จีนเดินหน้าสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่แบบเปิด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 23, 2016 14:31 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ช่วงสองสามปีมานี้เศรษฐกิจจีนอยู่ในช่วงขาลง โดย GDP ของจีนมีการขยายตัวลดลงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 7จากที่เคยเติบโตสูงสุดถึงร้อยละ 10.6 ในปี 2010 ซึ่งจีนไม่สามารถจะขยายตัวจากการเน้นการผลิตอุตสาหกรรมหนักและการผลิตที่เน้นปริมาณได้อีกต่อไป เนื่องด้วยปัญหาค่าแรงที่สูงขึ้น อุปทานมากเกินอุปสงค์ในบางอุตสาหกรรม เช่น เหล็ก ถ่านหิน และอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น การเติบโตของยอดจำหน่ายสินค้าและวัตถุดิบที่ลดลง ผลกำไรที่ลดลงภาวะการล้มละลายของธุรกิจภาคเอกชน การลดกำลังการผลิต และการเลิกการจ้างงานในอัตราที่สูงขึ้น ดังนั้น จีนจึงต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 2559 จะให้ความกระจ่างมากขึ้นในทิศทางการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีน

ทั้งนี้ นโยบายทางเศรษฐกิจที่จีนได้ประกาศออกมาในช่วงนี้ อาทิ Made in China 2025 และ Internet Plus แสดงให้เห็นถึงการที่จีนต้องการนำเทคโนโลยีมาช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ภาคการผลิต เน้นการผลิตที่เน้นคุณภาพของสินค้าเพื่อตอบโจทย์รสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และส่งเสริมการค้าขายและการประกอบธุรกิจอื่นๆออนไลน์ ซึ่งจีนเห็นเป็นช่องทางที่ยังสามารถกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อีก

นอกจากนี้ การเปิดตลาดก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ วันที่ 17 กันยายน 2558 รัฐบาลจีนได้ออกประกาศเกี่ยวกับการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่แบบเปิด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการเปิดตลาด และสร้างบรรยากาศทางธุรกิจในจีนให้มีความมั่นคงและโปร่งใส เพื่อดึงดูดเงินทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เข้ามาสนับสนุนการเร่งปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายในจีน

ระบบเศรษฐกิจใหม่แบบเปิดมีนโยบายหลัก ประกอบด้วย

1. การกำหนดให้ตลาดเป็นตัวจัดสรรทรัพยากร ควบคู่กับการปรับปรุงบทบาทของรัฐบาล

2. เดินหน้าปฏิรูปและเปิดประเทศ ควบคู่กับการปรับปรุงกฎหมาย

3. สร้างความสมดุลระหว่างการออกไปลงทุนในต่างประเทศและการชักชวนต่างชาติเข้ามาลงทุน

4. สร้างความสมดุลในการนำเข้าและส่งออก

5. เดินหน้าหลอมรวมกับเศรษฐกิจโลก แต่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในประเทศ

6. เดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจและเร่งดำเนินการยุทธศาสตร์ One belt one road เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆอย่างใกล้ชิด

7. เน้นการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ โดยเลือกสาขาการพัฒนาและจุดเริ่มต้นในการพัฒนาที่เหมาะสม

8. ดันจุดเด่นของระบบสังคมนิยมและทำความเข้าใจกับการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ

9. ให้ความสำคัญกับนโยบายรักษาความปลอดภัย

10. เร่งสำรวจรูปแบบใหม่ๆ ในการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ประเด็นหลักที่น่าสนใจ คือ การสนับสนุนให้เปิดเสรีทางเศรษฐกิจให้แก่นักลงทุนต่างชาติ โดยจะมีการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการร่างกฎหมายฉบับใหม่ โดยจีนมีแผนจะเปิดตลาดในภาคอุตสาหกรรมการผลิต และมีนโยบายเปิดเสรีภาคบริการ ดังนี้

1. สาขาที่จะทยอยเปิดเสรี ได้แก่ การเงิน การศึกษา วัฒนธรรม และสุขภาพ

2. สาขาบริการที่จะเปิดตลาดให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนได้อย่างมีข้อจำกัด ได้แก่ บริการที่เกี่ยวข้องกับเด็กและคนชรา การออกแบบสถาปัตยกรรม การตรวจสอบบัญชี โลจิสติกส์ และการค้าขายออนไลน์

3. สาขาบริการที่มีความอ่อนไหวด้านความปลอดภัยของประเทศ อาทิ บริการด้านคมนาคม โทรคมนาคมโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ และอุตสาหกรรมเหมืองแร่ จะมีการลดข้อจำกัดสำหรับการเข้ามาลงทุน

สำหรับผู้ประกอบการจีน รัฐบาลจีนสนับสนุนให้มีการออกไปลงทุนยังต่างประเทศมากขึ้น โดยจะยืดหยุ่นข้อจำกัดต่างๆ ตลอดจนให้สิทธิพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมรถไฟความเร็วสูง พลังงานนิวเคลียร์ การบินและเครื่องจักรในการไปลงทุนทั่วโลก และสนับสนุนให้บริษัทจีนออกไปลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานและทรัพยากร ในต่างประเทศ นอกจากนี้ จีนยังจะปรับพิธีการศุลกากรให้ง่ายขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ส่งออกจีนด้วย

ทั้งนี้ จีนจะยังคงสนับสนุนการค้าพหุภาคี ยึดหลักความร่วมมือแบบต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ (win-win cooperation) ต่อต้านระบบการคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศโดยการจัดเก็บภาษีอากรขาเข้าให้สูงสำหรับสินค้าที่เป็นคู่แข่ง (protectionism)

อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า จีนจะเปิดตลาดเพิ่มขึ้น โดยใช้นโยบายเปิดตลาดนี้ เพื่อ 1) ส่งเสริมการเข้ามาลงทุนของต่างชาติเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการนำมาซึ่งเทคโนโลยีใหม่จากต่างชาติ 2) ลดต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นภายในประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้แก่นักธุรกิจจีน โดยการส่งเสริมให้นักธุรกิจจีนออกไปลงทุนยังต่างประเทศ 3) ความสะดวกในการกระจายสินค้า โดยเฉพาะ สินค้าที่จีนผลิตเกินความต้องการ เช่น เหล็ก โดยการส่งเสริมโครงการก่อสร้าง โครงการเชื่อมโยงต่างๆ อาทิ One belt one road

บทวิเคราะห์

ทิศทางการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่แบบเปิดของจีน ถือเป็นข่าวดีสำหรับนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะนักลงทุนในสาขาบริการที่จีนกำลังจะเปิดเพิ่ม ซึ่งในอนาคตอันใกล้นักลงทุนสามารถที่จะขยายการลงทุนไปยังประเทศซึ่งมีฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่อย่างจีนได้ ทั้งนี้ ก็เป็นโอกาสดีสำหรับจีนเช่นกัน ซึ่งจะได้รับความรู้และเทคโนโลยีอันทันสมัยจากชาติที่เข้ามาลงทุน ทั้งนี้ นักลงทุนไทยอาจพิจารณาเข้าไปลงทุนในสาขาที่จีนเปิดเพิ่มในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ อาทิ บริการด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล เป็นต้น

ที่มา:

1. เว็บไซต์รัฐบาลกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน. 2548. China issues guideline to promote opening up. (ออนไลน์). แหล่งที่มา: http://english.gov.cn/policies/latest_releases/2015/09/18/content_281475192608394.htm. 21 กันยายน 2558

2. เว็บไซต์รัฐบาลกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน. 2548. รัฐบาลประกาศ “ความเห็นบางประการเกี่ยวกับการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่แบบเปิด” . (ออนไลน์). แหล่งที่มา: http://www.gov.cn/xinwen/201509/17/content_ 2934172.htm. 21 กันยายน 2558

3. เว็บไซต์คลังกฎหมายมหาวิทยาลัยปักกิ่ง 2548. รัฐบาลประกาศ “ความเห็นบางประการเกี่ยวกับการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่แบบเปิด” . (ออนไลน์). แหล่งที่มา: http://www.pkulaw.cn/fulltext_form.aspx?Gid=77769&Db=news. 21 กันยายน 2558

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ