ไทย-สหราชอาณาจักร หารือความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกันหลัง Brexit

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 9, 2018 14:31 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นายเลียม ฟ็อกซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศสหราชอาณาจักร มีกำหนดเข้าพบหารือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์) ในวันที่ 5 เมษายน 2561 ในโอกาสเดินทางเยือนไทย พร้อมหารือเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองประเทศ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การพบกันครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะหารือเรื่องการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและสหราชอาณาจักรภายหลัง (Brexit) ตลอดจนการดำเนินการของสภาผู้นำนักธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (Thai-UK Business Leadership Council) เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้เกิดความร่วมมือการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ไทยและสหราชอาณาจักรมีความสัมพันธ์ที่ดีในทุกมิติ จึงหวังว่าทั้งสองประเทศจะรักษาความสัมพันธ์ที่ดี ทั้งทางด้านการค้าและการลงทุนให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

สหราชอาณาจักรเป็นตลาดที่มีศักยภาพ เป็นคู่ค้าและนักลงทุนรายสำคัญของไทย ซึ่งสามารถขยายความร่วมมือและทำกิจกรรมทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน รวมถึงการชักชวนสหราชอาณาจักรให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ของไทย ในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ในสาขาที่สหราชอาณาจักรมีความเชี่ยวชาญ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน และอากาศยาน ในขณะเดียวกัน ไทยก็มีการลงทุนในสหราชอาณาจักรมากเช่นกัน เช่น ธุรกิจโรงงานถลุงเหล็ก ธุรกิจอาหาร/เครื่องดื่ม และธุรกิจโรงแรม เป็นต้น

ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้าอันดับ 18 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยในสหภาพยุโรป โดยในปี 2560 มีมูลค่าการค้ารวม 7,019.90 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 19.67 การส่งออกมีมูลค่า 4,079.21 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์และอุปกรณ์ ไก่แปรรูป รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ อากาศยาน อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า และการนำเข้ามีมูลค่า 2,940.69 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า น้ำมันดิบ เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

4 เมษายน 2561

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ