกี่ยวกับการบูรณาการทางเศรษฐกิจในอาเซียนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2559 ERIA อยู่ระหว่างทำการศึกษาหลายหัวข้อที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่อง “21st Century Regionalism, Mega FTAs, and Asian Regional Integration” โดยจะศึกษาเนื้อหาความตกลง TPP และผลของ TPP ที่มีต่อประเทศอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะยังจำกัดเนื้อหาใน 3 ข้อบท ได้แก่ การลงทุน รัฐวิสาหกิจและสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีกำหนดให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 นี้

นอกจากผลงานด้านวิชาการ ERIA ยังมีกิจกรรมเกี่ยวกับการเสริมสร้างศักยภาพอย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่งในช่วงปลายปีนี้จะมีกิจกรรมที่น่าสนใจ คือ การประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “Potential of Fresh Tropical Fruits Value Chain in the Mekong Region” สำหรับประเทศไทย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม

นายวินิจฉัย กล่าวเสริมว่า ผลการศึกษาที่น่าสนใจที่ผ่านมาอีกเรื่องหนึ่งของ ERIA คือเรื่อง “มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTMs) ในอาเซียน” ซึ่งมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษีมีหลายรูปแบบ ทำให้ผู้ประกอบการต้องเพิ่มต้นทุนทางการค้าและการเข้าถึงตลาดมีข้อจำกัดมากขึ้น จากการรวบรวมข้อมูล NTMs เชิงสถิติของการศึกษาดังกล่าวพบว่าประเทศไทยมี NTMs มากที่สุดจำนวน 1,630 มาตรการ ในจำนวนทั้งหมดของอาเซียน 5,975 มาตรการ โดยมาตรการ NTMs ที่ไทยใช้มากที่สุดคือมาตรการสุขอนามัยและโรคพืช (SPS) 48% รองลงมาคือมาตรการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) 35% ส่วนหน่วยงานไทยที่ใช้มาตรการ NTMs มากที่สุดคือ กระทรวงสาธารณสุข 42% (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 35%) รองลงมาเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 29% (กรมวิชาการเกษตร 25%) กระทรวงอุตสาหกรรม 14.5% (สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 11.5%) และกระทรวงพาณิชย์ 9.0% (กรมการค้าต่างประเทศ 6.9%) จะเห็นได้ว่ามาตรการที่ไม่ใช่ภาษีหลายอย่างไม่ได้เกิดจากนโยบายเชิงพาณิชย์หรือการค้าโดยตรง แต่เกิดจากนโยบายด้านอื่นๆ ที่กำหนดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ในขณะที่ผลต่อการกีดกันทางการค้าไม่แน่ชัดและอาจส่งผลกระทบต่อการค้าในทางอ้อม

อย่างไรก็ดี มาตรการหลายอย่างไม่ได้กำหนดขึ้นมาเพื่อนำมาเป็นเครื่องมือกีดกันการค้าเสมอไป กระทรวงที่เกี่ยวข้องเหล่านี้อาจกำหนดมาตรฐานต่างๆ เพื่อที่จะรับประกันว่าผู้บริโภคจะมีความปลอดภัย สภาพแวดล้อมในประเทศจะไม่ถูกทำลาย และผู้ผลิตในประเทศสามารถปรับตัว ซึ่งเป็นประโยชน์ในแง่ความเชื่อมั่นและมั่นใจต่อมาตรฐานสินค้า มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศ (สามารถดูผลการศึกษาเรื่อง Non-Tariff Measures in ASEAN ได้ที่ http://www.eria.org/publications/key_reports/FY2015/No.01.html)

ทั้งนี้ ERIA เป็นสถาบันวิจัยที่ก่อตั้งขึ้นมาตามมติผู้นำอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ (ออสเตรเลีย จีนอินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์) ในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการทำงานของสำนักเลขาธิการอาเซียนในการวิจัยหัวข้อที่เป็นผลประโยชน์ต่อการรวมกลุ่มของอาเซียนและเอเชียตะวันออก โดย ERIA มีสถานะเป็นองค์กรระหว่างประเทศตั้งแต่ปี 2551 ปัจจุบันมีสำนักงานตั้งอยู่ ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ERIA มีเครือข่ายสถาบันวิจัยของประเทศสมาชิก โดยสถาบันวิจัยของไทยที่เป็นเครือข่าย คือ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย(Thailand Development Research Institute - TDRI)

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

28 มิถุนายน 2559

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ